สัญญาณแรกเมื่อเข้าสู่เก้าเดือนสำคัญของชีวิต คือ อาการคลื่นไส้ เวียนหัว เบื่ออาหาร กลืนไม่ลง อยากกินอาหารผิดสำแดง สิ่งที่ปกติชอบก็ไม่ชอบ สิ่งที่ปกติไม่ชอบกลับชอบ อารมณ์แปรปรวน ขึ้น ๆ ลง ๆ ซึ่งหากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นในตัวละครหญิงคนใดในทีวี ก็เดาได้เลยว่า เป็นอาการแพ้ท้องและกำลังจะมีลูกในอีกไม่กี่ตอนแน่นอน แต่สัญญาณเหล่านี้บ่งบอกได้แม่นยำแค่ไหน แล้วอาการความอยาก ไม่อยาก อารมณ์ที่เปลี่ยนไปเหล่านี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการมีลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำไมมันเกิดขึ้นเพียงบางช่วงของการท้อง ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดทั้ง 9 เดือน และไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนที่ตั้งครรภ์อีกด้วย
จุดเริ่มต้นของการตั้งครรภ์ แน่นอนว่ามันเริ่มจากการมีความสัมพันธ์ทางเพศ และเกิดการปฏิสนธิระหว่างเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้และเซลล์สืบพันธุ์เพศเมีย อย่างไรก็ดี ร่างกายของผู้หญิงซึ่งจะเป็นคนตั้งครรภ์นั้นไม่ได้มีสัญญาณอะไรบ่งบอกว่ากำลังตั้งท้องอยู่ในตอนแรกที่เกิดการปฏิสนธิ กาลเวลาดำเนินผ่านไปเข้าเกือบหนึ่งเดือน หรือสัปดาห์ที่ 4 นับจากวันปฏิสนธิจึงจะเริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่ผิดปกติออกมาจนสังเกตได้ ดังนั้น ก่อนสัปดาห์ที่ 4 ก็แทบไม่มีใครรู้ตัวเลยว่ากำลังตั้งครรภ์อยู่หากไม่ได้รับการตรวจจากแพทย์
ในสัปดาห์ที่ 4 นี้จะเริ่มสังเกตว่าประจำเดือนไม่มาตามปกติ คำว่า "ตามปกติ" หมายถึงคนที่มีประจำเดือนมาตรงตามตารางเป็นประจำ ส่วนคนที่ประจำเดือนมา ๆ หาย ๆ อาจจะยังไม่สังเกตเห็นถึงความผิดปกตินี้ กรณีที่ไข่ได้รับการผสมแล้วนี้ ประจำเดือนอันเกิดจากการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูกที่หนาขึ้นจะไม่เกิดขึ้นอีกจนกว่าจะถึงเวลาคลอด และร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อเตรียมร่างกายของแม่ให้พร้อมที่จะพัฒนาตัวอ่อนต่อไป ซึ่งการทำเช่นนั้นทำให้เยื่อบุมดลูกที่หนาขึ้นมารองรับการฝังตัวของตัวอ่อนนั้นไม่หลุดลอกเป็นประจำเดือนออกมา
ฮอร์โมนนี้นอกจากจะทำให้เยื่อบุมดลูกที่หนาขึ้นเพื่อรองรับการฝังตัวและเจริญเติบโตของตัวอ่อนแล้วยังทำให้ไตและกระเพาะปัสสาวะขยายตัวขึ้น แต่การที่มดลูกขยายขนาดขึ้นจึงไปกดกระเพาะปัสสาวะ และทำให้หญิงตั้งครรภ์ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ แน่นอนว่าฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปยังทำให้ความต้องการทางเพศลดลง เป็นกระบวนการป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนกับตัวอ่อนที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ด้วย และท้ายที่สุดอาจจะสังเกตได้ง่ายที่สุดคือ ในบางรายมีอาการแพ้ท้อง
พัฒนาการของทารกในครรภ์อายุ 1 เดือนเป็นช่วงที่ตัวอ่อนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ความเร็วที่เปลี่ยนแปลงจนสังเกตได้นี้เริ่มต้นตั้งแต่ไข่ได้รับการผสมและเกิดการแบ่งตัวอย่างรวดเร็วก่อนจะเข้าฝังตัวที่เยื่อบุมดลูก การปรับตัวของเยื่อบุมดลูกให้หนาขึ้น เส้นเลือดฝอยมากขึ้น และหลอดเลือดขยายตัวเพื่อรองรับการฝังตัวนี้ทำให้ตัวอ่อนได้รับสารอาหารมากขึ้นและปรับเปลี่ยนจากเซลล์ไข่กลม ๆ ให้มีรูปร่างที่คล้ายเด็กทารกทีละน้อย ตัวอ่อนที่มีขนาดเล็กเหมือนตุ่มพองบนเยื่อบุมดลูก ถูกห่อหุ้มด้วยถุงน้ำคร่ำซึ่งจะทำหน้าที่เป็นเสมือนถุงลมที่คอยปกป้องตัวอ่อนจากสิ่งแวดล้อม ป้องกันการกระทบกระเทือนจากภายนอก ควบคุมอุณหภูมิและทำให้ตัวอ่อนเคลื่อนไหวตัวได้อย่างอิสระ
เซลล์ไข่ซึ่งแบ่งตัวในสัปดาห์แรกจะแยกออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1) เอ็กโทเดิร์ม (Ectoderm) เป็นส่วนของเซลล์ชั้นนอกซึ่งจะกลายเป็นระบบประสาท ผิวหนัง ผม ขน ต่อมเหงื่อ ฟัน
2) มีโซเดิร์ม (Mesoderm) จะพัฒนาต่อเป็นระบบหมุนเวียนโลหิต กล้ามเนื้อ กระดูก ระบบขับถ่าย และหัวใจ
3) เอ็นโดเดิร์ม (Endoderm) จะพัฒนาเป็นระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ตับอ่อน และต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
ส่วนระบบประสาทและไขสันหลังของตัวอ่อนจะเริ่มพัฒนาจนเห็นได้ในสัปดาห์ที่ 2 แต่สำหรับคนเป็นแม่สิ่งที่อยากเห็นอันดับแรกคงจะเป็นการเต้นของหัวใจของลูกน้อย ซึ่งจะเห็นได้ในสัปดาห์ที่ 3 เป็นต้นไป จากการพบแพทย์และใช้เครื่องอัลตราซาวด์ตรวจดู รูปร่างในเดือนแรกของตัวอ่อนยังไม่เหมือนคนหรือเด็กทารกแม้แต่น้อย อาจจะคล้ายกุ้ง เนื่องจากรยางค์ต่าง ๆ ยังงอกและพัฒนามาไม่ครบ ไม่เข้าที่เข้าทางนั่นเอง