Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบหนทางในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

Posted By thaiscience | 22 มิ.ย. 61
3,993 Views

  Favorite

นักวิจัยในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปได้ศึกษาวิธีการใหม่ ๆ ในการตรวจหาเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่และโรคพิษสุนัขบ้าเพื่อที่จะป้องกันการแพร่กระจายของโรค 

 

โรคติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ (zoonosis) คือ การแพร่กระจายอย่างธรรมชาติ ของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคจากสัตว์สู่มนุษย์ซึ่งเป็นภัยคุกคามระดับโลกต่อมนุษย์มาอย่างยาวนาน นักวิทยาศาสตร์มีความมุ่งมั่นที่จะศึกษาและทำความเข้าใจว่าเชื้อโรคใหม่ ๆ ที่พบในมนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร เพื่อที่จะได้จัดทำกลยุทธ์เพื่อตั้งรับและป้องกันการแพร่กระจายของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างสถานการณ์ที่สร้างความกังวลให้แก่ทั่วโลก เช่น การแพร่ระบาดของเชื้ออีโบลา (Ebola) ใน ปี ค.ศ. 2014 ในแถบแอฟริกาตะวันตกและการแพร่ระบาดของไวรัสซิกา (Zika virus) ในแถบอเมริกาใต้

ภาพ : Pixabay

 

โครงการ PREDEMICS ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปเป็นโครงการที่ทำงานเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อม การทำนาย และการป้องกันการกำเนิดไวรัสชนิดใหม่ ๆ ซึ่งเป็นไวรัสที่มีโอกาสแพร่จากสัตว์สู่คนได้โดยจะใช้ความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขาเข้ามาช่วย โครงการนี้เริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2011 และมีระยะเวลาดำเนินการทั้งหมด 5 ปี ซึ่งใน 5 ปีที่ผ่านมา ทางโครงการได้วิจัยและเสาะหาวิธีการในการตรวจสอบหาเชื้อโรคที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อชนิดต่าง ๆ ได้ในเวลาเดียวกันและรวดเร็ว เช่น เชื้อที่ก่อให้เกิดโรคพิษสุนัขบ้า เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์และเชื้ออีโบลา เป็นต้น ซึ่งแผนงานนี้ได้สำเร็จลุล่วงด้วยดี โดยอาศัยงานวิจัยจำนวนมากที่ศึกษากลไกหลักของไวรัสในการคุกคามระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์

 

ความสำเร็จของงานวิจัยภายใต้โครงการ PREDEMICS ได้นำไปสู่การออกแบบมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิดโรค กลวิธีในการควบคุมและรักษาโรค รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมและการตั้งรับต่อการแพร่กระจายของโรคได้ ตัวอย่างเช่น ผลงานวิจัยของโครงการ PREDEMICS ทำให้เราได้ทราบว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์จะมีลักษณะแพร่กระจายเป็นช่วงโอกาสหรือในช่วงฤดูใดฤดูหนึ่งไม่ได้มีการแพร่กระจายตลอดทั้งปี

 

เชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดสามารถแพร่กระจายระหว่างมนุษย์ได้ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ได้แก่ ละอองในอากาศ หรือการสัมผัสโดยตรงระหว่างมนุษย์ เป็นต้น แต่วิธีการต่าง ๆ ของการระบาดของเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดไข้หวัดใหญ่นั้นยากในการศึกษา ดังนั้นจึงยังไม่เป็นที่เข้าใจมากนัก

ภาพ : Pixabay

 

ในการจัดการกับความท้าทายนี้ ทีมวิจัยของโครงการ PREDEMICS ได้ศึกษาช่องทางการแพร่กระจายเชื้อโรคในสัตว์ซึ่งมีการถ่ายเชื้อไวรัสทั้งชนิดที่ไวต่อยาต้านไวรัส และชนิดที่ดื้อต่อยาต้านไวรัสเข้าสู่ร่างกายของสัตว์ที่ต้องการศึกษา ทีมวิจัยของโครงการ PREDEM-ICS สามารถจำลองวิธีการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น ผ่านละอองอากาศและผ่านการสัมผัสโดยตรงโดยสัตว์ที่เลือกมาใช้ในการทดลองคือ เฟร์ริต (ferret) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพังพอนเนื่องจากการกระจายตัวของตัวรับกรดเซียลิก (sialic acid receptor) ในเฟร์ริตมีลักษณะคล้ายคลึงกับของมนุษย์ โดยตัวรับกรดเซียลิกนี้จะช่วยให้ไวรัสที่ถูกถ่ายเข้าไปในตัวของเฟร์ริตสามารถเข้าสู่เซลล์เป้าหมายได้ นอกจากนี้เฟร์ริตยังแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อไวรัสคล้ายคลึงกับอาการไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์

 

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าในสัตว์ที่ได้รับเชื้อไวรัสทั้งชนิดที่ไวต่อยาต้านไวรัสและชนิดที่ดื้อต่อยาต้านไวรัส เช่น Oseltamivir การดื้อยาของไวรัสจะถูกถ่ายทอดได้ผ่านการสัมผัสโดยตรงไม่ใช่ผ่านทางอากาศ พันธมิตรที่ร่วมทำวิจัยกับโครงการ PREDEMICS ยังค้นพบว่าไวรัสที่แยกออกมาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อ H1N1 หรือที่รู้จักกันดีในชื่อไข้หวัดหมู มีความแตกต่างทางพันธุกรรมที่สูงกว่าไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคที่ไม่รุนแรงชนิดอื่น ๆ จึงอาจจะกล่าวได้ว่าความแปรผันทางพันธุกรรม (genetic variation) มีความสำคัญต่อการปรับตัวของไวรัส 

ภาพ : Pixabay

 

การศึกษาถึงขนาดของกลุ่มค้างคาวภายใต้โครงการนี้ก็ทำให้ได้ทราบว่าอัตราการแพร่ของลิสซาไวรัส (lyssavirus) นั้นขึ้นอยู่กับขนาดของกลุ่มค้างคาวและจำนวนสายพันธุ์ของค้างคาวที่อาศัยอยู่ด้วยกันซึ่งการค้นพบข้อมูลดังกล่าวจะนำไปสู่การพัฒนาวิธีในการควบคุมการติดเชื้อในสัตว์ป่าได้ นอกจากนี้ผลงานการศึกษาไวรัสซิกา จำนวน 2 ฉบับภายใต้การสนับสนุนของโครงการ PREDEMICS ก็ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ชื่อว่า Lancet เรียบร้อยแล้ว ข้อมูลทุกอย่างที่ได้จากการวิจัยภายใต้โครงการ PRE-DEMICS ได้ถูกรวบรวมและเผยแพร่บนแพลตฟอร์มข้อมูลซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ

 

ที่มา: https://cordis.europa.eu/news/rcn/125960

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • thaiscience
  • 2 Followers
  • Follow