นอกจากจะเป็นอาร์เอ็นเอไวรัส (RNA virus) มีอาร์เอ็นเอ (กรดไรโบนิวคลีอิก) เป็นสารพันธุกรรมและมียุงเป็นพาหะ สิ่งที่เหมือนกันระหว่างไวรัสซิกาและไวรัสเด็งกี่อีกอย่างก็คือต่างก็อยู่ในสกุล Fla-vivirus และมีเอนเวโลพโปรตีน (envelope protein) ที่คล้ายคลึงกัน อีกทั้งการวิจัยภายใต้โครงการ DENFREE ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยบางส่วนจากสหภาพยุโรป ทำให้เราได้ทราบว่าเชื้อไวรัสทั้งสองสามารถถูกทำลายได้โดยแอนติบอดีชนิดเดียวกัน
การแพร่กระจายของโรคติดเชื้อซิกาและไข้เลือดออกเด็งกี่ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะโลกร้อน โดยไวรัสเด็งกี่ได้ฆ่าชีวิตกว่า 500,000 คน ทั่วโลกต่อปี สำหรับไวรัสซิกาเป็นไวรัสที่เกิดขึ้นใหม่โดยพบว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศบราซิล และในหมู่เกาะเฟรนช์พอลินีเชียต้องทนทุกข์จากภาวะแทรกซ้อนทางระบบประสาท เช่น กลุ่มอาการกิแลงบาร์เร (Guillain-Barre syndrome) ซึ่งเป็นโรคเส้นประสาทหลายเส้นอักเสบเฉียบพลัน อีกทั้งไวรัสซิกายังก่อให้เกิดภาวะศีรษะเล็กกว่าปกติในเด็กทารก
ในช่วงที่ผ่านมาสถาบันต่าง ๆ ในยุโรป ได้แก่ Institut Pasteur และ CNRS ในประเทศฝรั่งเศส รวมไปถึงมหาวิทยาลัย Imperial College London ในประเทศสหราชอาณาจักร ได้พยายามค้นคว้าวิจัยหาแอนติบอดีเพื่อเข้าทำลายไวรัสเด็งกี่จำนวน 4 ชนิด โดยทั้งสามสถาบันทำงานภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากโครงการ DENFREE ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการบ่งชี้หาปัจจัยที่กำหนดการแพร่เชื้อและพัฒนานวัตกรรมและเครื่องมือการวินิจฉัยโรคแบบใหม่ จากนั้นทั้งสามสถาบัน รวมไปถึง University of Vienna ประเทศออสเตรีย ก็ร่วมทำงานวิจัยก้าวต่อไปโดยมุ่งเน้นหาวิธีจัดการกับเชื้อไวรัสซิกา
นาย Félix Rey หัวหน้าห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยา ประจำสถาบัน Institut Pasteur ได้อธิบายว่าทางทีมวิจัยต้องการศึกษาว่าแอนติบอดีที่ถูกสกัดออกมาจากไวรัสเด็งกี่จะสามารถใช้จัดการกับไวรัสประเภทอื่น ๆ ในสกุล Fla-vivirus ได้หรือไม่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือเชื้อไวรัสซิกาซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในขณะนี้
ทีมวิจัยได้เลือกแอนติบอดี 2 ชนิด มาศึกษา ซึ่งทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นที่รู้กันดีว่ามีความสามารถในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสเด็งกี่ โดยแอนติบอดีถูกแยกออกมาจากผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเด็งกี่ และต่อมาถูกถ่ายเทเข้าไปยังไวรัสซิกาโดยผลที่ได้รับเป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจอย่างมาก นาย Rey กล่าวว่าเราไม่เคยคาดคิดว่าไวรัสเด็งกี่และไวรัสซิกาจะมีความคล้ายคลึงกันมากถึงเพียงนี้ จนทำให้แอนติบอดีที่ใช้ทำลายไวรัสเด็งกี่สามารถนำมาใช้จัดการกับไวรัสซิกาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยหนึ่งในแอนติบอดีทั้งสองที่ถูกนำมาทดสอบสามารถต่อต้านไวรัสซิกาได้ ซึ่งประสิทธิภาพในการต่อต้านสูงกว่าเมื่อเทียบกับไวรัสเด็งกี่
อีกหนึ่งองค์ประกอบของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการประยุกต์ใช้ “ผลึกศาสตร์ (Crystallography)” ในการค้นหาและระบุตำแหน่งยึดเกาะของแอนติบอดีบนไวรัสซิกา โดยนักวิทยาศาสตร์ได้ผลิตผลึกที่มีส่วนผสมของแอนติบอดีและเอนเวโลพโปรตีนที่รวมกันอยู่เป็นโครงสร้างเชิงซ้อน จากนั้นก็ได้ใช้รังสีเอ็กซ์ในการจำลองโครงสร้าง 3 มิติ ของตำแหน่งที่แน่นอนที่แอนติบอดีจะเข้าไปจับกับเอนเวโลพโปรตีน และด้วยการวิจัยในส่วนนี้จึงทำให้นักวิจัยพบว่าทั้งไวรัสเด็งกี่และไวรัสซิกาต่างก็มีตำแหน่งที่แอนติบอดีเข้าไปจับเป็นตำแหน่งเดียวกัน
โดยในที่สุดผลวิจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาวัคซีนแบบทั่วไปซึ่งสามารถป้องกันมนุษย์จากการติดเชื้อไวรัสเด็งกี่และไวรัสซิกาได้พร้อมกัน โดยผลการวิจัยนี้ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่ชื่อว่า Nature เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ. 2016
นาย Rey ได้สรุปว่า แอนติบอดีที่ถูกค้นพบจะสามารถใช้ป้องกันหญิงตั้งครรภ์จากการติดเชื้อไวรัสซิกาได้ โดยในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือวิธีการรักษาสำหรับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ดังนั้นที่ทำได้ตอนนี้คือ ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อตั้งแต่แรกเริ่ม
ที่มา: http://cordis.europa.eu/project/rcn/102500_en.html