สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างแรกเมื่อเราตักอาหารที่ประกอบไปด้วยพริกเข้าปากก็คือ ความรู้สึกเผ็ดร้อน ซึ่งมาจากสารแคปไซซิน (Capsicin) ที่อยู่ในพริก โดยสารแคปไซซินจะเข้าไปเกาะและทำปฏิกิริยากับตัวรับที่เรียกว่า TRPV1 ซึ่งมีหน้าที่หลายอย่างในร่างกาย แต่หน้าที่หลักของมันคือ การควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย ซึ่งเมื่อตัวรับ TRPV1 ตรวจพบอุณหภูมิที่สูงขึ้นจากสารแคปไซซิน มันก็จะส่งสัญญาณไปยังสมองและกระตุ้นให้เรารู้สึกแสบร้อนในปาก
ตัวรับ TRPV1 มีอยู่ทั่วไปในร่างกายของเรา ไม่ว่าจะเป็นในปาก กระเพาะอาหาร หรือแม้แต่ทวารหนัก ดังนั้น เมื่ออาหารที่ประกอบไปด้วยพริกเคลื่อนลงสู่กระเพาะอาหาร เราจึงรู้สึกแสบร้อนในกระเพาะอาหารเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากร่างกายของเราไม่สามารถย่อยสารแคปไซซินได้อย่างสมบูรณ์ในระบบย่อย บางครั้งมันจึงถูกร่างกายดูดซึมและส่งไปย่อยทำลายที่ตับ แต่บางครั้งก็ถูกขับออกทางทวารหนัก และเมื่อมันผ่านลงสู่ทวารหนักที่มีตัวรับ TRPV1 อยู่ เราจึงรู้สึกแสบร้อนทวารหนักนั่นเอง
อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ยังไม่ได้ตอบข้อสงสัยที่ว่า ทำไมบางคนกินเผ็ดแล้วจึงเกิดอาการท้องเสียขึ้นมาได้ทั้งหมด เพราะคำตอบอยู่ที่ เมื่อร่างกายของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นจากสารแคปไซซิน มันจะพยายามรักษาอุณหภูมิให้คงที่ด้วยการทำให้ร่างกายเย็นลงจากการที่เหงื่อออกและการดื่มน้ำเพื่อล้างสารที่ไม่สามารถย่อยได้ออกไป ซึ่งกระเพาะอาหารและลำไส้ก็จะขับมันออกไปกับน้ำด้วย เมื่อรวมกับการกระตุ้นกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กของสารแคปไซซินที่ไม่สามารถย่อยได้อย่างสมบูรณ์ ผลก็คือ อาหารจะเคลื่อนผ่านระบบย่อยลงไปอย่างรวดเร็วด้วยน้ำในปริมาณที่มากกว่าปกติ นั่นคือที่มาของการถ่ายเป็นน้ำหรือท้องเสียในที่สุด
สำหรับอาการท้องเสียที่เกิดขึ้นต่อเนื่องหลังจากรับประทานอาหารรสเผ็ด อาจแสดงถึงอาการที่เรียกว่า ลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome, IBS) ซึ่งระบบประสาทและกล้ามเนื้อในลำไส้ของคุณมีความอ่อนไหวมากกว่าปกติ ดังนั้น อาหารบางชนิดก็เป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องเสียได้อีกด้วย เช่น กาแฟ ผลิตภัณฑ์จากนม
วิธีง่ายที่สุดที่จะหลีกเลี่ยงอาการท้องเสียได้ก็คือ การหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารรสเผ็ด แต่ถ้ารู้สึกว่าต้องการรับประทานอาหารรสเผ็ดบ้างเป็นครั้งคราว อาจใช้วิธีการรับประทานอาหารที่มีกากใยอย่างผักหรือผลไม้เพิ่มเข้าไป หรือดื่มน้ำมาก ๆ แล้วร่างกายก็จะเริ่มคุ้นกับอาหารรสเผ็ดมากขึ้น เว้นเสียแต่ว่าจะมีอาการท้องเสียเกิดขึ้นติดต่อกันหลายวัน อาหารรสเผ็ดก็อาจจะไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริง จึงควรพบแพทย์จะดีกว่า
แม้ว่าอาการท้องเสียและความไม่สบายท้องจะมาจากอาหารรสเผ็ด แต่จากงานวิจัยที่เคยตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American Medical Association ก็ระบุว่า กระเพาะอาหารและลำไส้เล็กไม่มีการถูกทำลายหลังจากรับประทานอาหารรสเผ็ดแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น อาหารรสเผ็ดยังไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหารด้วย เพียงแต่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความเจ็บปวดจากแผลในกระเพาะอาหาร และทำให้อาการแย่ลงเท่านั้น