มนุษย์เราอาศัยอยู่บนโลก ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ ในกาแล็กซีทางช้างเผือก อย่างไรก็ตาม จักรวาลของเราไม่ได้มีเพียงกาแล็กซีทางช้างเผือกเท่านั้น แต่ยังประกอบไปด้วยกาแล็กซีอีกมากมายที่มีรูปร่างและลักษณะที่แตกต่างกัน โดยทั่วไปกาแล็กซีแต่ละกาแล็กซีจะประกอบไปด้วยดวงดาวต่าง ๆ หลุมดำ ดาวนิวตรอน ดวงจันทร์ เนบิวล่า ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง ฝุ่นละออง สสารมืด และกลุ่มแก๊สที่มารวมกันเนื่องจากแรงดึงดูด ซึ่งบางกาแล็กซีอาจจะมีขนาดใหญ่หรือเล็ก อาจมีดวงดาวน้อยกว่า 1 ล้านดวง หรืออาจมากกว่า 1 ล้านล้านดวงเลยก็เป็นได้ และนักดาราศาสตร์คาดว่าน่าจะมีกาแล็กซีทั้งหมด 1 แสนล้านกาแล็กซีในจักรวาลนี้
นักดาราศาสตร์ได้แบ่งรูปแบบของกาแล็กซีไว้ตามลักษณะรูปร่างและสมบัติของมัน ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการศึกษาเรียนรู้ โดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 1. กาแล็กซีปกติ (Regular Galaxy) และ 2. กาแล็กซีไม่มีรูปแบบ (Irregular Galaxy)
ในปี 1926 นักดาราศาสตร์ชื่อว่าเอ็ดวิน ฮับเบิล (Edwin Hubble) ได้จำแนกรูปแบบของกาแล็กซีออกมาตามแผนภาพส้อมเสียง (Hubble Tuning Fork) ซึ่งประกอบไปด้วยกาแล็กซีรีและกาแล็กซีกังหันโดยมีรูปแบบย่อย ๆ อีกหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีกาแล็กซีที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับทั้งกาแล็กซีรีและกาแล็กซีกังหันด้วย
1) กาแล็กซีรี (Elliptical Galaxy)
กาแล็กซีรีมีรูปร่างคล้ายทรงกลม แต่มีลักษณะแบนตรงกลางเล็กน้อยและมีปลายเรียว ประกอบไปด้วยดวงดาวที่มีอายุมาก มีมวลน้อย โดยจำนวนดวงดาวที่อยู่ในกาแล็กซีนี้มีตั้งแต่ 100 ล้านดวงไปจนถึง 100 ล้านล้านดวงเลยทีเดียว แต่พวกมันกลับมีสสาร เช่น แก๊สและฝุ่นละออง ระหว่างดาวฤกษ์น้อยกว่ากาแล็กซีอื่น ๆ ซึ่งนี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เราเห็นดาวฤกษ์อายุน้อยเพียงเล็กน้อยในกาแล็กซีนี้
กาแล็กซีรีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจักรวาล เรียกว่า กาแล็กซียักษ์ (Giant Elliptical Galaxies) ซึ่งอาจมีดวงดาวอยู่ถึง 1 ล้านล้านดวง หรือกาแล็กซีรีบางกาแล็กซีก็มีขนาดใหญ่กว่ากาแล็กซีทางช้างเผือกถึง 20 เท่า ส่วนกาแล็กซีรีแคระ (Dwarf Elliptical Galaxies) เป็นกาแล็กซีที่มีขนาดเล็ก โดยมีคุณสมบัติอยู่ระหว่างกาแล็กซีรีทั่วไปกับกระจุกดาวทรงกลม (Globular Cluster) นอกจากนี้ยังมีกาแล็กซีรีที่ปรากฏเป็นสีแดงให้เห็น บ่งชี้ได้ว่าพวกมันเกิดจากดาวฤกษ์อายุมากที่เย็นตัวลงแล้วด้วย
ฮับเบิลแบ่งกาแล็กซีรีออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามค่าความแบน โดยกำหนดสัญลักษณ์ให้ E0 แทนกาแล็กซีรีที่มีลักษณะค่อนข้างกลม ไปจนถึง E7 ให้แทนกาแล็กซีรีที่มีลักษณะรียาวคล้ายกับซิการ์ ตัวอย่างของกาแล็กซีรี เช่น Messier 87 หรือ M87
2) กาแล็กซีกังหัน (Spiral Galaxy)
กาแล็กซีส่วนใหญ่ในจักรวาลนี้อยู่รูปแบบของกาแล็กซีกังหัน รวมถึงกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) ซึ่งเป็นที่ตั้งของโลกของเราก็เป็นกาแล็กซีแบบกังหันด้วย ลักษณะของกาแล็กซีประเภทนี้จะเป็นกระเปาะตรงกลาง เรียกว่า Galactic Bulge Spiral ประกอบด้วยดวงดาวที่มีอายุมาก ส่วนด้านข้างมีลักษณะคล้ายจานแบน ประกอบไปด้วยฝุ่นละออง กลุุ่มแก๊ส และดาวอายุน้อย ซึ่งส่วนนี้จะเป็นจุดที่เกิดเป็นโครงของแขนกาแล็กซี ยื่นออกมาในลักษณะรัศมีกระจายไปรอบ ๆ กาแล็กซี สำหรับดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะของเราอยู่บนแขนของกาแล็กซีทางช้างเผือก รัศมีของกาแล็กซีอยู่กันอย่างหลวม ๆ รอบกระเปาะตรงกลาง บนแขนรัศมีประกอบไปด้วยกลุ่มดาวเก่าแก่ที่รู้จักกันในชื่อของกระจุกดาวทรงกลม (globular clusters)
กาแล็กซีกังหันแบ่งย่อยออกได้เป็น 2 ประเภท
2.1) กาแล็กซีกังหันแบบธรรมดา (Normal Spiral Galaxy) แม้ว่ากาแล็กซีกังหันจะมีลักษณะเป็นกระเปาะแบนและมีแขนเป็นรัศมีคล้าย ๆ กัน แต่ความหนาแน่นของแขนในแต่ละกาแล็กซีก็แตกต่างกัน ดังนั้น จึงสามารถแบ่งย่อยออกได้โดยกำหนดสัญลักษณ์กาแล็กซีกังหันแบบธรรมดาให้แทนด้วย S ตามด้วยอักษรภาษาอังกฤษตัวเล็ก a b c ตามความหนาแน่นของแขน ซึ่ง Sa จะแทนกาแล็กซีกังหันแบบธรรมดาที่มีความหนาแน่นของแขนมากที่สุด ขณะที่ Sc แทนกาแล็กซีกังหันแบบธรรมดาที่มีความหนาแน่นของแขนน้อย ทำให้เห็นแขนเปิดและลักษณะเป็นเกลียวได้อย่างชัดเจน
2.2) กาแล็กซีกังหันแบบมีคาน (Barred Spiral Galaxy) กาแล็กซีกังหันแบบมีคานจะมีโครงสร้างคล้ายคานพาดผ่านกลางกาแล็กซี บริเวณคานนี้จะมีความสว่างของดาวฤกษ์และสสารอยู่ นักดาราศาสตร์พยายามศึกษาเพื่อจะเข้าใจถึงบทบาทของคานนี้แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจนนัก กาแล็กซีแบบมีคานสามารถแบ่งย่อยออกได้โดยกำหนดสัญลักษณ์กาแล็กซีกังหันแบบมีคานให้แทนด้วยSB ตามด้วยอักษรภาษาอังกฤษตัวเล็ก a b และ c
3) กาแล็กซีเลนส์ (Lenticular Galaxy)
สำหรับกาแล็กซีเลนส์เป็นกาแล็กซีที่มีลักษณะคล้ายกับทั้งกาแล็กซีรีและกาแล็กซีกังหัน กล่าวคือมีลักษณะเป็นกระเปาะตรงกลางกาแล็กซีคล้ายกับกาแล็กซีกังหัน แต่ไม่มีโครงสร้างที่เป็นแขนที่ยื่นออกมา โดยอยู่ระหว่างรูปแบบของ E7 และ Sa ตัวอย่างของกาแล็กซีนี้ เช่น M85
กาแล็กซีเลนส์สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท
3.1) กาแล็กซีเลนส์แบบมีคาน (Barred Lenticular Galaxy) กาแล็กซีเลนส์แบบมีคานจะมีโครงสร้างคล้ายคานพาดผ่านกลางกาแล็กซี ซึ่งคล้ายกับกาแล็กซีกังหันแบบมีคานมาก ๆ เพียงแต่ไม่มีโครงสร้างที่เป็นแขนของกังหันเท่านั้น ทั้งนี้กำหนดสัญลักษณ์ของกาแล็กซีลักษณะนี้ให้แทนด้วย SBO
3.2) กาแล็กซีเลนส์แบบไม่มีคาน (Unbarred Lenticular Galaxy) กาแล็กซีเลนส์แบบไม่มีคานจะไม่มีโครงสร้างที่เป็นแถบพาดผ่านกลางกาแล็กซี จึงคล้ายกับกาแล็กซีกังหันแบบไม่มีคาน แต่ไม่มีโครงสร้างที่เป็นส่วนแขนของกังหันนั่นเอง ทั้งนี้กำหนดสัญลักษณ์ของกาแล็กซีลักษณะนี้ให้แทนด้วย SO
กาแล็กซีไม่มีรูปแบบเป็นกาแล็กซีที่ไม่มีโครงสร้างที่ชัดเจนเพียงพอจะบอกได้ว่ามันเป็นรูปกังหันหรือทรงรี และบางครั้งอาจจะแสดงโครงสร้างแบบคานให้เห็น ประกอบไปด้วยกลุ่มแก๊ส ฝุ่นละออง ดาวฤกษ์ ดาวนิวตรอน หลุมดำ และองค์ประกอบอื่น ๆ ซึ่งหากมีขนาดเล็กก็จะอยู่ในกลุ่มของกาแล็กซีแคระไร้รูปแบบ ตัวอย่างที่ดีที่สุดของกาแล็กซีลักษณะนี้ที่สามารถมองเห็นได้จากโลกก็คือกาแล็กซีแมกเจลแลนเล็ก (Small Magellanic Cloud, SMC)
กาแล็กซีไม่มีรูปแบบถูกแบ่งออกเป็น
1) Im galaxies
เป็นกาแล็กซีที่เกิดขึ้นให้เห็นได้บ่อยในบรรดากาแล็กซีไม่มีรูปแบบ และสามารถแสดงให้เเห็นร่องรอยของกาแล็กซีที่เป็นเกลียวแขนได้
2) IO galaxies
เป็นกาแล็กซีไม่มีรูปแบบที่เกิดขึ้นแบบสุ่มอย่างสมบูรณ์ จักรวาลของเรามีกาแล็กซีประเภทนี้อยู่ประมาณ 20% ของกาแล็กซีไม่มีรูปแบบทั้งหมด