คำว่า "เซลเซียส (Celsius)" มาจากชื่อของนักดาราศาสตร์ชาวสวีดิช Anders Celsius (1701-1744) โดยในปี 1742 เขาได้คิดค้นหน่วยวัดอุณหภูมิที่รู้จักกันในชื่อ "เซนติเกรด (Centigrade)" ซึ่งเป็นภาษาละติน หมายถึง 100 องศา ระบบนี้กำหนดให้จุดเดือดของน้ำหรือจุดหลอมเหลวของน้ำแข็งอยู่ที่ 0 องศา ขณะที่จุดเยือกแข็งของน้ำอยู่ที่ 100 องศา
ต่อมา Jean Pierre Cristin ชาวฝรั่งเศส ได้เสนอให้ใช้ระบบที่กลับกันคือ 0 องศาเป็นจุดเยือกแข็งและ 100 องศาเป็นจุดเดือด และมีการเปลี่ยนชื่อจาก "เซนติเกรด" เป็น "เซลเซียส" ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน เพื่อป้องกันการสับสนระหว่างเซนติเกรดในการวัดมุมกับการวัดอุณหภูมิ
ในหน่วยองศาเซลเซียสนี้ สามารถแบ่งสัดส่วนเป็น 100 หน่วยหรือ 100 ช่อง ซึ่งก็คือตั้งแต่ 0 (จุดเยือกแข็ง) ไปจนถึง 100 (จุดเดือด) และใช้สัญลักษณ์เป็น ํC โดยหน่วยนี้เเป็นที่นิยมใช้อย่างกว้างขวางในประเทศแถบยุโรป ตั้งแต่ช่วงกลางและปลายศตวรรษที่ 20
ในปี 1724 นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน-ดัชต์ Daniel Gabriel Fahrenheit (1686-1736) ได้เสนอหน่วยวัดอุณหภูมิซึ่งเรารู้จักกันในหน่วย "องศาฟาเรนไฮต์" ใช้สัญลักษณ์เป็น ํF โดยกำหนดให้จุดเยือกแข็งของน้ำอยู่ที่ 32 องศา และจุดเดือดอยู่ที่ 212 องศา ระหว่างจุดเดือดกับจุดเยือกแข็งจึงสามารถแบ่งได้เป็น 180 หน่วยหรือ 180 ช่อง (มาจาก 212-32) ดังนั้น อุณหภูมิที่ต่างกัน 1 องศาฟาเรนไฮต์ จะเท่ากับอุณหภูมิที่ต่างกัน 0.556 องศาเซลเซียส (มาจาก 100/180) และอุณหภูมิที่ต่างกัน 1 องศาเซลเซียสจะเท่ากับอุณหภูมิที่ต่างกัน 1.8 องศาฟาเรนไฮต์
แม้ว่าในช่วงกลางและปลายศตวรรษที่ 20 หน่วย "องศาฟาเรนไฮต์" จะถูกหน่วย "องศาเซลเซียส" เข้ามาแทนที่ แต่ปัจจุบันชาวอเมริกันและนักอุตุนิยมวิทยาในสหรัฐอเมริกาก็ยังคงใช้หน่วย "องศาฟาเรนไฮต์" อยู่ นอกจากนี้ยังใช้กันทั่วไปในหมู่เกาะเคย์แมนและประเทศเบลีซซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันออกของอเมริกากลาง ส่วนในประเทศแคนาดาก็มีการใช้ควบคู่ไปกับหน่วยองศาเซลเซียส ขณะที่ในประเทศอังกฤษหน่วย องศาฟาเรนไฮต์ก็ถูกใช้อย่างไม่เป็นทางการมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
หน่วยวัดอุณหภูมิ "เคลวิน (Kelvin)" เป็นหน่วยที่เรียกตามชื่อของนักวิทยาศาสตร์ William Thomson หรือรู้จักกันดีในนาม Lord Kelvin (1824-1907) โดยเป็นหน่วยในระบบ SI เขียนแทนด้วย K ซึ่งหน่วยนี้มีประโยชน์มากสำหรับนักวิทยาศาสตร์ในการคำนวณ เนื่องจากเป็นหน่วยวัดที่เริ่มต้นจากจุดศูนย์สัมบูรณ์ (absolute zero temperature) และอุณหภูมิที่ 373 หรือ 373.16 เคลวินจะตรงกับ 100 องศาเซลเซียส ส่วนจุดเยือกแข็งอยู่ที่ค่า 273 หรือ 273.16 เคลวิน ซึ่งตรงกับ 0 องศาเซลเซียส ดังนั้น จาก 273 จนถึง 373 จึงสามารถแบ่งสัดส่วนเป็น 100 หน่วยหรือ 100 ช่อง เช่นเดียวกับหน่วยวัด "องศาเซลเซียส" พอดี
อย่างไรก็ตาม เคลวินมีความแตกต่างเพราะว่ามันเป็น "สเกลสัมบูรณ์" คือมีจุดเริ่มต้นที่ค่าศูนย์สัมบูรณ์ ซึ่งเป็นจุดที่โมเลกุลของก๊าซไม่มีพลังงานความร้อนอยู่ เคลวินเป็นหน่วยที่ไม่มีคำว่า "องศา" อยู่ข้างหน้าและเป็นหน่วยที่ไม่มีตัวเลขติดลบ โดยเป็นการสะท้อนถึงปริมาณพลังงานความร้อนในโมเลกุล ซึ่งเมื่ออุณหภูมิในหน่วยเคลวินเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า พลังงานความร้อนของมันก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเช่นกัน ส่วนหน่วย "องศาเซลเซียส" นั้น แม้ว่าจะมีสเกลแบ่งเป็น 100 หน่วยหรือ 100 ช่อง เท่ากับเคลวิน จึงดูคล้ายกัน แต่หากอุณหภูมิในหน่วยองศาเซลเซียสเพิ่มขึ้นเท่าหนึ่ง ก็ไม่ได้หมายความว่าพลังงานความร้อนในโมเลกุลจะเพิ่มเป็น 2 เท่าเหมือนกับหน่วยเคลวิน เพียงแต่เราอาจจะรู้สึกว่าร้อนเป็น 2 เท่า ซึ่งนั่นไม่ใช่ความหมายในเชิงอุณหพลศาสตร์ สำหรับในสหรัฐอเมริกาอาจจะมีการใช้หน่วยวัดอุณหภูมิเป็นองศาฟาเรนไฮต์ แต่ในเชิงวิทยาศาสตร์แล้ว ก็ยังคงใช้หน่วยเป็นองศาเซลเซียสและเคลวินอยู่ดี
การแปลงหน่วยองศาเซลเซียสเป็นองศาฟาเรนไฮต์
F = 9/5(C) + 32
หรือ F = 1.80(C) + 32
เช่น อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เท่ากับกี่องศาฟาเรนไฮต์
F = 9/5(C) + 32
F = 9/5(37)+32
F = 98.6
การแปลงหน่วยองศาเซลเซียสเป็นเคลวิน
K = C+273
เช่น อุณหภูมิ 37 องศาเซลเซียส เท่ากับกี่เคลวิน
K = C+273
K = 37+273
K = 310
การแปลงหน่วยองศาฟาเรนไฮต์เป็นองศาเซลเซียส
C = (5/9)x((F-32)
หรือ C = (F-32)/1.80
เช่น อุณหภูมิ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ เท่ากับกี่องศาเซลเซียส
C = (5/9)x(F-32)
C = (5/9)x(98.6-32)
C = 37
การแปลงหน่วยองศาฟาเรนไฮต์เป็นเคลวิน
K = 5/9(F - 32) + 273.15
เช่น อุณหภูมิ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ เท่ากับกี่เคลวิน
K = 5/9(F - 32) + 273.15
K = 5/9(98.6-32) + 273.15
K = 310.15
การแปลงหน่วยเคลวินเป็นองศาเซลเซียส
C = K-273
หรือ C = K-273.15
เช่น อุณหภูมิ 298 เคลวิน เท่ากับกี่องศาเซลเซียส
C = K-273
C = 298-273
C = 25
การแปลงหน่วยเคลวินเป็นองศาฟาเรนไฮต์
F = 9/5(K - 273) + 32
หรือ F = 1.8(K - 273) + 32
เช่น อุณหภูมิ 298 เท่ากับกี่องศาฟาเรนไฮต์
F = 9/5(K - 273) + 32
F = 9/5(298-273) + 32
F = 77
Kelvin | Fahrenheit | Celsius | หมายเหตุ |
373 | 212 | 100 | จุดเดือดของน้ำ ที่ระดับน้ำทะเล |
363 | 194 | 90 | |
353 | 176 | 80 | |
343 | 158 | 70 | |
333 | 140 | 60 | |
323 | 122 | 50 | |
313 | 104 | 40 | |
310 | 98.6 | 37 | อุณหภูมิปกติของร่างกายมนุษย์ |
303 | 86 | 30 | |
298 | 77 | 25 | อุณหภูมิห้อง (ประเทศไทย) |
293 | 68 | 20 | |
283 | 50 | 10 | |
273 | 32 | 0 | จุดเยือกแข็ง |
263 | 14 | -10 | |
253 | -4 | -20 | |
243 | -22 | -30 | |
233 | -40 | -40 | จุดที่อุณหภูมิองศาเซลเซียสและองศาฟาเรนต์ไฮต์เท่ากัน |
223 | -58 | -50 | |
213 | -76 | -60 | |
203 | -94 | -70 | |
193 | -112 | -80 | |
183 | -130 | -90 | |
173 | -148 | -100 | |
0 | -459.67 | -273.15 | ศูนย์สัมบูรณ์ (absolute zero) |