Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

Life Skills Outside the Classroom ทักษะชีวิตนอกห้องเรียน

Posted By Plook Magazine | 14 มี.ค. 61
10,474 Views

  Favorite

หลายคนคงเคยได้ยินสำนวนไทยที่ว่า ‘มีความรู้ท่วมหัว แต่เอาตัวไม่รอด’ กันจนชิน ซึ่งประโยคนี้มาจากความจริงเพราะความรู้เพียงอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้คนเรามีชีวิตที่ดีได้ นอกจากจะมีความรู้แล้ว คนเรายังต้องการทักษะในการใช้ชีวิตด้านต่าง ๆ หรือที่เราเรียกว่า ‘ทักษะชีวิต’ ซึ่งทักษะชีวิตอาจมีอยู่มากกว่าร้อยทักษะก็ได้

Plook ฉบับนี้ได้คัดสรร 4 ทักษะชีวิตที่เห็นว่าจำเป็นสำหรับเด็กรุ่นใหม่ บางทีความสำเร็จในอนาคตของเรา อาจไม่ได้มาจากความรู้ล้วน ๆ เพียงอย่างเดียว แต่เป็นทักษะเหล่านี้ที่จะส่งให้เราไปได้ไกลขึ้นกว่าเดิม

 

 

Emotional Intelligence มีความฉลาดทางอารมณ์ 

 

มีความฉลาดทางอารมณ์ 

 

ทุกอารมณ์โกรธ เกลียด รัก รำคาญ เศร้า ฯลฯ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ต้องรู้จักแสดงออกอย่างจำกัด ถึงจะเรียกว่ามีความฉลาดทางอารมณ์ ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (1940) บอกว่าความสำเร็จในชีวิตเป็นผลมาจากความรู้เพียง 20% ในขณะที่ความฉลาดทางอารมณ์ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตมากกว่าความรู้ถึง 4 เท่า ชี้ให้เห็นว่าความฉลาดทางอารมณ์นั้นเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นในชีวิต 


ความฉลาดทางอารมณ์สร้างได้
Step 1 รู้ทันอารมณ์ตัวเอง 
หมั่นเช็คตัวเองว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร เช่น โกรธมากที่โดนเพื่อนล้อ แทนที่เราจะบันดาลโทสะด่าทอเพื่อนทันที ก็รอให้ตัวเองหายโกรธแล้วค่อยไปคุยกับเพื่อน ซึ่งถ้าเราโมโหด่าเพื่อนทันทีก็อาจจะทำให้ผิดใจกันไปตลอดเลยก็ได้ ดังนั้น การที่เรารู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองจะทำให้สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ไม่ตกเป็นทาสของความรู้สึก

 

Step 2 ฝึกจัดการกับอารมณ์
เราต้องเข้าใจก่อนว่า ใคร ๆ ก็โกรธได้ และมันง่ายที่จะแสดงความโกรธออกมา แต่คนที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะไม่แสดงความโกรธออกมาอย่างไม่มีสติ แต่จะเปลี่ยนมันให้กลายเป็นอารมณ์เชิงบวก ซึ่งเราสามารถระบายความโกรธ ความไม่พอใจผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์มากมาย เช่น แต่งเพลง ออกกำลังกาย เขียนนิยาย วาดรูป ฯลฯ 

 

Step 3 เอาใจเขามาใส่ใจเรา
ฝึกอ่านอารมณ์ความรู้สึกของผู้อื่น ลองคิดในใจดูว่าทำไมคนนี้ถึงทำแบบนี้ เช่น ที่เฌอแอมชอบยืมปากกาเรา เพราะว่าเธอไม่มีปากกาใช้ ที่เธอไม่มีใช้ก็เพราะเป็นคนขี้ลืมนั่นเอง เป็นต้น เมื่อเรารู้จักใส่ใจความรู้สึกหรืออารมณ์ของผู้อื่น เราก็จะเข้าใจเขาได้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้เราเป็นทั้งผู้พูดและผู้ฟังที่ดีอีกด้วย

 

 

 

Critical Thinking คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็น 

 

คิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาเป็น 

 

การคิดวิเคราะห์ไม่ได้มีไว้เพื่อทำข้อสอบ GAT เชื่อมโยง หรือเป็นการคิดสำหรับนักวิชาการเท่านั้น แต่มีไว้เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตที่กำลังเกิดขึ้น และคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ด้วย เพราะเมื่อมีทักษะคิดวิเคราะห์ เราจะเห็นความสัมพันธ์ของปัญหากับสาเหตุที่เป็นไปได้มากกว่าหนึ่งสาเหตุที่อาจก่อให้เกิดปัญหานั้น และแม้ว่าจะมองเรื่องเดียวกัน แต่คนที่คิดวิเคราะห์จะสามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าคนอื่น

 

ฝึกเป็นนักคิดวิเคราะห์ที่ดี
- รู้สาเหตุของปัญหามากกว่าหนึ่ง
ทุกปัญหามีสาเหตุหลักและสาเหตุย่อย เราสามารถหาสาเหตุของปัญหาที่มีมากกว่าหนึ่งปัญหา ด้วยผังก้างปลาที่ได้รับการพัฒนาโดย ศ.ดร.คาโอรุ อิชิกาว่า แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว เช่น เมื่อคะแนนสอบภาษาอังกฤษต่ำมาก เราอาจคิดว่าสาเหตุมาจากการที่เราอ่านหนังสือไม่ดีพออย่างเดียว แต่ถ้าใช้ผังก้างปลาวิเคราะห์จะพบสาเหตุมากกว่านั้น 

 

ผังก้างปลา

 



- มองตามเนื้อผ้า
เรียนรู้ที่จะมองปัญหาตามเนื้อผ้า หรือมองสิ่งที่เห็นให้เป็นอย่างที่มันเป็นอยู่ เพื่อให้รู้ว่าเรื่องนั้นเกี่ยวกับอะไร และไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงเพราะคนส่วนใหญ่เชื่อ แต่เชื่อด้วยข้อมูลและหลักฐานที่ปราศจากความลำเอียง โดยหมั่นฝึกตั้งคำถามเชิงวิเคราะห์ 5W1H หาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อนำไปสู่การหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด

 

5W1H 

 

ปัญหา : คะแนนสอบวิชาภาษาจีนไม่ผ่านเกณฑ์
Who (ใคร) : เราตกภาษาจีนทุกเทอม, พฤติกรรมความชอบของเราต่อภาษาจีนเป็นอย่างไร
What (ทำอะไร) : คะแนนสอบวิชาภาษาจีนไม่ผ่านเกณฑ์
Where (ที่ไหน) : เราเรียนภาษาจีนที่ไหน ที่นั่นทำให้เรามีความรู้เพิ่มขึ้นจริง ๆ ไหม
When (เมื่อไหร่) : เราเริ่มเรียนภาษาจีนเมื่อไหร่ เวลาเท่านั้นเพียงพอไหม
Why (ทำไม) : ทำไมเราต้องเรียนภาษาจีนที่นั่น เวลานั้น ทำไมไม่เลือกเรียนที่อื่น
How (อย่างไร) : เราจะเรียนให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง เพื่อจะได้ไม่ตกซ้ำ ๆ แบบนี้ เช่น จดและท่องศัพท์มากขึ้น, โหลดแอปภาษาจีนมาเรียนเสริม, ฝึกคิดสิ่งที่จะพูดในใจด้วยภาษาจีน ฯลฯ

 

 

 

Public Speaking มีศิลปะในการพูด 

 

มีศิลปะในการพูด 

 

ความกล้าในการนำเสนอหรือพูดต่อหน้าสาธารณะอาจเป็นตัวตัดสินความเจริญก้าวหน้าของคน ๆ หนึ่งได้ หลายครั้งเรามักจะได้ยินว่า คนเก่งแพ้คนพูดเก่ง นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรารู้ว่าการพูดต่อสาธารณะควรจะเป็นหนึ่งในทักษะที่ทุกคนควรทำได้อย่างคล่องแคล่ว และไม่ตื่นเต้นอีกต่อไป 

 

พรีเซนต์เก่งไตล์ TED Talks


STEP 1 ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ
จำไว้ว่า 15-18 นาที คือเวลาที่ดีที่สุดในการพูดพรีเซนต์ เราควรเริ่มต้นด้วยการพูดว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างไร โดยพูดด้วยน้ำเสียงที่มั่นใจและท่าทางที่ผ่อนคลาย อาจจะแทรกมุกตลกเพื่อเรียกความสนใจจากผู้ฟัง เพื่อให้พวกเขาเปิดใจฟังเรื่องที่เราจะเล่าต่อไป  

 

STEP 2 พูดเพื่ออะไร 
ปูเนื้อหาที่อยากบอกต่อให้กับผู้ฟัง โดยต้องรวบใจความให้ได้ใน 15 คำ และ 15 คำนี้คือ เป้าหมายที่เราอยากให้ผู้ฟังได้รับรู้ว่าเราพูดเพื่ออะไรหรือเพื่อใคร เช่น อยากให้เพื่อนรู้จักตัวตนของเรา อยากให้แรงบันดาลใจกับคนพิการ อยากให้ครูเพิ่มเวลาสอบให้ เป็นต้น 

 

STEP 3 แทรกประสบการณ์ส่วนตัว
ต่อด้วยการบอกข้อมูลที่เราหามาเพื่อตอกย้ำให้ผู้ฟังเชื่อว่าสิ่งที่เราพูดนั้นน่าเชื่อถือ และเพื่อให้เรื่องที่เราพูดเข้าไปอยู่ในใจของพวกเขา แนะนำว่าให้เล่าประสบการณ์ส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องที่พูดด้วย และอย่าลืมเป้าหมาย 15 คำที่ตั้งไว้ก่อนหน้านี้ เพราะต้องพูดให้เนื้อหาวนอยู่ใน 15 คำนี้ จะได้ไม่พูดนอกเรื่องออกทะเลไปไกลนั่นเอง

 

STEP 4 จบพรีเซนต์ให้น่าจดจำ
วิธีจบพรีเซนต์ให้น่าจดจำคือ พูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ฟัง หรือนำเสนอไอเดียที่เราอยากให้พวกเขานำไปทำต่อ แนะนำว่าอย่าขนคำคมมาพูดปิดท้ายเป็นขบวนพาเหรด และควรระวังคำพูดหรือประเด็นที่เปราะบางด้วย สุดท้ายห้ามลืมพูด ‘ขอบคุณ’ เด็ดขาด

 

พูดสไตล์ TED Talks

 

 

 

Media Literacy รู้เท่าทันสื่อ 

 

 

รู้เท่าทันสื่อ 

 

สื่อที่อยู่รอบตัวเรานั้นมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมของเรามาก ซึ่งเราอาจไม่รู้ตัวเพราะได้ยิน ได้เห็นมันบ่อย ๆ โดยเฉพาะสื่อจากโซเชียลเน็ตเวิร์คที่แพร่ข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ในเมื่อตัวเราถูกล้อมรอบไปด้วยสื่อต่าง ๆ ตลอดเวลาในทุก ๆ วัน หากเราไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีก็อาจจะตกเป็นเหยื่อทางความคิด ความเชื่อตามที่สื่อหรือผู้ผลิตนำเสนอได้

 

4 รู้เพื่อรู้เท่าทันสื่อ 

รู้ที่ 1 ไม่มีความบังเอิญในสื่อ
ทุกสิ่งที่เราเห็นในสื่อล้วนมีคนกลุ่มหนึ่งผลิตขึ้นมาด้วยความจงใจเพื่ออะไรบางอย่าง เราจึงต้องหัดเป็นคนขี้สงสัย หมั่นตั้งคำถามว่าใครเป็นคนสร้างเนื้อหานั้นขึ้นมาเพื่อจะได้รู้ว่าสิ่งที่เห็นเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องที่แต่งขึ้น เช่น โฆษณาปู่ชิว เป็นเรื่องแต่งขึ้นเพื่อขายประกันชีวิต เป็นต้น

 

รู้ที่ 2 สื่อใช้เทคนิคสารพัดเพื่อให้เราคล้อยตาม
แยกให้ออกว่าสื่อใช้เทคนิคอะไรในการนำเสนอเนื้อหา เช่น ใช้เทคนิคถ่ายภาพใกล้ ๆ เพื่อโน้มน้าวใจให้รู้สึกใกล้ชิด, นำดาราชื่อดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ขายอาหารเสริมแล้วชักชวนให้เราเชื่อว่าถ้ากินแล้วจะสวยเหมือนดาราคนนั้น เป็นต้น เมื่อเราแยกออกก็จะสามารถวิเคราะห์ต่อได้ว่าสื่อต้องการนำเสนออะไร และอะไรคือสิ่งที่สื่อไม่ได้นำเสนอออกมา 

 

รู้ที่ 3 สื่อแฝงอะไรบางอย่างมาด้วยเสมอ 
เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่าสิ่งที่สื่อนำเสนอนั้นต้องการอะไรจากเรา เช่น ต้องการให้เราทำตาม ซื้อของ เปลี่ยนความคิด ฯลฯ เพราะฉะนั้นก่อนจะเชื่ออะไรก็ต้องรู้ให้ได้ก่อนว่าสื่อแฝงอะไรมา เพราะสื่อมักไม่บอกตรง ๆ ว่าต้องการอะไร เช่น ให้พิธีกรรายการชื่อดังพูดถึงผลิตภัณฑ์ในทางที่ดีว่าตัวเองก็ใช้และใช้ดีมาก นี่คือโฆษณาชวนเชื่อเพราะพิธีกรคนนั้นอาจไม่ได้ใช้จริง ๆ แต่พูดเพราะได้ค่าโฆษณานั่นเอง 

 

รู้ที่ 4 สื่อต้องการผลประโยชน์กับเราเสมอ
เราสามารถเสียประโยชน์จากสื่อได้ บางครั้งสื่ออาจไม่ได้ต้องการให้เราซื้อสินค้า แต่ทำขึ้นมาเพื่อหลอกให้เราเชื่อ หรือต้องการให้เราเห็นด้วย สื่อทำได้แม้กระทั่งทำให้เราเข้าใจผิดคนอื่น ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องเชื่อหรือทำตามสื่อทั้งหมด อาจดูเพื่อผ่านไปหรือดูเพื่อความบันเทิงก็ได้ 

 

 

 

แหล่งข้อมูล 
- สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ. (2560). คู่มือเคล็ดลับเข้าใจวัยรุ่น. กรุงเทพฯ: SOOK PUBLISHING. 
- ธาม เชื้อสถาปนศิริ นักวิชาการ โครงการศึกษาเฝ้าระวังสื่อและพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อเพื่อสุขภาวะของสังคม (Media Monitior). (2553). รู้เท่าทันโฆษณาแฝง. กรุงเทพฯ:บริษัทออฟเซ็ท ครีเอชั่น จำกัด. 
- สำนักศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ. (2558). รู้เท่าทันสื่อ. กรุงเทพฯ: SOOK PUBLISHING. 
- แอนเดอร์สัน, คริส. (2560). TED Talks: The Official Ted Guide to Public Speaking. กรุงเทพฯ: โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เฮาส์.
- การคิดเชิงวิเคราะห์. สืบค้นเมื่อวันที่ 02 กุมภาพันธ์ 2561 จาก http://susdoizzafirstblogger.blogspot.com.  
- บทวิจัยแผนผังก้างปลา (Fish Bone Diagram) หรือเรียกเป็นทางการว่าแผนผงัสาเหตุและผล (Cause and Effect Diagram. สืบค้นเมื่อวันที่ 02 กุมภาพันธ์ 2561 จาก http://www.research-system.siam.edu/

 

 

เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
ภาพประกอบ : ยูถิกา หวังพึ่งเดช

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
thestory 
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow