ล่าสุดมีงานวิจัยชี้ว่ามีความเป็นไปได้ที่สารสกัดจากชาเขียวที่ชื่อว่า epigallocatechin 3-gallate (EGCG) จะสามารถนำมาใช้รักษาโรคอัลไซเมอร์เนื่องจากคุณสมบัติในการยับยั้งการสร้างเส้นใยโปรตีนอะไมลอยด์หรือแม้กระทั่งทำให้เส้นใยโปรตีนที่ถูกสร้างมาแล้วเกิดการคลายตัว
ในการประเมินความเหมาะสมในการใช้สาร EGCG เป็นยารักษาโรคอัลไซเมอร์จำเป็นต้องมีการทดสอบประสิทธิภาพของสารนี้อย่างกว้างขวาง ด้วยเหตุนี้ทางคณะกรรมาธิการยุโรปจึงให้การสนับสนุนจัดตั้งโครงการ EGCG+INSULIN= เพื่อศึกษาปฏิกิริยาระหว่าง EGCG อินซูลินและเส้นใยโปรตีนอะไมลอยด์ โดยโครงการนี้จะช่วยให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยของกลุ่มวิจัยเส้นใยโปรตีนอะไมลอยด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนกชีวอุณหพลศาสตร์และการออกแบบยา (Biothermo-dynamics and Drug Design) ณ สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพ เมือง Vilnius ประเทศลิทัวเนีย
งานวิจัยภายใต้โครงการ EGCG+INSULIN= ถือเป็นเรื่องใหม่ที่สถาบันเทคโนโลยีชีวภาพแห่งนี้ไม่เคยทำมาก่อน โดยจะมีการศึกษาเชิงชีวกายภาพเกี่ยวกับการสร้างเส้นใยโปรตีนอะไมลอยด์และการทดสอบสารที่ต้านการสร้างเพปไทด์อะไมลอยด์ นอกจากนี้ยังจะเน้นศึกษากระบวนการการต่อสายของเส้นใยโปรตีนอะไมลอยด์และปฏิกิริยาระหว่างเส้นใยโปรตีนอะไมลอยด์ กับสาร EGCG โดยผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นอาจจะมีลักษณะเหมือนการเกิดปฏิกิริยาของเอนไซม์ ดังนั้น จึงอาจใช้จลศาสตร์ของมิเชลิส เมนเทนมาอธิบายได้ ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือผลวิจัยจากโครงการบอกว่าสาร EGCG ไม่ได้มีส่วนในการยับยั้งการสร้างเส้นใยโปรตีนอะไมลอยด์ซึ่งเป็นข้อมูลที่ขัดแย้งกับผลงานวิจัยอื่น ๆ ที่ได้ถูกตีพิมพ์ออกมาก่อนหน้านี้
ด้วยเหตุนี้ทางทีมงานวิจัยของโครงการจึงศึกษาเพิ่มเติมเพื่อค้นหาสารอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการยับยั้งการสร้างเส้นใยโปรตีนอะไมลอยด์ โดยมีการทดสอบสารประกอบกว่า 265 ชนิด ถึงความสามารถในการยับยั้งการสร้างเพปไทด์อะไมลอยด์ชนิดต่าง ๆ เช่น อะไมลอยด์บีตา พรีออนโปรตีน MoPrP โปรตีนแอลฟา-ไซนิวคลีอิน รวมไปถึงเส้นใยโปรตีนอะไมลอยด์และเส้นใยอินซูลิน โดยผลการวิจัยพบว่ามีสาร 5 ชนิดที่ถูกพบว่าสามารถใช้เป็นตัวยับยั้งการสร้างเส้นใยอินซูลิน โดย 4 จาก 5 ชนิดนี้สามารถยับยั้งการสร้าง โปรตีนแอลฟาไซนิวคลีอิน ส่วนอีกหนึ่งชนิดสามารถชะลอการจับตัวของพรีออนโปรตีน MoPrP ได้
งานวิจัยที่ศึกษาปฏิกิริยาระหว่างสาร EGCG อินซูลินและเพปไทด์อะไมลอยด์ ได้ก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ ที่มีคุณค่าซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในการศึกษาถึงความ สามารถในการใช้สาร EGCG เพื่อชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และการเสื่อมของเซลล์สมองได้
ที่มา: http://cordis.europa.eu/result/rcn/175036_en.html