ถ้าเราสังเกตใยของแมงมุมลงไปอย่างใกล้ชิด จะพบว่ารูปร่างของใยนั้นยังสามารถถูกรักษาไว้ในสภาพที่สมบูรณ์ แม้ว่าจะผ่านการดักจับแมลงมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ตัวใยแมงมุมก็สามารถที่จะม้วนตัวเพื่อฟื้นฟูให้มีความตึงเหมือนเดิม ซึ่งปรากฏการณ์นี้เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสนใจเป็นเวลาหลายสิบปีแล้ว ซึ่งในขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังไขความลับนี้ให้กระจ่างมากยิ่งขึ้น
นาย Fritz Vollrath ผู้ประสานงานของโครงการ SABIP ได้ค้นพบว่าใยแมงมุมนั้นมีส่วนประกอบหลักสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นเส้นใยซึ่งผลิตจากตัวแมงมุมโดยตรง และหยดกาวที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ซึ่งวางอยู่บนเส้นใยอีกที ซึ่งหยดกาวนี้ไม่ได้ถูกผลิตจากแมงมุมโดยตรง แต่แมงมุมนั้นจะผลิตสารที่มีความเหนียวมาเคลือบเส้นใยของมัน จากนั้นสารนี้ก็จะดูดซับความชื้นจากชั้นบรรยากาศและพองตัวกลายเป็นหยดกาวที่มีความเหนียว
โดยหยดกาวนี้ส่วนใหญ่แล้วจะใช้เพื่อจับยึดเหยื่อของแมงมุม นอกจากนี้ยังช่วยรักษาความตึงและความแข็งแรงของใยแมงมุมไว้ได้อีกด้วย โดยหยดกาวหยดเล็ก ๆ ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.1 มิลลิเมตร สามารถกักเก็บเส้นใยแมงมุมได้ยาวถึง 20 เซนติเมตร โดยเส้นใยแมงมุมจะถูกม้วนเข้าไปเก็บในหยดกาวนี้และม้วนออกมาใช้งานใหม่ได้อยู่เรื่อย ๆ พร้อมกับความตึงและความแข็งแรงที่เหมือนเดิม
การอยู่ร่วมกันระหว่างเส้นใยและหยดกาวนั้นก็มีคุณสมบัติเหมือนกับการอยู่ร่วมกันระหว่างของแข็งกับของเหลวโดยทีมงานนักวิจัยของโครงการ SABIP ที่อยู่ที่อ๊อกซ์ฟอร์ดและปารีสได้ตั้งชื่อของการอยู่ร่วมกันระหว่างเส้นใยและหยดกาวไว้ว่า "สายใยของเหลว" (liquid wire) โดยเมื่อเส้นใยนี้ยืดออก มันจะมีคุณสมบัติเหมือนของแข็งเนื่องมาจากโครงสร้างที่มีลักษณะเป็นแบบนาโนสปริง แต่เมื่อเส้นใยถูกบีบอัดมันจะเปลี่ยนคุณสมบัติกลายเป็นของเหลว
นาย Herve Elettro นักวิจัยหลักของทีมวิจัยที่ปารีสของโครงการ SABIP ได้กล่าวว่าเส้นใยแมงมุมนี้ถือเป็นนวัตกรรมทางด้านวัสดุ โดยเป็นวัสดุคอมโพสิต (วัสดุที่ประกอบด้วยวัสดุ 2 ประเภทขึ้นไปโดยที่องค์ประกอบทางเคมีแตกต่างกันและจะต้องไม่ละลายเป็นเนื้อเดียวกัน) ที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ การศึกษาคุณสมบัติและพฤติกรรมของเส้นใยแมงมุมได้ช่วยให้ทีมนักวิจัยสามารถผลิตเส้นใยสังเคราะห์ที่มีลักษณะและคุณสมบัติเหมือนกับใยแมงมุมได้ โดยใช้เส้นใยไนลอนและสารละลายน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ เส้นใยสังเคราะห์นี้ถูกผลิต ณ อุณหภูมิห้องและไม่มีการใช้สารเคมีอันตรายและสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
ในขณะนี้เรากำลังหาคำตอบว่าเราจะสามารถนำเส้นใยสังเคราะห์นี้ไปใช้งานได้อย่างไรบ้าง สามารถขยายการผลิตได้อย่างไร หรือจะต้องนำวัสดุนี้เข้าไปรวมกับวัสดุชนิดอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งวัสดุนี้ถือว่าเป็นนวัตกรรมที่ใหม่มาก ๆ และเราก็กำลังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ต่าง ๆ ในการใช้ประโยชน์จากวัสดุชนิดนี้ โดยในขณะนี้มีการระดมความคิดในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยใช้เส้นใยสังเคราะห์ตัวนี้
ที่มา: http://cordis.europa.eu/news/rcn/125439_en.html