“Electrospray” หรือ “การเกิดละอองด้วยไฟฟ้า” เป็นเทคนิคที่เรานำสารละลายไปไหลผ่านท่อแก้วที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดเล็กซึ่งที่ส่วนปลายของหลอดแก้วมีการให้ค่าศักย์ไฟฟ้าสูงประมาณ 3 - 5 กิโลโวลต์ จึงก่อให้เกิดสนามไฟฟ้าที่มีความเข้มสูงและทำให้สารละลายที่ไหลผ่านท่อแก้วเกิดเป็นละอองในรูปแบบต่าง ๆ กัน
เทคนิค Electrospray ได้ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในสาขาแตกต่างกัน เช่น แมสสเปกโทรเมตรี (mass spec-trometry) ซึ่งเป็นเทคนิควิเคราะห์ทางเคมีที่ใช้หลักการการเปลี่ยนสารตัวอย่างให้เป็นไอออน วิศวกรรมเนื้อเยื่อ (tissue engineering) และเทคโนโลยีไมโครแอเรย์ของโปรตีน (protein microarrays) แต่อย่างไรก็ตามปัจจัยพื้นฐานของการเกิดละอองด้วยไฟฟ้ายังไม่เป็นที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ ทำให้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ยังทำได้ไม่เต็มที่
โครงการ TAYLORMED ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปได้นำเทคนิค Electrospray มาใช้ในการนำส่งยาประเภทที่เป็นสารชีวโมเลกุล เข้าสู่เซลล์และเนื้อเยื่อ โดยวัตถุประสงค์หลักของงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือ เพื่อพัฒนาระบบนำส่งยาแบบใหม่เพื่อใช้รักษาโรคปอด คณะทำงานภายใต้โครงการ TAYLORMED ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนำส่งยา วิศวกรรมเครื่องกล วิศวกรรมการผลิต และเทคโนโลยีของไหลจุลภาค ซึ่งมาจากทั้งภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม
นักวิจัยจากโครงการ TAYLORMED พัฒนาวิธีการในการแสดงผลของการเกิดละอองด้วยไฟฟ้า อีกทั้งยังศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของละออง โดยมีการศึกษาระบบบัฟเฟอร์ทางชีวภาพหลายชนิดเพื่อตรวจหาความสามารถของบัฟเฟอร์ในการสร้างละอองด้วยไฟฟ้า และช่วยนำส่งโมเลกุลต่าง ๆ เช่น ดีเอ็นเอ อาร์เอ็นเอ โปรตีน และโมเลกุลขนาดเล็กชนิดอื่น ๆ โดยนวัตกรรมเครื่องกำเนิดละอองด้วยไฟฟ้าได้ถูกออกแบบและนำมาทดสอบสำหรับการประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงการนำส่งเซลล์เพื่อใช้ในการทำเซลล์บำบัด
โดยภาพรวมงานวิจัยจากโครงการ TAYLORMED ทำให้เราสามารถเข้าใจถึงกระบวนการเกิดละอองด้วยไฟฟ้าได้ดีขึ้น อีกทั้งยังเอื้อให้นำเทคนิคนี้ไปประยุกต์ใช้ในวงการแพทย์ซึ่งระบบและอุปกรณ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถในการนำส่งสารชีวโมเลกุลหลากหลายชนิดเข้าไปสู่เซลล์และเนื้อเยื่อและกลายเป็นหนทางใหม่ของการนำส่งยาเข้าสู่ร่างกาย
ที่มา: https://cordis.europa.eu/result/rcn/182825_en.html