โครงการ EUROBAT ได้สนับสนุนเจตนารมณ์ของสหภาพยุโรปในการกำหนดเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการขนส่งและคมนาคมเป็นจำนวนร้อยละ 60 และการยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในรถยนต์ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยในบรรดาเทคโนโลยีด้านการขนส่งที่มีอยู่ในขณะนี้ เทคโนโลยียานยนต์ไฮบริดและระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าถือเป็นเทคโนโลยีที่สำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายเหล่านั้นได้ สำหรับก้าวต่อไปนั้นสิ่งที่จำเป็นก็คือการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันและปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของเทคโนโลยีแบตเตอรีชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในยานยนต์ไฮบริดและยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้รวดเร็วขึ้น
เทคโนโลยีการขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรือ E-mobility จะช่วยสร้างโอกาสในประเด็นต่าง ๆ มากมาย อาทิเช่น การสร้างงาน การเติบโตทางเศรษฐกิจความมั่นคงทางพลังงาน และการป้องกันสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเทคโนโลยีแบตเตอรีถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับ เคลื่อน E-mobility โดยทางโครงการ EUROBAT มีความมั่นใจว่าพวกเขาควรจะได้รับการสนับสนุนในระดับสหภาพยุโรปและในระดับชาติ
แผนงานของโครงการ EUROBAT นั้นจะมุ่งเน้นในเทคโนแบตเตอรี 3 ชนิด ได้แก่ แบตเตอรีขั้นสูงแบบตะกั่ว (Advanced lead-based batteries) แบตเตอรีชนิดลิเธียมไอออน(Lithiumionbatter-ies) และแบตเตอรีโซเดียม-นิกเกิล-คลอไรด์ (Sodium nickel chlo-ride batteries) ซึ่งเชื่อว่ามีศักยภาพสูงสุดสำหรับการพัฒนาและต่อยอดเทคโนโลยีในทศวรรษข้างหน้านี้ โดยเทคโนโลยีแบตเตอรีแต่ละประเภทมีคุณสมบัติและประสิทธิภาพการทำงานที่เฉพาะเพื่อตอบสนองต่อการประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยการนำเทคโนโลยีใหม่มาทดแทนเทคโนโลยีอันเก่าจะก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม รวมไปถึงต้นทุนในการผลิตยานยนต์ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องถูกประเมินก่อนที่จะมีกระบวนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ
แบตเตอรีแบบตะกั่วมีความสามารถในการจ่ายกระแสไฟที่มีการกระชากสูงและราคาที่ค่อนข้างถูก ซึ่งเหมาะสำหรับการใช้งานในยานยนต์ทั่วไปที่เครื่องยนต์ต้องใช้กระแสไฟสูงสำหรับการจุดเครื่องยนต์และยานยนต์ประเภทไมโครไฮบริดขั้นพื้นฐาน สำหรับแบตเตอรีชนิดลิเธียมไอออนเหมาะที่จะใช้ในการขับเคลื่อนยานยนต์แบบไฮบริด แบบปลั๊กอินไฮบริด (plug-in hybrid) ซึ่งมีช่องชาร์จไฟฟ้าจากภายนอกและยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบในส่วนของแบตเตอรีโซเดียม-นิกเกิล-คลอไรด์ (Sodium nickel chloride batteries) นั้นเหมาะกับการใช้ในยานยนต์แบบปลั๊กอินไฮบริดและยานยนต์พลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะยานยนต์ที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักสูงเช่น รถโดยสารประจำทาง
สมาชิกของโครงการ EUROBAT ได้ระบุประเด็นสำคัญต่าง ๆ ด้านการวิจัยและพัฒนา ได้แก่ประสิทธิภาพการทำงาน ต้นทุน การเชื่อมโยงระบบ กระบวนการผลิต ความปลอดภัย และความสามารถในการนำกลับมาใช้ใหม่ ความใส่ใจและความพยายามต่อการพัฒนางานด้าน R&D ควรถูกจัดการในระดับของสหภาพยุโรป ระดับประเทศสมาชิก และระดับโลก เพื่อแก้ไขปัญหาของประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่ได้กล่าวไว้ โดยประเด็นสำคัญสำหรับเทคโนโลยีแบตเตอรีแต่ละประเภทมีดังนี้
- แบตเตอรีขั้นสูงแบบตะกั่ว (Advanced lead-based bat-teries): จำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมไปถึงการลดต้นทุนการผลิตสำหรับตลาดมวลชนของยานยนต์ประเภทไมโครไฮบริด
- แบตเตอรีชนิดลิเธียมไอออน (Lithium-ion batteries): จุดประสงค์หลักคือ การเพิ่มความหนาแน่นทางพลังงาน (energy density) และการลดต้นทุนการผลิต
- แบตเตอรีโซเดียม-นิกเกิล-คลอไรด์ (Sodium nickel chlo-ride batteries): เป้าหมายสำคัญของเทคโนโลยีแบตเตอรีประเภทนี้คือ การปรับปรุงกระบวนการผลิตและการเชื่อมโยงระบบ รวมไปถึงการลดต้นทุนการผลิต
นอกจากนี้ยังควรให้ความสนใจในเรื่องทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นในการพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมแบตเตอรีซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่การใช้ยานยนต์ไฮบริดและยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามากขึ้น โดยทั้งภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมควรร่วมมือกันเพื่ออุดช่องโหว่เรื่องทักษะของแรงงานผ่านการให้ทุนการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการทำงาน
ที่มา: http://ewfa.org/sites/default/files/rev_of_battery_executive_web_1.pdf