เรือนกระจกที่ทำด้วยพลาสติกเป็นที่นิยมใช้อย่างมากในยุโรปเพื่อใช้ปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ดินไม่ค่อยมีความอุดมสมบูรณ์ แต่ฟิล์มพลาสติกที่ใช้คลุมเรือนกระจกที่ใช้กันอยู่ตอนนี้มักจะมีความแข็งแรงและทนทานค่อนข้างต่ำต่อสภาวะแวดล้อม เช่น ความร้อน รังสียูวี และสารเคมีทางการเกษตร อาทิ ซัลเฟอร์ และคลอรีน
โครงการ GREENAVOID ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรปได้ริเริ่มที่จะพัฒนาพลาสติกชนิดใหม่ที่ใช้คลุมเรือนกระจกที่มีความทนทานต่อรังสียูวีและซัลเฟอร์ นอกจากนี้ทางโครงการยังพัฒนาระบบเพื่อช่วยระเหยยาฆ่าแมลงที่มีส่วนผสมของซัลเฟอร์ให้กลายเป็นไอ เพื่อที่ปริมาณซัลเฟอร์ที่จะไปสัมผัสกับพลาสติกจะได้ลดน้อยลง ดังนั้น จึงช่วยยืดอายุการใช้งานของพลาสติก
ฟิล์มพลาสติกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นมีส่วนผสมของสารให้ความคงตัว (stabilizers) ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ โดยจุดประสงค์ของการใส่สารให้ความคงตัวก็เพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของพลาสติก โดยสารให้ความคงตัวเหล่านี้จะมีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และสารที่ดูดซับรังสียูวีซึ่งจะมีผลต่อสมดุลของฮอร์โมนในร่างกาย
โครงการ GREENAVOID ได้พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีเหล่านี้ในพลาสติกที่ใช้ในการสร้างเรือนกระจก โดยทางโครงการได้พัฒนาฟิล์มพลาสติกที่ประกอบไปด้วยชั้นของวัสดุนาโนคอมโพสิต (nanocomposite materials) หลาย ๆ ชั้นต่อกันเพื่อทาหน้าที่ป้องกันสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม จากนั้นพลาสติกที่ถูกพัฒนาขึ้นได้ถูกทำไปทดสอบในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อศึกษาความทนทาน และการย่อยสลายซึ่งผลจากการวิจัยพบว่าฟิล์มพลาสติกของโครงการ GREENAVOID สามารถทนทานต่อความร้อน และรังสียูวีได้อย่างดี
สำหรับการนำฟิล์มพลาสติกมาสร้างเรือนกระจก นักวิจัยออกแบบให้ชั้นนอกของเรือนกระจกได้ดูดกลืนแสงน้อยที่สุดแต่ก็ยังให้แสงจำนวนหนึ่งผ่านได้เพื่อให้พืชนำไปใช้ในการสังเคราะห์แสง ส่วนชั้นในนั้นถูกออกแบบให้ทนทานต่ออุณหภูมิที่สูง รวมไปถึงซัลเฟอร์ และคลอรีนซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในยาฆ่าแมลง ส่วนชั้นกลางนั้นถูกออกแบบมาเพื่อเสริมความแข็งแรงของเรือนกระจก
เหนือไปกว่านั้น ทีมนักวิจัยของโครงการได้พัฒนาระบบที่ช่วยระเหยซัลเฟอร์ให้กลายเป็นไอเพื่อป้องกันไม่ให้ซัลเฟอร์เข้าทำลายฟิล์มพลาสติก นอกจากนี้แล้วระบบนี้ยังส่งผลให้การปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และมลพิษทางอากาศลดลง โดยผลการวิจัยพบว่านวัตกรรมที่พัฒนาโดยโครงการ GREENAVOID สามารถยืดอายุการใช้งานฟิล์มพลาสติกได้จาก 1 ปี ไปเป็น 3 ปี ซึ่งผลที่ตามมาก็คือ ช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดการใช้พลังงาน และลดการเกิดขยะพลาสติกได้ นอกจากนี้วัสดุนาโนที่ผลิตขึ้นในโครงการนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ได้อีกด้วย
ที่มา: https://cordis.europa.eu/result/rcn/173644_en.html