ถ้าอย่างง่าย ๆ เลยก็คือ สมองมีสองซีก สมองซีกซ้ายควบคุมร่างกายด้านขวา สมองซีกขวาควบคุมร่างกายด้านซ้าย สมองส่วนหน้าและสมองส่วนหลังก็มีหน้าที่และการทำงานต่างกันไป โดยมีทั้งสมองส่วนที่ควบคุมและสมองส่วนความจำ มันเป็นก้อนไขมันขนาดใหญ่ มีกลุ่มเซลล์รับส่งสัญญาณไฟฟ้าเพื่อการสื่อสาร มีความเปราะบางแต่ก็มหัศจรรย์ มันปริโภคเชื้อเพลิงเป็นจำนวนมากในรูปแบบของน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยวเพื่อการทำงาน และทำงานอย่างไม่มีวันหยุดตลอดเวลาตั้งแต่เกิดจนตาย และแม้ว่าสมองแต่ละส่วนจะมีความสำคัญและทำงานต่างกันออกไป แต่พวกมันก็สามารถฟื้นตัวปรับเปลี่ยนเพื่อทำงานทดแทนกันได้ในกรณีที่บางส่วนเกิดความเสียหายหรือผิดปกติ
การทำงานของสมองแตกต่างกันออกไปบ้างในแต่ละเพศ นอกจากนี้วิธีการคิดอ่านที่ต่างกันในแต่ละคนก็สะท้อนถึงการทำงานที่ต่างกันของสมองเช่นกัน และสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์พบล่าสุดคือ สมองของคนที่สามารถพูดได้สองภาษาทำงานแตกต่างจากคนที่สามารถพูดได้แค่ภาษาเดียว แต่ก่อนที่จะพูดถึงความแตกต่างในด้านการทำงานของสมองของคนที่พูดสองภาษากับคนที่พูดเพียงภาษาเดียว นักวิทยาศาสตร์พบว่าสมองของคนที่พูดภาษาแตกต่างกันก็ยังทำงานต่างกันด้วย
อันที่จริงแค่คำพูดหรือการรับรู้ถึงรสชาติ เวลา ความรู้สึก ของคนที่พูดภาษาต่างกัน ก็มีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกัน วัฒนธรรมและการใช้ชีวิตส่งผลต่อความรู้สึกและภาษาอยู่มาก นักภาษาศาสตร์หรือแม้แต่นักประวัติศาสตร์และโบราณคดีเองก็พบว่า วัฒนธรรมและภาษาสัมพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น ยกตัวอย่างเช่น วัฒนธรรมของกลุ่มคนที่อยู่แถบเส้นศูนย์สูตรซึ่งมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีการใช้คำหลากหลายเพื่ออธิบายการกิน การปรุง หรือแม้แต่รสชาติอาหารที่ละเอียดลออแตกต่างกัน
ยกตัวอย่างเช่น การปรุงอาหารในภาษาไทย มีทั้งการผัด ทอด อุ่น ตุ๋น ย่าง ปิ้ง ซึ่งเป็นการแยกแยะกรรมวิธีการปรุงแต่ละชนิดออกจากกัน แต่ก็อาจจะไม่ละเอียดเท่าภาษาอังกฤษที่มีทั้ง fried, deep-fried, stir-fried เพราะภาษาไทยมีแค่ทอดกับผัด นั่นอาจเป็นเพราะการทอดเพิ่งเข้ามาในวัฒนธรรมไทยไม่นาน หากแต่รสอาหารของไทยมีคำอธิบายขยายได้ละเอียดกว่า
ในส่วนของสมองและประสาทสัมผัสก็เช่นกัน นักวิทยาศาสตร์พบว่า กลุ่มคนที่มีถิ่นฐานต่างกัน วัฒนธรรมและการใช้ภาษาที่ต่างกัน มีการทำงานของสมองต่างกัน ตัวอย่างเช่น ภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส หรือสเปน ล้วนมีการแบ่งคำและประโยคที่เน้นเรื่องเพศของคำและลำดับเวลา ในขณะที่ภาษาในแถบเอเชียไม่ได้ให้ความสำคัญกับการผันคำไปตามเพศและเวลาเท่าใดนัก และด้วยตัวภาษาที่มีการผันคำไปในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้สมองของคนที่พูดต้องมุ่งเน้นและปรับความคิดตามเช่นกัน
จากการศึกษาพบว่า สมองทำงานต่างกันอย่างเห็นได้ชัดในคนที่พูดภาษาต่างกัน และหากลองตรวจสมองของคนที่พูดได้สองภาษา การเปลี่ยนภาษาพูดไปมายิ่งแสดงให้เห็นถึงการทำงานของสมองที่ต่างกันอย่างชัดเจน คนที่พูดสองภาษา (Bilingual) มีความสามารถในการพลิกแพลงความรู้และความเข้าใจองค์ความรู้ได้ดีกว่า ศาสตราจารย์ Panos Athanasopoulos นักภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Lancaster และศาสตราจารย์ Emanuel Bylund จากมหาวิทยาลัย Stellenbosch และมหาวิทยาลัย Stockholm พบว่าคนที่พูดสองภาษาได้อย่างคล่องแคล่วมีการทำงานของสมองตามการรับรู้เรื่องเวลาต่างกันตามภาษาหลักที่พวกเขาใช้
ถ้าหากพิจารณาภาษาในกลุ่มประเทศที่ใกล้กันอย่างภาษาอังกฤษและสวีดิชซึ่งมาจากยุโรปเหมือนกัน ผู้ใช้ทั้งสองภาษานี้รับรู้เกี่ยวกับเวลาในรูปแบบของระยะทาง (distance) เช่น how long หรือ what a long day ในขณะที่ภาษากรีกและสเปนรับรู้ในแง่ปริมาณ (volume) นักวิทยาศาสตร์และนักภาษาศาสตร์แบ่งกลุ่มภาษาและการรับรู้ของสมองเกี่ยวกับเวลาออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มที่รับรู้ในแง่ระยะทางและในแง่ปริมาณ และศึกษาต่อเนื่องว่ากลุ่มคนพูดภาษาใดที่มีการรับรู้เรื่องเวลาในแง่มุมที่ต่างกันได้ดีกว่ากัน