เดี๋ยวนี้เวทีแสดงออกสำหรับวัยรุ่นมีเยอะแยะไปหมดแถมยังเปิดกว้างให้ประลองฝีไม้ลายมือกันหลายด้านหลายทักษะอีกต่างหาก ถ้าน้อง ๆ อยากลงสนามประกวดเพื่อพิสูจน์ความรู้ความสามารถ หาประสบการณ์ หรืออยากคว้ารางวัลมากอดให้สมใจเป็นใบเบิกทางก้าวสู่ฝัน และที่สำคัญผลงานการประกวดเหล่านี้นำไปใส่ใน Portfolio ยื่นเข้ามหาวิทยาลัยได้ กลเม็ดเคล็ด(ไม่)ลับแบบไหนที่ช่วยดึงศักยภาพของน้อง ๆ มาใช้จนกรรมการต้องร้อง “ว้าว” เจาะประเด็นเค้นหาคำตอบมาฝากกันแล้วกับ “สร้าง Portfolio เด็กสายประกวดต้องรู้” ตามมาดูกันเลยดีกว่า
ขึ้นชื่อว่าการประกวดสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็เห็นจะเป็นกติกาหรือเงื่อนไขที่ผู้จัดกำหนดไว้เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันและใช้เป็นเกณฑ์ตัดสินใช่ไหมล่ะครับน้อง ๆ ซึ่งแต่ละการประกวดกติกาก็จะต่างกันไปตามประเภทหรือสิ่งที่ผู้จัดอยากเห็น ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าก่อนที่น้อง ๆ จะลงมือสร้างสรรค์ผลงานต้องศึกษากติกาและเงื่อนไขให้ละเอียดซะก่อนว่ามีอะไรบ้างเพื่อไม่ให้ผิดพลาด เพราะไม่อย่างนั้นอาจเสียสิทธิ์ไปอย่างน่าเสียดายไงล่ะ เช่น หัวข้อที่กำหนด วัตถุประสงค์ ประเภทผลงาน ช่วงอายุ สถานที่ส่งผลงาน วันสุดท้ายของการส่งผลงาน ข้อห้ามเด็ดขาด เป็นต้น
ศึกษากติกาและเงื่อนไขเรียบร้อยแล้วขั้นต่อไปก็ต้องวางแผนสิ่งที่น้อง ๆ จะลงมือทำให้ชัดเจน นะครับ นอกจากทำให้สำเร็จเสร็จตามเวลาแล้วผลงานที่น้อง ๆ ทำออกมาก็จะมีประสิทธิภาพตามไปด้วย เช่น ประกวดงานเขียน น้อง ๆ ต้องศึกษาหัวข้อที่ได้มาแล้ววางเค้าโครงเรื่องก่อนที่จะลงมือเขียนจริง ป้องกันเนื้อหาวกไปเวียนมาหรือจะได้รู้ว่าประเด็นที่คิดไว้น่าสนใจมากน้อยแค่ไหน หรือแม้กระทั่งการประกวดหนังสั้นที่มีเยอะเหลือเกินใน พ.ศ. นี้ ก็ต้องวางแผนให้ชัดเจน ไม่ว่าตัวบทหรือการทำงานของทีมงานซึ่งอาจเป็นเพื่อน ๆ ของน้อง ๆ เอง จะช่วยให้ไม่เกิดปัญหาชวนปวดหัวกลางคัน และได้ผลงานดี ๆ สมความตั้งใจนั่นเอง
เชื่อเหลือเกินว่าหลายคนเห็นหัวข้อการประกวดปุ๊บจะลงมือทำปั๊บโดยที่ไม่ได้หาความรู้เรื่องนั้นเพิ่มเติม แล้วทำไมต้องหาความรู้เพิ่มเติมด้วยล่ะ ? นั่นก็เพราะเรื่องบางเรื่องอาจจะไกลตัวเราหรืออาจรู้แต่รู้ไม่จริงยังไงล่ะ ถ้าขืนน้อง ๆ ทำไปอย่างนั้นเท่ากับว่าไม่ได้รักสิ่งที่กำลังทำอยู่จริง ๆ ว่าไหมเอ่ย ฉะนั้นคราวหน้าก่อนที่จะลงสนามประกวดลองหาความรู้หรือข้อมูลเพิ่มเติมด้วยเป็นไง อย่างการประกวดแผนโครงการฯ หรืองานเขียน ข้อมูลที่พี่พูดถึงก็จะมีส่วนช่วยสนับสนุนความคิดสร้างความน่าเชื่อถือให้ผลงานของน้อง ๆ มากขึ้นอีกด้วย
“งานแบบนี้เคยเห็นเคยได้ยินมาเยอะแยะดูน่าเบื่อ ไม่มีอะไรน่าสนใจ” คงเป็นเสียงสะท้อนจากกรรมการตัดสินการประกวดที่ต้องทนกับผลงานสุดจำเจ ไม่น่าตื่นเต้นหรือชวนให้พูดถึงเอาซะเลย สิ่งที่น้อง ๆ ต้องให้ความสำคัญคือการนำเสนอมุมมองใหม่ ๆ ไม่ซ้ำใครเพื่อให้ผลงานของเราดูโดดเด่นขึ้นมา เช่น การประกวดภาพถ่าย อาจเป็นภาพในมุมมองที่หาดูได้ยากหรือชวนคิดว่าคนถ่ายต้องการสื่ออะไร หรือการประกวดภาพวาดที่นอกจากเทคนิคแล้วมุมมองความคิดก็สำคัญไม่น้อยเลย จะทำยังไงล่ะให้ภาพวาดของเราเล่าเรื่องธรรมดาให้ไม่ธรรมดาได้ จะทำยังไงให้ภาพวาดหัวข้อ “ยิ้ม” คนดูภาพของเราแล้วยิ้มตามไปด้วยโดยที่ในภาพไม่ต้องวาดคนนั่งยิ้มลงไป แล้วพี่ก็เชื่อว่ามุมมองใหม่ ๆ เหล่านี้ช่วยให้น้อง ๆ เป็นนักสร้างสรรค์ที่ดีและมีความคิดกว้างไกลอีกด้วย อ้อ !! ที่สำคัญอย่าลอกเลียนแบบหรือดัดแปลงงานคนอื่นมาเป็นของตัวเองล่ะ อาจเกิดปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ตามมา เตือนไว้ก่อน!!
เชื่อว่าหลายคนส่งผลงานเข้าประกวดหวังรางวัลเป็นเรื่องแรก ๆ โดยส่วนตัวพี่คิดว่าไม่ผิดนะครับ เพราะมีส่วนช่วยสร้างแรงผลักดัน แต่เราก็ไม่ควรคาดหวังเรื่องนี้มากเกินไปจนเครียดและละเลยที่จะให้ความสำคัญกับผลงานที่ทำอยู่ยังไงล่ะ สู้เอาเวลาไปปรับปรุงแก้ไขผลงานของเราให้ดีตามที่ตั้งใจไว้ดีกว่า ผลจะออกมายังไงอย่างน้อยน้อง ๆ ก็ทำเต็มที่แล้ว แถมยังได้รู้ข้อผิดพลาดของตัวเองซึ่งเป็นโอกาสดีเลยที่จะได้พัฒนาให้ดีขึ้น นี่ก็เป็นรางวัลในการพัฒนาตัวเองใช่ไหมล่ะครับ
การประกวดดูเหมือนว่าเป็นเรื่องเอาเป็นเอาตายสำหรับหลายคน แต่พี่คิดว่านี่คือสนามแห่งมิตรภาพของคนที่รักและชอบเรื่องเดียวกันได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านผลงานและความคิดว่าไหมล่ะครับ ถ้าขืนเราอยู่แต่กับงานของตัวเอง ไม่เปิดมุมมองของคนอื่นเราก็ไม่ได้พัฒนาอะไรเลย ส่วนประโยชน์อีกอย่างสำหรับน้อง ๆ มัธยมหรือมหา’ลัยพี่คิดว่าเวทีเหล่านี้เป็นใบเบิกทางให้น้อง ๆ ก้าวไปสู่ฝันได้เร็วขึ้นอีกด้วย หลายคนใช้รางวัลที่ได้รับจากการประกวด เช่น เกียรติบัตร เหรียญรางวัล โล่รางวัล ฯลฯ สะสมเป็น Portfolio ใช้ประกอบสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อหรือทำงาน หรือเดี๋ยวนี้หลายมหา’ลัยเปิดรอบ Portfolio เพื่อคัดนักศึกษาเข้าเรียนต่อก็เห็นมากขึ้นใช่ไหมล่ะ ฉะนั้นน้อง ๆ ที่รู้ตัวว่ามาสายประกวดนอกจากความสุขที่ได้ทำหรือรอยยิ้มจากรางวัลที่ได้รับ ก็อย่าลืมต่อยอดความรู้ พัฒนาตัวเอง และใช้รางวัลเหล่านั้นสร้างประโยชน์ต่อไปด้วยนะครับ
1. ประกวดงานเขียน เช่น เรียงความ, บทความ, เรื่องสั้น, นวนิยาย, บทกวี, คำขวัญ เป็นต้น
2. ประกวดการพูด/การอ่าน เช่น สุนทรพจน์, โต้วาที, อ่านออกเสียง, อ่านทำนองเสนาะ, อ่านข่าวโทรทัศน์ เป็นต้น
3. ประกวดภาพยนตร์/คลิปวิดีโอ/แอนิเมชัน/กราฟิก เช่น ภาพยนตร์สั้น, ภาพยนตร์โฆษณา, การ์ตูนแอนิเมชัน เป็นต้น
4. ประกวดออกแบบ เช่น ตราสัญลักษณ์ (โลโก้), มาสคอต, แบบบ้าน, เสื้อยืด เป็นต้น
5. ประกวดสิ่งประดิษฐ์ เช่น สิ่งประดิษฐ์เพื่อสิ่งแวดล้อม, สิ่งประดิษฐ์ประหยัดพลังงาน เป็นต้น
6. ประกวดแผนโครงการ/นวัตกรรม เช่น แผนโครงการด้านธุรกิจ, แผนโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยว, นวัตกรรมด้านพลังงาน เป็นต้น
7. ประกวดร้องเพลง/ดนตรี/เต้น/เดินแบบ
8. ประกวดภาพถ่าย
9. ประกวดวาดภาพ
1. เพจเฟซบุ๊ก Plook TCAS
2. เว็บไซต์ contestwar.com
3. ข่าวประชาสัมพันธ์ของแต่ละหน่วยงานตามสื่อต่าง ๆ เช่น วารสาร เว็บไซต์ ป้ายประกาศ ฯลฯ
เรื่องที่เอามาฝากกันวันนี้ไม่ได้จะบอกว่าทุกคนต้องประกวด ต้องกวาดรางวัลเยอะ ๆ แต่อยากให้เห็นว่าการประกวดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยพัฒนาความรู้ความสามารถของน้อง ๆ ได้ แต่ควรพอดี ไม่นึกถึงรางวัลมากเกินไป ทำด้วยความสุข รู้แพ้รู้ชนะ นอกจากนี้ก็ต้องรู้เทคนิคสร้างสรรค์ผลงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นเรื่อย ๆ และถ้าผลงานเหล่านั้นเกิดประโยชน์กับคนอื่นด้วยจะดีมาก ใครจะรู้ล่ะว่าความคิดของน้อง ๆ ที่สื่อออกมาผ่านผลงานประกวดเล็ก ๆ ในวันนี้อาจเปลี่ยนแปลงสิ่งดี ๆ ให้เกิดขึ้นในอนาคตได้
เรื่อง : ภานุวัฒน์ มานพ