Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

12 อาหารที่ไม่ควรกินตอนท้องว่าง

Posted By sanomaru | 28 ก.พ. 61
94,916 Views

  Favorite

ร่างกายของเราต้องการสารอาหารเพื่อให้สามารถทำกิจกรรมในแต่ละวันและมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ แต่การจะได้สารอาหารมาจำเป็นต้องผ่านกระบวนการย่อยและการดูดซึมสารอาหาร ตั้งแต่ปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ไปจนถึงลำไส้ใหญ่ หากเราเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และครบ 5 หมู่ ร่างกายก็จะได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม เพื่อสงวนอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการย่อยอาหารให้สามารถทำงานไปได้อีกนาน ๆ ในการเลือกรับประทานอาหารตอนท้องว่างก็มีข้อควรระวังอยู่ด้วย ไม่เช่นนั้นอาหารบางอย่างอาจจะกลายเป็นสิ่งที่กลับมาทำร้ายเราก็เป็นได้

 

อาหารที่ไม่ควรกินตอนท้องว่าง

1. ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะนาว สับปะรด

แม้ว่าผลไม้ที่มีรสเปรี้ยวเหล่านี้จะเป็นแหล่งวิตามินซีที่ดี แต่ก็มีความเป็นกรดอ่อน ๆ (กรดซิตริก, Citric Acid, C6H8O7) ซึ่งสามารถทำร้ายกระเพาะของเราได้ หากกระเพาะของเราไม่มีอาหารอยู่เลยในขณะที่เรารับประทานผลไม้รสเปรี้ยวเหล่านี้ กรดจากผลไม้รสเปรี้ยวก็พร้อมที่จะกัดกร่อนกระเพาะอาหารได้ ซึ่งนำไปสู่อาการแสบท้อง ระคายเคืองในกระเพาอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร หรือการอักเสบอย่างรุนแรง

 

2. กล้วยหอม

กล้วยหอมเป็นผลไม้ที่มีธาตุแมกนีเซียม (Mg) ในปริมาณสูง ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีภาวะของโรคหัวใจ เพราะหากมีโพแทสเซียมในเลือดสูง จะมีผลต่อศักย์ไฟฟ้าของเยื่อหุ้มเซลล์ กล้ามเนื้อ ระบบประสาท และทำให้หัวใจเต้นผิดปกติได้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้มีภาวะของโรคหัวใจก็ไม่ควรรับประทานกล้วยหอมในมื้อเช้าของวันเช่นกัน เพราะมันจะทำให้ง่วงซึมได้

 

3. ผักใบเขียว

ผักใบเขียวดูจะเป็นอาหารสุขภาพ และมันก็น่าจะดีต่อสุขภาพหากไม่ได้รับประทานในตอนที่ท้องว่างหรือเป็นมื้อเช้าของวัน เนื่องจากหากรับประทานตอนท้องว่างแล้วละก็ อาจจะทำให้รู้สึกเสียดท้อง ท้องอืด หรือปวดท้องได้ เพราะผักใบเขียวมีเส้นใยที่ค่อนข้างหยาบทำให้ย่อยได้ยาก อย่างไรก็ตาม แนะนำให้รับประทานผักใบเขียวมากขึ้นได้ในช่วงบ่ายหรือเย็น พวกมันเป็นแหล่งวิตามินที่ดีและบางชนิดยังมีธาตุเหล็กสูงอีกด้วย

 

4. โซดาหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่ให้ความซ่า (มีกรดคาร์บอนิก)

โซดาหรือเครื่องดื่มที่ให้ความซ่ามักมาคู่กับกรดคาร์บอนิก ซึ่งเป็นปฏิกิริยาในน้ำอัดลม กรดคาร์บอนิกในเครื่องดื่มเหล่านี้จะเข้าไปผสมกับกรดในกระเพาะอาหาร และเมื่อไม่มีอาหารใด ๆ อยู่ในกระเพาะอาหาร กรดดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะกัดกร่อนผนังกระเพาะอาหาร รวมทั้งเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้ วิงเวียน ปวดท้องเนื่องจากมีลมในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง ยังนำไปสู่โรคเบาหวาน โรคอ้วน และทำให้กระบวนการเมทาบอลิซึมช้าลง

 

5. อาหารรสเผ็ด

หากเรารับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดในช่วงกลางวันหรือเย็น มันก็อาจจะช่วยให้สุขภาพดี นอกจากนี้งานวิจัยบางงานยังระบุว่า การรับประทานอาหารรสเผ็ดสัมพันธ์กับการลดลงของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง แต่หากเรารับประทานเป็นมื้อแรกเมื่อท้องว่าง อาหารรสเผ็ดจะกลายเป็นสาเหตุของการกระตุ้นระบบย่อยอาหารให้ระคายเคือง ทำลายน้ำเมือกที่เคลือบกระเพาะอาหารอยู่ และนำมาซึ่งอาการปวดท้องในที่สุด

 

6. มะเขือเทศ

มะเขือเทศดูจะเป็นอาหารที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และมันก็เป็นเช่นนั้นหากเรารับประทานมันในเวลากลางวัน เนื่องจากมะเขือเทศมีแคโรตินอยด์สูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระและมะเร็ง แต่หากรับประทานมันในยามที่ท้องว่าง กรดแทนนิก (tannic) ซึ่งเป็นกรดอ่อน ๆ จากมะเขือเทศ จะกระตุ้นกระเพาะอาหาร ทำให้เกิดการระคาายเคืองและความเจ็บปวด ตลอดจนเป็นแผลในกระเพาะอาหารได้

 

7. ลูกแพร์

ลูกแพร์เป็นผลไม้ที่มีเส้นใยหยาบ ดังนั้น หากรับประทานลูกแพร์ในช่วงเช้า จะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานหนัก เป็นอันตรายต่อลำไส้เล็ก ซึ่งมันจะดีกว่ามากหากเลือกที่จะรับประทานลูกแพร์ในช่วงกลางวัน เพราะมันประกอบไปด้วยสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายจำนวนมาก

 

8. ของหวานหรือน้ำผลไม้หวาน ๆ ในปริมาณมาก

หากคุณดื่มรับประทานอาหารที่มีรสหวานปริมาณมาก ๆ ในตอนเช้า จะทำให้ตับอ่อนของคุณทำงานหนักขึ้นทั้งที่มันเพิ่งจะตื่นหลังจากพักผ่อนมานานหลายชั่วโมง เนื่องจากต้องผลิตอินซูอินออกมามากเพื่อรักษาระดับน้ำตาลให้เลือดให้เป็นปกติ ส่วนน้ำผลไม้ที่มีรสหวานจัดก็เป็นสาเหตุให้ตับต้องทำงานหนัก จากการเผาผลาญน้ำตาลฟรุกโทสซึ่งเป็นน้ำตาลที่มาจากผลไม้

 

9. โยเกิร์ต

โยเกิร์ตประกอบด้วยโพรไบโอติกส์ ซึ่งเป็นแบคทีเรียดีที่ช่วยให้ลำไส้แข็งแรง แต่ถ้าคุณรับประทานมันตอนท้องว่าง กรดไฮโดรคลอริกซึ่งกระเพาะอาหารหลั่งออกมาจะทำอันตรายต่อแบคทีเรียได้ จึงเป็นการดีกว่าถ้าจะรับประทานโยเกิร์ตหลังมื้ออาหาร

 

10. อาหารที่มียีสต์เป็นส่วนประกอบ เช่น ขนมอบ พัฟฟ์

อาหารที่มียีสต์เป็นส่วนประกอบสามารถเพิ่มระดับของยีสต์ในร่างกาย ซึ่งนำไปสู่ปัญหาผื่นบนผิวหนังหรือการติดเชื้อในกระเพาะอาหาร

 

11. เครื่องดื่มเย็น ๆ

การดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ ในตอนท้องว่าง เป็นการลดการไหลเวียนของเลือดในส่วนของระบบย่อยอาหาร ซึ่งส่งผลให้กระบวนการย่อยอาหารช้าลง และยังมีส่วนทำลายเยื่อเมือกบุผิวในกระเพาะอาหารด้วย


12. กาแฟ

กาแฟเป็นเครื่องดื่มที่คนส่วนใหญ่นิยมดื่มในตอนเช้า เพื่อให้รู้สึกตื่นตัว ไม่ง่วงนอน แต่ทราบหรือไม่ว่า การดื่มกาแฟขณะท้องว่างจะไปกระตุ้นการหลั่งของกรดไฮโดรคลอริกในกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหารอักเสบได้ นอกจากนี้กาแฟยังเป็นตัวขัดขวางการดูดซึมวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย ดังนั้น ควรดื่มกาแฟหลังจกาผ่านมื้ออาหารไปแล้ว 2-3 ชั่วโมงเพื่อให้ร่างกายมีเวลาได้ดูดซึมสารอาหารได้อย่างเต็มที่เสียก่อน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow