Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คอนแทคเลนส์ อุปกรณ์เพื่อการมองเห็น

Posted By Plook Creator | 27 ก.พ. 61
8,211 Views

  Favorite

ดวงตาคือหน้าต่างของดวงใจ และแม้ว่าเรามักจะเปรยถึงดวงตาที่สะท้อนสิ่งที่เจ้าของเป็นออกมาได้ แต่ความจริงทางวิทยาศาสตร์นน่าจะต้องกล่าวว่า ดวงตาคือหน้าต่างของโลก เพราะมันทำให้เจ้าของดวงตานั้นสามารถมองเห็นสิ่งที่อยู่ภายนอกได้ มันไม่ได้สะท้อนสิ่งที่อยู่ในจิตใจ แต่เป็นตัวกลางรับแสงที่ส่งจากแหล่งกำเนิดและตกกระทบกับวัตถุ ก่อนจะสะท้อนเข้าหาตาของเราต่างหาก

 

แม้ว่าการอธิบายเกี่ยวกับการทำงานของดวงตาและการมองเห็น อาจจะกล่าวได้สั้น ๆ ง่าย ๆ อย่างในข้างต้น แต่ความเป็นจริงมันไม่ได้จบง่ายแค่นั้น มันเกิดอะไรขึ้นภายในดวงตาจึงทำให้เรามองเห็น หรือเรามองเห็นในที่มืดได้ยาก แต่ทำไมสัตว์อื่นจึงทำได้ หรือการแก้ไขภาวะสายตาที่ผิดปกติ สามารถทำได้เพียงแค่การใส่แว่นหรือคอนแทคเลนส์เท่ากันหรือ

ภาพ : Shutterstock

 

ภาพ : Shutterstock

 

ดวงตาเป็นอวัยวะที่ซับซ้อนที่สุดอวัยวะหนึ่งในร่างกายเรา มันประกอบด้วยส่วนประกอบหลักกว่า 11 ชิ้นด้วยกัน นับจากส่วนที่มองเห็นได้ชัดอย่างตาขาว ซึ่งประกอบด้วยส่วนกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่คอยปกป้องและคงสภาพดวงตาให้เป็นทรงกลม ส่วนของตาดำจริง ๆ แล้วประกอบด้วย 1)รูม่านตาซึ่งแสงส่องผ่านเข้าด้านในได้ 2) ม่านตา คือ ส่วนที่ปรับและควบคุมปริมาณแสงที่จะส่องผ่านรูม่านตาและยังเป็นส่วนที่ทำให้ตามีสีต่าง ๆ 3) กระจกตา คือ ส่วนโค้งใสที่อยู่นอกสุดซึ่งปกป้องม่านตา รูม่านตา และยังทำงานร่วมกับเลนส์ตาในการปรับและเบี่ยงเบนแสงให้ตกด้านหลังสุดของลูกตา ซึ่งเป็นส่วนที่เรียกว่าจอตา อันประกอบไปด้วยเซลล์รับแสงชนิดต่าง ๆ เป็นจำนวนหลายล้านเซลล์ และเซลล์รับแสงเหล่านี้นี่เองที่จะเปลี่ยนแสงที่ได้รับให้กลายเป็นสัญญาณประสาทส่งไปยังสมอง เพื่อประมวลผลต่อให้กลายเป็นภาพในที่สุด ส่วนกลางสุดของจอตาเรียกว่าจอประสาทตา หากแสงตกกระทบลงบริเวณนี้จะให้ภาพที่ชัดที่สุด

 

นอกจากตาขาวซึ่งช่วยปกป้องและคงสภาพตาให้เป็นทรงกลม ภายในลูกตาก็ยังมีส่วนน้ำวุ้นลูกตาซึ่งมีลักษณะเหมือนวุ้นหรือเยลลี่ มีหน้าที่ช่วยคงสภาพและรูปทรงของลูกตา หากดวงตา หรือเลนส์ตา มีความผิดปกติจนทำให้แสงที่ควรจะตกกระทบบริเวณจอตาไปตกกระทบหรือเกิดจุดโฟกัสก่อนหรือหลังจอตา จะทำให้ภาพที่ได้ไม่ชัด และนั่นทำให้เราต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเพื่อปรับให้จุดโฟกัสไปตกบริเวณจอตาพอดี หากเป็นสมัยก่อนเราอาจจะใช้กระจกเจียระไนให้มีการรวมแสงที่พอเหมาะ เมื่อมารวมกับการตกกระทบของแสงจากเลนส์ตาของเราแล้วจะทำให้มันตกบริเวณจอตาพอดี และนั่นคือที่มาของแว่นตาในยุคแรก

 

ในยุคต่อมาจึงปรับเปลี่ยนมาใช้วัสดุทดแทนซึ่งมีความคงทนกว่า แตกยากกว่า แก้ไขง่าย และมีราคาถูกกว่า แต่มันก็ยังเป็นแว่นตาทรงเดิม ๆ จนกระทั่งเรามีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีการผลิตพลาสติกที่มีคุณภาพสูง สามารถใช้กับอวัยวะที่มีความบอบบางอย่างดวงตาเราได้ ด้วยหน้าที่การทำงานที่คล้ายกัน แต่สะดวกมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องมีอุปกรณ์ส่วนขยายยื่นออกมาจากร่างกาย และนั่นทำให้เรามีสิ่งที่เรียกว่า ​คอนแทคเลนส์ (contact lenses)


คอนแทคเลนส์ถูกผลิตในเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 1970 ก่อนหน้านั้นไม่ว่าคุณจะมีสายตาสั้นหรือยาว สิ่งที่คุณทำได้คือ การเลือกกรอบแว่น แต่หลังจากนั้นมันเป็นการเลือกชนิดของเลนส์ว่านิ่มหรือแข็ง อายุการใช้งาน หรือแม้แต่สีของเลนส์ เลนส์นิ่มหรือแข็งต่างกันอย่างไร เลนส์ชนิดแข็ง ไม่ได้แข็งมากอย่างเลนส์ของแว่น แต่มันก็แข็งมากพอที่จะคงสภาพได้เป็นเวลานาน มีอายุการใช้งานนานกว่า อาจเป็นหนึ่งปีหรือมากกว่านั้นหากดูแลรักษาดี ๆ มันจะถูกผลิตมาเพื่อให้เข้ากับความโค้งของเลนส์ตาของคุณและช่องรับแสงของดวงตา

ภาพ : Shutterstock

 

อย่างไรก็ดีการเริ่มใช้คอนแทคเลนส์ก็ยังจำเป็นต้องตรวจวัดสายตาอยู่ดี แม้ว่ามองดูผิวเผินแล้วตาของคุณอาจจะโค้งได้รูปสวยงาม แต่ความจริงแล้ว จอตา (Retina) และม่านตา (Iris) ของคุณรวมกันแล้วมีความขรุขระ ไม่เรียบ ไม่สมบูรณ์แบบอยู่บ้าง และสิ่งนี้เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละคน เลนส์ชนิดแข็งเริ่มต้นจากแท่งพลาสติกทรงกระบอก ก่อนจะถูกเจียนขัดด้านนอกให้มีขนาดเท่ากับม่านตา และด้านในของเลนส์ก็จะถูกเจียนให้เข้ากับส่วนโค้งและความขรุขระของม่านตาและจอตาของผู้สวมใส่

 

ส่วนเลนส์ชนิดนิ่มซึ่งเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้มากกว่าแต่เป็นชนิดที่อายุการใช้งานสั้นกว่า โดยปกติแล้วใช้เพียง 1 วันหรือ 1 เดือน มันเริ่มต้นจากพลาสติกเหลวซึ่งจะถูกผสมสีฟ้าอ่อน  ๆ เข้าไป ทำให้หาได้ง่ายหากคุณทำหล่น แต่ไม่ส่งผลต่อการมองเห็นเมื่อสวมใส่ พลาสติกแล้วจะถูกเทลงบนพิมพ์ ประกบปิด และอบด้วยความร้อน 97 องศาเซลเซียสจนแห้งเป็นแผ่น มันจะถูกตรวจสอบคุณภาพก่อนจัดเก็บในหีบห่อที่หล่อด้วยสารเคมีคล้ายน้ำตาเทียมเพื่อคงสภาพและความชุ่มชื้น จากนั้นจึงนำไปฆ่าเชื้อให้สะอาด

ภาพ : Shutterstock

 

การทำงานของคอนแทคเลนส์ร่วมกับดวงตาของเรา เหมือนกับการทำงานของแว่นเพียงแต่ส่วนเสริมที่เพิ่มเข้ามาเพื่อปรับแต่งการเบี่ยงเบนของแสงให้ตกที่จอตาอย่างถูกต้องไม่ได้อยู่นอกดวงตา คอนแทคเลนส์จะแปะอยู่บริเวณรูม่านตา ซึ่งแม้ว่าจะสะดวกกว่าในการสวมใส่ สามารถกรอกตาไปมาและยังมองเห็นได้ชัดเจน ไม่เหมือนแว่นตาที่หากชำเลืองออกนอกกรอบเลนส์ก็เห็นภาพไม่ชัดแล้ว แต่การใช้คอนแทคเลนส์ก็มีความเสี่ยงมากกว่า สร้างความระคายเคืองให้กับดวงตาได้ง่ายกว่า หากดูแลรักษาความสะอาดไม่ดี ก็ทำให้ตาติดเชื้อ ดวงตาได้รับความเสียหายในระยะยาวได้

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow