ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ เส้นผ่านศูนย์กลางของมันมีขนาด 14 ล้านกิโลเมตร ใหญ่กว่าโลก 109 เท่า และใหญ่กว่าดวงจันทร์ถึง 400 เท่า โดยปกติดวงอาทิตย์มีระยะทางห่างจากโลกเฉลี่ย 150 ล้านกิโลเมตร
ดวงจันทร์ เป็นดาวบริวารของโลก มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3,474 กิโลเมตร มีระยะห่างจากโลกโดยเฉลี่ย 384,400 กิโลเมตร มีแกนเอียง 6.68 องศา และใช้เวลาประมาณ 1 เดือนในการโคจรรอบโลก 1 รอบ
โลก เป็นดาวเคราะห์ลำดับที่ 3 (จากดวงอาทิตย์) ในระบบสุริยะ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12,742 กิโลเมตร และมีแกนเอียง 23.45 องศา
แม้ว่าดวงจันทร์จะมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ถึงประมาณ 400 เท่า แต่ระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ก็ใกล้กว่าระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ถึง 400 เท่าเช่นกัน ดังนั้น เมื่อมองจากโลกแล้ว ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จึงดูเหมือนจะมีขนาดใกล้เคียงกัน ทำให้ขณะที่ดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์เมื่อเกิดสุริยุปราคา จึงสามารถซ้อนทับกันได้เกือบพอดี
เนื่องจากดวงจันทร์และโลกไม่ได้โคจรอยู่ในระนาบเดียวกันแต่โคจรอยู่ในระนาบที่แตกต่างกันประมาณ 5 องศา ดังนั้น การเกิดสุริยุปราคาซึ่งเกิดจากการเรียงตัวของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกในระนาบเดียวกัน จึงไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นได้บ่อยครั้งนัก อาจเกิดขึ้น 2 ครั้งต่อปีหรือมากที่สุดไม่เกิน 5 ครั้ง โดยปกติแล้วสุริยุปราคาจะเกิดขึ้นเฉพาะในวันแรม 15 ค่ำ และเกิดในช่วงใกล้เคียงกับจันทรุปราคาที่จะเกิดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ
ในการเกิดสุริยุปราคาแต่ละครั้งมีระยะเวลาที่ไม่แน่นอน ขึ้นกับปัจจัยหลายประการ เช่น ระยะห่างจากโลกถึงดวงอาทิตย์ในช่วงที่เกิด ความเร็วในการโคจรของดวงจันทร์ (หากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกจะมีการเคลื่อนที่ที่เร็วขึ้น) นอกจากนี้ยังขึ้นกับพื้นที่ที่มองเห็นการเกิดสุริยุปราคาด้วย
เมื่อดวงจันทร์โคจรมาบดบังดวงอาทิตย์ทั้งหมดไว้จะทำให้เกิดเงา 2 ชนิด คือ เงามืดและเงามัว
- เงามืด (Umbra) เป็นเงาส่วนที่มืดที่สุด ซึ่งเกิดขึ้นในบริเวณที่อยู่ตรงกับดวงจันทร์
- เงามัว (Penumbra) เป็นเงาส่วนที่ยังมีแสงสลัว โดยเงามัวนี้จะอยู่รอบ ๆ เงามืดอีกที
ไม่ใช่ทุกครั้งของการเกิดสุริยุปราคา ที่ดวงจันทร์จะเข้าบดบังดวงอาทิตย์ไว้ทั้งหมด เพราะในบางครั้งของการเกิดสุริยุปราคา ดวงจันทร์ก็เข้าบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากระนาบของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก ไม่ได้ซ้อนกันพอดี ดังนั้น จึงแบ่งสุริยุปราคาออกได้เป็น 3 ประเภท
1. สุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลกในระนาบเดียวกัน และบดบังดวงอาทิตย์ไว้ทั้งหมด ทำให้เกิดเงามืด และบริเวณที่เกิดเงามืดจะคล้ายกับเวลากลางคืน โดยในการเกิดแต่ละครั้งมีเพียงบางพื้นที่เท่านั้นที่จะสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้
2. สุริยุปราคาวงแหวน (Annular Solar Eclipse) เกิดขึ้นในลักษณะคล้ายสุริยุปราคาเต็มดวง แต่เนื่องจากเรามองเห็นดวงจันทร์ในขณะนั้นมีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์ จึงยังเหลือขอบของดวงอาทิตย์ให้เห็นเป็นแสงสว่างได้
3. สุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และโลก แต่ไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกันโดยสมบูรณ์ ดวงจันทร์จึงบดบังดวงอาทิตย์เพียงบางส่วนเท่านั้น เราจึงเห็นดวงอาทิตย์ในลักษณะเป็นเสี้ยว
ในขณะที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวง ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ทั้งดวงแล้ว จะมองเห็นแสงบาง ๆ กระจายออกมาจากรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ ที่เรียกว่าโคโรนา (Corona) ซึ่งเป็นส่วนนอกสุดของชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์
การสังเกตสุริยุปราคา จำเป็นต้องมองผ่านอุปกรณ์กรองแสงต่าง ๆ ตาของเราไม่สามารถมองดวงอาทิตย์ตรง ๆ ได้โดยปราศจากเครื่องป้องกันสายตา เนื่องจากรังสียูวีจากดวงอาทิตย์สามารถทำลายเรตินาในดวงตาของเราได้ ซึ่งอาจถึงขั้นตาบอดได้ แต่เราสามารถมองดวงอาทิตย์ได้โดยตรงในขณะที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงเท่านั้น