Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

KEEP CALM AND LOVE NUCLEAR TECHNOLOGY

Posted By TINT Nuclear Club | 14 ก.พ. 61
963 Views

  Favorite

อย่างเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในประเทศไทยก็เหมือนกัน ที่มีต้นกำเนิดมาจากความรักหลายรูปแบบ และอาจจะเข้าไปอยู่ในความรักจากการใช้ชีวิตประจำวันของหลายๆ คนอย่างไม่รู้ตัวแล้วก็ได้ ฉะนั้นเมื่อเราได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง เกี่ยวกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็อย่าเพิ่งกลัว หรือคิดว่ามันร้ายแรงเสมอไป ใจเย็นๆ และลองมาทำความเข้าใจกันว่า เทคโนโลยีนิวเคลียร์นั้นมอบความรักอย่างไรให้กับเราบ้าง


รักสันติ : การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อประโยชน์ด้านอุตสาหกรรม

 

จริงๆ แล้วการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์เข้ามาใช้ในประเทศไทยนั้นก็เพื่อกิจการอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และประชาชนทั่วไป ดังนั้นการใช้วัสดุกัมมันตรังสี และเทคนิคทางรังสีในทางอุตสาหกรรม ซึ่งเรียกว่า เทคนิคเชิงนิวเคลียร์ เป็นการนำพลังงานนิวเคลียร์มาใช้เพื่อประโยชน์ในทางสันติ

 

สำหรับประเทศไทย ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ ดังนี้

 

-ใช้ตรวจสอบระดับเศษไม้ในหม้อนึ่งภายใต้ความดันสูง ในการผลิตไม้อัดแผ่นเรียบด้วยรังสีแกมมา
- ใช้วัดระดับของไหล สารเคมีต่างๆ ในขบวนการผลิตในโรงงานเส้นใยสังเคราะห์ด้วยรังสีแกมมา

- ควบคุมการไหลผ่านของส่วนผสมในการผลิตปูนซีเมนต์

- วัดความหนาแน่นของน้ำปูนกับเส้นใยหิน ในขบวนการผลิตกระเบื้องกระดาษ

- วัดความหนาแน่นในการดูดสินแร่ในทะเล เพื่อคำนวณหาปริมาณแร่ที่ดูดผ่าน

- วัดและควบคุมความหนาแน่นของน้ำโคลนที่จะใช้ในการขุดเจาะอุโมงค์ส่งน้ำใต้ดิน

- ควบคุมขบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์เครื่องแก้วให้มีความหนาสม่ำเสมอ

- วัดหาปริมาณสารตะกั่วหรือธาตุกำมะถันในผลิตภัณฑ์น้ำมันปิโตเลียม

- ควบคุมความหนาของเนื้อยางที่เคลือบบนแผ่นผ้าใบในขบวนการผลิตยางรถยนต์

- ควบคุมน้ำหนักของกระดาษต่อหน่วยพื้นที่ในอุตสาหกรรมผลิตกล่องกระดาษ

- ใช้เป็นเครื่องขจัดประจุกระแสไฟฟ้าสถิตย์บน แผ่นฟิล์ม ฟิล์มภาพยนต์ หลอดแก้วที่ใช้ บรรจุผลิตภัณฑ์  เวชภัณฑ์ต่างๆ

- ใช้ตรวจสอบความรั่วซึมในการผนึกแน่นวงจรไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ IC, Semiconductor Watch module ต่างๆ ด้วยก๊าซ คริปตอน-85

- ใช้ตรวจสอบและถ่ายรอยเชื่อมโลหะ หาความสึกหรอโดยวิธไม่ทำลายชิ้นงาน มีทั้งการใช้ X-rays, Gamma rays, และ Neutron radiography

- ใช้ในการสำรวจหาแหล่งน้ำมันใต้ดิน ความชื้นใต้ดินฯลฯ ด้วยรังสีนิวตรอน

- ใช้ทำสีเรืองแสง

- ใช้วัดหาปริมาณเถ้าของลิกไนต์

- การวิเคราะห์แร่ธาตุด้วยเทคนิคเชิงนิวเคลียร์ สำหรับการสำรวจทรัพยากรในประเทศ (Neutron activation and X-ray fluorescence analysis)

- การใช้รังสีแกมมาเพื่อห่าเชื้อในเครื่องมือเวชภัณฑ์ เช่น กระบวนการฉีดยาสายน้ำเกลือ ถุงเลือด ถุงมือ เป็นต้น
 



รักชีวิต : การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อประโยชน์ด้านการแพทย์และอนามัย

 

เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (Nuclear medicine) คือการนำเอาสารรังสี หรือรังสีมาใช้ในการตรวจ การรักษา และด้านการค้นคว้าศึกษาการทำงานของระบบอวัยวะในร่างกายเพื่อช่วยในการตรวจวิเคราะห์หรือรักษาโรค บรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ย่นระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล และรักษาโรคได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และดียิ่งขึ้น

 

ประโยชน์จากรังสีในทางการแพทย์มีหลายด้าน ดังต่อไปนี้ 

1. ด้านการตรวจและวินิจฉัยโรค (Diagnosis) 

การถ่ายเอกซเรย์ 
เพื่อตรวจความผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย เช่น ฟัน ปอด กระดูก 


การตรวจการทำงานของระบบอวัยวะ โดยให้ผู้ป่วยรับประทาน หรือฉีดสารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย แล้วทำการถ่ายภาพอวัยวะ จะช่วยให้แพทย์ทราบถึงบริเวณที่แน่นอนของอวัยวะที่สูญเสียหน้าที่ไป สารกัมมันตรังสีที่นำมาใช้ ได้แก่ 


- Gallium-67 ใช้ตรวจการอักเสบต่างๆ การเป็นหนอง เช่น ในช่องท้อง และใช้ตรวจหาการแพร่กระจายของมะเร็งในต่อมน้ำเหลือง

- Krypton-81 m ใช้ตรวจการทำงานของหัวใจ 

- Technetium-99 m ใช้ตรวจการทำงานระบบต่างๆ เช่น ไทรอยด์ กระดูก สมอง ปอด ตับ ม้าม ไต และหัวใจ 

- Indium-111 ใช้ติดตามเม็ดเลือดขาวเพื่อตรวจหาบริเวณอักเสบ ของร่างกาย ตรวจการอุดตันของไขสันหลัง ตรวจมะเร็งเต้านม รังไข่ และลำไส้ 

- Iodine-131 ใช้ตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ 

- Gold-195 ใช้ตรวจการไหลเวียนของโลหิต

- Thallium-201 ใช้ตรวจสภาพหัวใจเมื่อทำงานเต็มที่ ตรวจสภาพการไหลของโลหิตเลี้ยงหัวใจ และตรวจสภาพกล้ามเนื้อหัวใจ 

 

2. ด้านการบำบัดรักษาโรค (Radiotherapy) 

โดยทั่วไปได้มีการใช้รังสีในการรักษาโรคมะเร็ง และเนื้องอก ดังตัวอย่างต่อไปนี้ 

 

- Phosphorus-32 ใช้รักษาภาวะที่มีเม็ดเลือดแดงมากเกินไป และรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง 
- Cobalt-60 ใช้รักษามะเร็งในอวัยวะต่างๆของร่างกาย 

- Strontium-90 ใช้รักษามะเร็งผิวหนัง 

- Iodine-131 ใช้รักษามะเร็งของต่อมไทรอยด์ 

- Tantalum-182 ใช้รักษามะเร็งปากมดลูก

- Gold-198 ใช้รักษามะเร็งผิวหนัง และมะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ

- การรักษามะเร็งด้วยรังสีโปรตอน ในระดับตื้นของร่างกาย เช่น ลูกตา

- การรักษามะเร็งและเนื้องอกในส่วนลึกของร่างกาย เช่น การรักษาเนื้องอก ในสมองด้วยรังสีนิวตรอน

 

3. ด้านการปลอดเชื้อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ (Radiosterilization) 

การปลอดเชื้อ หมายถึง การทำให้จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้นตาย หรือไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อไปได้อีก โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์เข็มและกระบอกฉีดยา ที่ใช้ฉีดสารละลายเข้าเส้นเลือด และท่อพลาสติกหรือสายสวนที่เข้าไปสัมผัสเนื้อเยื่อภายในร่างกาย การใช้รังสีแกมมาจาก ไอโซโทปโคบอลต์-60 หรือรังสีอิเล็กตรอนพลังงานสูง เป็นตัวกลางในกระบวนการปลอดเชื้อที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิธีการใช้ก๊าซ หรือการอบด้วยความร้อน สามารถใช้ได้กับผลิตภัณฑ์หลายชนิด โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทนความร้อน มีรูปร่างสลับ ซับซ้อน หรืออยู่ในภาชนะบรรจุขั้นสุดท้ายก่อนจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว วิธีนี้จะช่วยป้องกันการปนเปื้อนที่เกิดจากการบรรจุบห่อ และมีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน
 

รักสุขภาพ : การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อประโยชน์ด้านการเกษตร ชีววิทยา และ อาหาร

 

ประเทศไทยมีการเกษตรเป็นอาชีพหลักของประชากร โครงการใช้นิวเคลียร์เทคโนโลยี เพื่อส่งเสริมกิจการเกษตร เป็นต้นว่าการเพิ่มผลผลิต และเพิ่มคุณภาพ ของผลิตผลซึ่งกำลังแพร่ขยายออกไปสู่ชนบทมากขึ้น

 

- การใช้เทคนิคนิวเคลียร์วิเคราะห์ดิน เพื่อการจำแนกพื้นที่ปลูก ทำให้ทราบว่า พื้นที่ที่ศึกษาเหมาะสมต่อการเพาะปลูกพืชชนิดใด ควรเพิ่มปุ๋ยชนิดใดลงไป

- เทคนิคการสะกดรอยด้วยรังสีใช้ศึกษาเกี่ยวกับการดูดซึมแร่ธาตุ และปุ๋ยดดยต้นไม้และพืชเศรษฐกิจต่างๆ เพื่อการปรับปรุงการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

- การฉายรังสีแกมมาเพื่อฆ่าแมลงและไข่ในเมล็ดพืช ซึ่งเก็บไว้ในยุ้งฉาง และภายหลังจากบรรจุในภาชนะเพื่อการส่งออกจำหน่าย

- การใช้รังสีเพื่อการกำจัดแมลงศัตรูพืชบางชนิดโดยวิธีทำให้ตัวผู้เป็นหมัน

- การถนอมเนื้อสัตว์ พืชผัก และผลไม้ โดยการฉายรังสีเพื่อเก็บไว้ได้นานยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ในการขนส่งทางไกล และการเก็บอาหารไว้บริโภคนอกฤดูกาล

- การใช้เทคนิครังสีเพื่อการขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยง และการเพิ่มอาหารนม อาหารเนื้อ ในโค และ กระบือ

- การนำเทคนิคทางรังสีด้านอุทกวิทยา  ในการเสาะหาแหล่งน้ำสำหรับการเกษตร

- การใช้เทคนิคการวิเคราะห์ด้วยวิธีอาบรังสี วิเคราะห์สารตกค้างในสิ่งแวดล้อมจากการใช้ยาปราบศัตรูพืช ยาฆ่าแมลง ซึ่งมีความสำคัญต่อผู้บริโภค

- การเอาพลังงานปรมาณูมาใช้ฉายพันธุ์พืช เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม(Induced Mutation) เช่น
ข้าวขาวมะลิ 105 ซึ่งเป็นข้าวเจ้าจากผลการฉายรังสี มีการกลายพันธุ์ มาเป็นข้าวเหนียว มีกลิ่นหอมเหมือนขาวขาวมะลิ
ข้าวพันธุ์ กข15  ซึ่งก็เป็นผลจากการฉายรังสีข้าวขาวมะลิ105 แต่เป็นพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวได้ไวกว่า และมีผลผลิตสูงกว่าขาวมะลิ 105
ปอแก้ว เมื่อนำเมล็ดมาฉายรังสีได้พันธุ์ที่มีความทนทานต่อโรคโคนเน่า
ถั่วเหลือง ที่มีพันธุ์ทนทานต่อรา สนิม(Rust)

 

 


รักสิ่งแวดล้อม : การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม

 

พลังงานนิวเคลียร์ มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมใน 2 ด้าน คือในด้านการรักษาและพัฒนาสภาพของสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น

อีกด้านหนึ่ง คือ การตรวจตรา และควบคุมปริมาณรังสีที่มีอยู่ในธรรมชาติ ในสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อมวลมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตโดยทั่วไป ประโยชน์ของพลังงานนิวเคลียร์ในด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่

 

- การใช้รังสีแกมมาฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ในน้ำทิ้งจากชุมชน และจากโรงพยาบาล เพื่อป้องกันโรคระบาด

- การใช้รังสีแกมมาฆ่าเชื้อโรคในขยะและตะกอน แล้วนำกลับมาทำเป็นปุ๋ยต่อไป

- การใช้รังสีอิเล็กตรอน ในการกำจัดก๊าซอันตราย (SO2, NO2) จากปล่องควันโรงงานอุตสาหกรรม และการเผาถ่านหิน

- การใช้เทคนิคทางนิวเคลียร์วิเคราะห์สารพิษต่างๆ ในดิน พืช อากาศ น้ำ และอาหาร

- การใช้เทคนิคสารติดตามทางรังสีศึกษามลภาวะในสิ่งแวดล้อม

- การวัดปริมาณรังสีในสิ่งแวดล้อม เช่น ที่อยู่อาศัย และสถานที่ทำงาน
 



รักเธอ : การใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อเพิ่มมูลค่าอัญมณี และ … เพื่อเธอ

ปัจจุบันมีผู้สนใจการเพิ่มมูลค่าของอัญมณี ด้วยการฉายรังสี ให้มีสีเปลี่ยนไปจากเดิม และมีสีสันสวยงามขึ้น รังสีที่นิยมใช้กันมีอยู่ 3 ชนิด คือ

รังสีแกมมา จากไอโซโทปโคบอลต์-60 รังสีแกมมาเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า การฉายอัญมณีด้วยรังสีแกมมา ไม่ก่อให้เกิดไอโซโทปรังสีใด ๆ ภายในเนื้ออัญมณี

อิเล็กตรอนพลังงานสูง (10-20 เมกะอิเล็กตรอนโวลต์) จากเครื่องเร่งอนุภาค เมื่อนำมาฉายอัญมณีจะทำให้เกิดความร้อนเฉพาะที่สูงมาก อาจทำให้อัญมณีแตกร้าวได้ จึงต้องมีการระบายความร้อนด้วยน้ำ อิเล็กตรอนให้ปริมาณรังสีดูดกลืนแก่อัญมณีสูงกว่ารังสีแกมมา จึงทำให้ผิวของอัญมณีมีสีสดสวยกว่า

นิวตรอน จากเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ เนื่องจากรังสีนิวตรอนสามารถทะลุทะลวงเข้าไปได้ดีกว่าอิเล็กตรอน เมื่อนำมาฉายอัญมณีทำให้รับรังสีสม่ำเสมอทั่วทั้งก้อน การอาบด้วยรังสีนิวตรอนจะก่อให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์กับธาตุต่าง ๆ ในอัญมณีแต่ละชนิดแตกต่างกันไป จึงต้องปล่อยทิ้งไว้ให้ไอโซโทปรังสีสลายกัมมันตรังสีจนมีระดับรังสีที่ปลอดภัย โดยใช้มาตรฐานสากลคือ ความแรงรังสีต้องไม่เกิน 2 นาโนคูรีต่อกรัม

สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ประสบความสำเร็จในการฉายรังสีโทแพซ (topaz) ซึ่งมีสีฟ้าอ่อนหรือใสไม่มีราคา เมื่อนำไปอาบรังสีนิวตรอนจะกลายเป็นสีฟ้าเข้ม และจะไม่มีการเปลี่ยนสีแม้ถูกแสงสว่างนานเพียงใดก็ตาม ทำให้มีราคาเพิ่มขึ้นกะรัตละ 5-30 เท่า

 

นอกจากนี้ยังประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนสีของทัวร์มาลีน (tourmaline) โดยการฉายรังสีแกมมา จากเดิมใสสีชมพูอ่อน กลายเป็นสีแดงหรือสีชมพูเข้ม ซึ่งปัจจุบันศูนย์ฉายรังสีอัญมณี สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ได้ให้บริการฉายรังสีโทแพซและทัวร์มาลีนแก่ผู้สนใจทั่วไป

วาเลนไทน์นี้ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะนำอัญมณีฉายรังสีไปมอบให้แก่คนรักนะจ๊ะ

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • TINT Nuclear Club
  • 0 Followers
  • Follow