Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วงแหวนดาวเสาร์ ความสวยงามในอวกาศ

Posted By sanomaru | 14 ก.พ. 61
49,578 Views

  Favorite

ดาวเคราะห์ที่ดูเหมือนจะน่าสนใจที่สุดดวงหนึ่ง เนื่องจากมีรูปลักษณ์ที่แตกต่างไปจากดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะ คงจะเป็นดาวเสาร์ เพราะมันมีวงแหวนที่สวยงามล้อมรอบ วงแหวนของมันสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนผ่านกล้องโทรทรรศน์ ซึ่งแตกต่างจากวงแหวนรอบดาวพฤหัส ยูเรนัส และเนปจูน ที่แม้จะมีวงแหวนอยู่เช่นกันแต่เราแทบมองไม่เห็นวงแหวนของมันเลย

 

ดาวเสาร์เป็นดาวที่ประกอบด้วยกลุ่มของก๊าซไฮโดรเจนและฮีเลียมเป็นส่วนใหญ่ ขนาดของมันใหญ่พอจะใส่โลกของเราเข้าไปได้ถึง 760 ใบเลยทีเดียว ดาวเสาร์มีมวลเป็น 95 เท่าของโลก มันมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในระบบสุริยะรองจากดาวพฤหัส แต่กลับมีความหนาแน่นน้อยกว่าดาวเคราะห์ทั้งหมด และเป็นดาวดวงเดียวที่มีความหนาแน่นน้อยกว่าน้ำ

ภาพ : Pixabay

 

วงแหวนดาวเสาร์เกิดจากอะไร

ลักษณะของวงแหวนดาวเสาร์นั้นเป็นวงคล้ายกับซีดี ประกอบไปด้วยน้ำแข็งและชิ้นส่วนของเศษหินซึ่งมีขนาดหลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กมาก ๆ เท่ากับเม็ดทรายไปจนถึงใหญ่มาก ๆ เท่ากับสิ่งปลูกสร้าง ในจำนวนหลายพันล้านชิ้น แม้ว่านักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของมัน แต่พวกเขาเชื่อว่าน่าจะมาจากเศษฝุ่นหินที่หลงเหลือจากดาวหาง ดาวเคราะห์น้อย การชนกันของอุกกาบาต หรือการชนกันของดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ ซึ่งมีอยู่อย่างน้อย 60 ดวง ตลอดจนชิ้นส่วนที่อาจหลงเหลือมาจากการก่อกำเนิดเป็นดาวเสาร์ในตอนแรกเริ่มด้วย

 

ผู้คนพบวงแหวนดาวเสาร์

กาลิเลโอเป็นนักดาราศาสตร์คนแรกที่สังเกตเห็นวงแหวนดาวเสาร์ ขณะที่พยายามส่องดูพื้นผิวดาวเสาร์จากกล้องโทรทรรศน์ที่มีคุณภาพไม่สูงนักในปี ค.ศ. 1610 และนักวิทยาศาสตร์ก็พยายามที่จะศึกษาวงแหวนของดาวเสาร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กระทั่งคริสเตียน ฮอยเกนส์ (Christiaan Huygens) นักดาราศาสตร์ในยุคต่อมาใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นศึกษาดาวเสาร์ และเสนอว่าวงแหวนของดาวเสาร์มีลักษณะแบนและบาง

ภาพ : NASA

 

ยานอวกาศสำรวจดาวเสาร์

มนุษย์ส่งยานอวกาศขึ้นไปสำรวจดาวเสาร์มาแล้วจำนวน 4 ลำ ได้แก่  Saturn—Pioneer 11, Voyager 1, Voyager 2 และ Cassini ยานเหล่านี้ได้ส่งภาพและข้อมูลต่าง ๆ กลับมายังโลก ซึ่งเปิดเผยเรื่องน่าทึ่งหลาย ๆ เรื่องเกี่ยวกับวงแหวนดาวเสาร์ โดย Cassini เป็นยานอวกาศลำสุดท้ายที่ถูกส่งขึ้นไปและเดินทางไปถึงดาวเสาร์ในปี 2004 โดยโคจรอยู่รอบ ๆ ดาวเสาร์ถึง 13 ปี ก่อนจะจบลงด้วยภารกิจสุดท้ายคือการพุ่งตัวเองเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์และเก็บข้อมูลสุดท้ายส่งกลับมายังโลก

ภาพ : NASA

 

ขนาดวงแหวนดาวเสาร์

วงแหวนดาวเสาร์มีเเส้นผ่านศูนย์กลางเป็น 7,000 เท่าของขนาดดาวเสาร์ โดยมีความกว้างของวงประมาณ 400,000 กิโลเมตร ซึ่งเทียบได้กับระยะทางจากโลกไปถึงดวงจันทร์ แต่ความหนาของมันมีขนาดเพียง 100 เมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับความกว้างของมัน

 

ลักษณะของวงแหวนดาวเสาร์

สิ่งที่น่าตื่นเต้นเกี่ยวกับวงแหวนดาวเสาร์ก็คือ มันไม่ได้มีเพียงวงเดียวอย่างที่เราเคยเห็น เพราะแท้จริงแล้วดาวเสาร์มีวงแหวนขนาดใหญ่ถึง 7 วง และแต่ละวงก็ประกอบไปด้วยวงแหวนขนาดเล็กที่เรียกว่า ringlets จำนวนมาก ซึ่งรวมแล้วอาจจะถึง 500-1000 วงแหวนเลยทีเดียว โดยวงแหวนแต่ละวงล้วนมีช่องว่างคั่นอยู่ ซึ่งช่องว่างบางช่องอาจกว้างได้ถึง 4,700 กิโลเมตร

 

วงแหวนขนาดใหญ่ 7 วงมีชื่อตามอักษรในภาษาอังกฤษ คือ a b c d e f g แต่ชื่อของวงแหวนแต่ละวงไม่ได้เรียงลำดับตามตำแหน่ง กล่าวคือ วงแหวนวงแรกที่ถูกค้นพบชื่อว่า A ring แต่มันไม่ได้เป็นวงที่อยู่ใกล้หรือไกลที่สุดจากดาวเสาร์ เนื่องจากพวกมันถูกเรียงตามการค้นพบ โดยวงแหวนที่อยู่ใกล้ดาวเสาร์ที่สุดชื่อว่า D ring ตามด้วยวงแหวนที่สว่างที่สุดและใหญ่ที่สุดคือ C B A ถัดออกมาเป็นวงแหวน F ตามด้วย G และวงแหวน E ซึ่งอยู่วงนอกสุด ส่วนสีของพวกมันไม่ได้มีสีสันมากมาย แต่เป็นสีขาว สีเหลืองอ่อน ไปจนถึงสีชมพูปนน้ำตาล

ภาพ : NASA
ภาพ : NASA

 

อุณหภูมิบนวงแหวน

หากคิดว่าอาจพบสิ่งมีชีวิตอยู่ในละแวกวงแหวนดาวเสาร์ สิ่งมีชีวิตชนิดนั้นก็คงต้องมีความทนทานต่ออากาศหนาวเย็นอย่างที่สุด เพราะในปี 2004 ยานอวกาศแคสซินีสามารถวัดอุณหภูมิของวงแหวนด้านหนึ่งได้ที่ -163 และ -203 องศาเซลเซียส ซึ่งเรียกว่าเย็นมาก ๆ แต่ก็สอดคล้องกับองค์ประกอบของมันที่ประกอบไปด้วยลูกบอลหิมะและน้ำแข็ง

 

แม้ว่าตอนนี้เราจะมีความรู้เกี่ยวกับดาวเสาร์และวงแหวนดาวเสาร์จำนวนหนึ่ง แต่มนุษย์ก็ยังคงเฝ้าสังเกตและศึกษาวงแหวนของดาวเสาร์ต่อไป ซึ่งในอนาคตเราคงจะได้รู้จักกับวงแหวนของดาวเสาร์มากขึ้นอีกอย่างแน่นอน

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow