Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

นานา วิภาพรรณ คนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นสู้เรื่องเพศ

Posted By Plook Magazine | 13 ก.พ. 61
5,915 Views

  Favorite

“พอสังคมไทยไม่พูดเรื่องเพศตรง ๆ เราก็เลยต้องมโนเยอะ” คือคำบอกเล่าของ นานา-วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้งเพจ thaiconsent เพจที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้ที่มีประสบการณ์เรื่องเพศทั้งแบบที่ดีต่อใจและขมขื่นจนกลืนไม่ลงมาแชร์กัน เธอบอกว่า การที่สังคมไทยไม่ยอมพูดเรื่องเพศกันตรง ๆ นี่แหละคือจุดเล็ก ๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการนำไปสู่ความเข้าใจผิดเรื่องเพศ การคุกคามทางเพศและการละเมิดทางเพศอย่างรุนแรงได้

 

 

นานา-วิภาพรรณ

 


 

เราควรจะคุยเรื่องเพศกันตอนไหน ไม่ให้ดูหื่น

เมื่อเราพร้อม หรือสามารถคุยเรื่องเพศให้มันเป็นมิตรหรือเป็นกรณีศึกษากับคนอื่นได้ ที่ผ่านมาเราเก็บเรื่องเพศเอาไว้เป็นความลับตลอด เพราะกลัวคนมองไม่ดี กลัวคนหาว่าเราหื่น แรง ลามก ซึ่งมันสวนทางกับสังคมทุกวันนี้ที่มีแต่ข่าวคนถูกลวนลาม ถูกข่มขืน ทำไมเราถึงไม่เตรียมตัวเพื่อให้ตัวเองกลัวเรื่องพวกนี้น้อยลงล่ะ 


 

เอาพลังจากไหนมาทำเพจ thaiconsent 

เพื่อนเราถูกเพื่อนผู้ชายแอบถ่ายตอนอาบน้ำ และเราก็เคยถูกลวนลาม คืออีกฝ่ายพยายามจะมีอะไรด้วย แต่เราไม่เต็มใจ ตอนนั้นเราไม่มีความรู้เรื่องพวกนี้ก็รู้สึกแย่กับตัวเองมากนะ แต่พอศึกษาเรื่องนี้ลึกขึ้น เราก็ไม่อยากแก้แค้นที่คน ๆ นั้นคนเดียว เราอยากเอาคืนมันทั้งระบบที่ทำให้เกิดการคุกคามนี้ขึ้นมา เลยทำเพจเปิดพื้นที่ให้คนส่งเรื่องเพศของตัวเองเข้ามา ซึ่งตอนนี้มี 300 กว่าเรื่องแล้ว สิ่งสำคัญอีกเรื่องเลยคือ เราไม่อยากให้มันไปเกิดกับคนอื่นอีก เพราะฉะนั้นเรื่องพวกนี้มันจึงไม่ควรจบแค่การบ่นของเราคนเดียว แต่นี่คือตัวเลือกนะ เราไม่ได้พูดเพื่อให้ทุกคนที่ถูกคุกคามทางเพศออกมารายงานตัวให้หมด เพราะถ้าเขาไม่พร้อมเราก็ไม่สามารถบังคับให้เขาออกมาสู้ได้ 

 

นานา-วิภาพรรณ


 

 

แล้วแบบไหนที่เรียกว่าการถูกคุกคามทางเพศ

ขออธิบายเป็นรูปปิรามิด 4 ชั้น ชั้นแรกเป็นเรื่องการกดอีกคนให้ต่ำลงโดยที่ไม่ได้ทำอะไร เช่น การแซวแบบคุกคามจนทำให้รู้สึกไม่ปลอดภัย ถามว่าเราเป็นเพศไหนซ้ำ ๆ จ้องมองแบบหื่น ๆ เลือกปฏิบัติทางเพศ กำหนดบทบาททางเพศว่าผู้หญิงต้องทำงานบ้านอย่างเดียว ผู้ชายเป็นพยาบาลคือตุ๊ด ฯลฯ ชั้นที่สองคือ ไม่ถึงขั้นร่วมเพศ แต่ลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น สัมผัสอีกฝ่ายโดยที่เขาไม่ยินยอม โดนรุ่นพี่หอมแก้ม จับก้น เป็นต้น ชั้นที่สามคือ ทำกิจกรรมทางเพศโดยที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม เช่น ข่มขืนแต่ไม่ตาย ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่ใจเสียมาก เป็นต้น และชั้นที่สี่ เลวร้ายที่สุดคือ ทำให้เกิดการบาดเจ็บและเสียชีวิต อย่างการฆ่าข่มขืน อันนี้สังคมไทยจะรับไม่ได้ ที่พูดมาทั้งหมดคือการคุกคามทางเพศ 

 

 

การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นกับใครได้บ้าง

ทุกคนค่ะ ผู้ชาย ผู้หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ และส่วนมากมักเกิดเพราะว่าเราไว้ใจคน ๆ นั้น (4 ใน 5 คดีของการล่วงละเมิดทางเพศ ผู้กระทำเป็นคนรู้จัก) ความไว้ใจก็เลยนำไปสู่การที่อีกฝ่ายคิดไปเองว่านี่คือการอนุญาตให้ล้ำเส้น เพราะพอสังคมไทยไม่พูดเรื่องเพศตรง ๆ เราก็เลยต้องมโนเยอะ แล้วบางครั้งการมโนนี่แหละที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด คิดว่าอีกฝ่ายยอมให้ทำอะไรก็ได้ เหมือนเพื่อนเราที่โดนแอบถ่ายเพราะชวนผู้ชายเข้าห้อง แต่การที่ผู้หญิงชวนเข้าห้องมันไม่ได้แปลว่าเรายอมมีอะไรด้วยนะ  


 

ผู้ชายโดนคุกคามทางเพศได้ด้วยเหรอ  

ได้สิ และเมื่อผู้ชายถูกคุกคามทางเพศ มันยากที่เขาจะพูดออกมาด้วยนะ เพราะความเป็นชายของเขามันกดทับอยู่ อย่างถ้าบอกคนอื่นว่าถูกผู้หญิงจับก้นก็จะดูไม่แมน หรือการถูกบังคับให้แก้ผ้าอาบน้ำในหมู่ผู้ชายตอนรับน้อง ผู้ชายบางคนเขารับไม่ได้นะ ต่อให้แมนมากก็เถอะ มันเป็นการทำให้เขากลายเป็นวัตถุทางเพศโดยที่เขาไม่อยากเป็น แล้วคนจะชอบคิดว่า ผู้ชายไม่เสียหาย ผู้ชายไม่คิดมาก แต่เรามีสิทธิ์อะไรไปตัดสินว่าคน ๆ หนึ่งควรคิดมากหรือไม่คิดมากในเรื่องอะไรบ้าง ถ้าเขาคิดมากก็คือคิดมาก  


 

ความรู้เรื่องเพศเรื่องไหนที่คนไทยยังรู้น้อยอยู่

ความรู้เรื่องเพศในสังคมเราจะเน้นไปทางประสบการณ์ เช่น ทำยังไงให้ผู้ชายพอใจ เรายังไม่มีความรู้เรื่อง ‘ความยินยอม’ หรือรู้จักถามคู่นอน ถามแฟนก่อนเสมอว่าเขาอยากมีแบบที่คุณอยากมีไหม ถ้าเขาอึกอัก ตอบไม่ได้ หรือตอบว่ายังไงก็ได้ ก็ต้องเข้าใจเลยว่าเขาไม่โอเคที่จะทำ  Maybe mean no เพราะคำตอบที่ถูกต้องที่สุดมันต้องเป็น Yes เท่านั้น คำว่าแล้วแต่หรือยังไงก็ได้ มันแปลว่าไม่  

 

นานา-วิภาพรรณ


 

 

ถ้าถูกคุกคามทางเพศแล้วไปแจ้งตำรวจก็ทำอะไรไม่ได้ จริงแท้แค่ไหน

เราต้องเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ทุกคนที่ถูกคุกคามทางเพศมา แล้วเขาต้องการไปแจ้งตำรวจเอาผิดคนทำทุกคนนะ เพราะบางคนเขาอาจจะต้องการแค่ความรู้สึกสำนึกผิดจากคนทำ แค่นั้นจบ เพราะกระบวนการลงโทษบ้านเรา ทุกคดีจะลงโทษแต่ไม่มีกระบวนการทำให้เขาสำนึกผิด เช่น คดีข่มขืนที่เราอ่านเจอในหนังสือคือ เขารู้สึกผิดที่ได้ทำสิ่งนี้ลงไปแล้วทำให้ครอบครัวเขาเดือดร้อน แต่เขาไม่ได้รู้สึกผิดต่อสิ่งที่เขาได้ทำลงไปกับเหยื่อเลย มันเป็นการลงโทษที่ทำให้เขาเห็นแก่ตัวมากขึ้น ถ้าเป็นที่ต่างประเทศ คนที่ติดคุกคดีคุกคามทางเพศ เขาต้องผ่านกระบวนการทางจิตวิทยาหลายคอร์สเลยนะกว่าจะออกมาได้ แต่บ้านเราคือ กีดกันเขาออกไป ไม่ก็ลงโทษให้นานขึ้น หรือไม่ก็ฆ่าไปเลย


 

แล้วเราควรทำหรือไม่ควรทำอะไร หลังถูกคุกคามทางเพศ

ที่ควรทำคือ หาคนที่เราไว้ใจมากที่สุดคุยด้วย และสิ่งที่ไม่ควรทำเลยคือ การตัดสินใจว่าตัวเองถูกหรือผิดแค่ไหน อย่าโทษว่าเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเพราะตัวเอง เอาเรื่องถูกผิดไว้ท้าย ๆ ต้องเข้าใจก่อนว่าตัวคุณไม่ได้ปกป้องตัวเองไม่ได้ แต่คุณปกป้องตัวเองอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่เขาล้ำเส้นเข้ามามากเกินไป และคุณแค่รับไม่ไหวเท่านั้นเอง ไม่ต้องรู้สึกผิดในเรื่องที่คุณไม่ได้ผิด 


 

แสดงว่าเวลาที่อีกฝ่ายเงียบ ก็ไม่ได้แปลว่ายินยอมให้ทำใช่ไหม 

ถูกต้อง เงียบไม่ได้แปลว่ายินยอม เวลาถูกคุกคามทุกคนไม่สามารถกรีดร้องหรือสู้ตายได้เหมือนในหนัง บางคนนิ่งเหมือนถูกแช่แข็งหรือช็อก เพราะเขาทำอะไรไม่ถูก ซึ่งตรงนี้ผู้ชายบางคนจะไม่เข้าใจ เพราะเขาโตมาพร้อมความคิดที่ว่า เขาเป็นนักสู้ ถ้าไม่พอใจอะไร เขาจะพูดออกมา ก็เลยเหมารวมไปว่าคนอื่นก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน แต่คุณจะมาคาดหวังว่าทุกคนกล้าหาญ มีความสามารถในการปกป้องตัวเองเหมือนคุณมันก็เป็นไปไม่ได้  


 

ความรู้เรื่องเพศเรื่องไหนที่ทุกคนต้องเมมโมรี่ไว้ในหัว

หนึ่งคือ การคุกคามทางเพศคืออะไร ถ้าอีกฝ่ายอยู่ในสภาวะที่เสียเปรียบ เช่น เมากว่า อ่อนแอกว่า เป็นต้น อย่าไปเอาเปรียบเขาเลย หรือแม้กระทั่งตอนที่เขามีสติก็ยังต้องถามว่าอยากมีจริง ๆ ไหม เขาต้องมีสติครบถ้วน มันต้องวินวินทั้งคู่ถึงจะแฮปปี้ สองถ้าเกิดกับคนใกล้ตัวเราต้องเชื่อใจเขาว่ามันเกิดขึ้นจริง เรื่องใครผิดถูกเอาไว้ทีหลัง หรือเชียร์ให้เขาเอาผิดคนทำก็เอาไว้ทีหลัง อย่าเพิ่งไปพูดว่าไอ้นั่นมันเลว แกต้องไปแจ้งตำรวจจับมันเดี๋ยวนี้ อย่าเพิ่งรีบขนาดนั้น เพราะสิ่งแรกที่คนถูกคุกคามทางเพศเขาอยากได้คือ คนที่รับฟังและเชื่อเขาว่ามันเกิดขึ้นจริง ๆ ก่อน 


 

เรื่องเพศที่ต้องจดจำเพื่อชีวิตจะได้วุ่นวายน้อยลง

ถ้าวันหนึ่งคุณมีความคิดอยากมีอะไรกับคนอื่น ให้ถามอีกฝ่ายก่อนว่าเขาอยากทำเหมือนที่คุณอยากไหม ถ้าเขาเงียบ ไม่แน่ใจ มันแปลว่า ไม่ คุณต้องหยุดทันที และถึงแม้กำลังทำแต่อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดีอยากหยุด ก็ต้องหยุด สองถ้าคุณคือคนที่กำลังถูกกระทำ ให้รู้ไว้ว่าคุณมีสิทธิ์ที่จะปฏิเสธเสมอ แต่ถ้าคุณบอกว่าไม่ แล้วเขายังดันทุรังที่จะล้ำเส้นต่อ มันแปลว่าเขาล้ำเส้นเข้ามาเกินไป มันไม่ได้แปลว่าคุณปกป้องตัวเองไม่ได้ คิดถึงสองข้อนี้ก่อนทำอะไรแล้วมันจะแฮปปี้ทั้งสองฝ่าย และคุณจะไม่ได้กลายเป็นผู้ร้ายทีหลัง 

 



มองโลกในแง่ร้ายขึ้นไหมหลังเริ่มเคลื่อนไหวเรื่องเพศ 

เรามองโลกในแง่ที่เป็นจริงมากขึ้นนะ เมื่อก่อนเราดาร์คกว่านี้ รู้สึกสิ้นหวังมากกว่านี้ ก่อนมาทำเรื่องเยาวชน เรื่องเพศ เราสิ้นหวังมาก ๆ เพราะคิดว่าเราคิดกับมันคนเดียว คนทั้งโลกทำอะไรอยู่ แต่พอเราทำปุ๊บ มันมีคนที่คิดเหมือนเรา แล้วเขาออกมาแสดงตัวเยอะมาก ทำให้รู้ว่าเราไม่ได้คิดกับปัญหาเหล่านี้คนเดียว มีคนคิดกับมันเหมือนเรา เราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว อีกหน่อยเรื่องพวกนี้คงดีขึ้นเรื่อย ๆ 

 

นานา-วิภาพรรณ

 


"สิ่งแรกที่คนถูกคุกคามทางเพศเขาอยากได้คือ คนที่รับฟังและเชื่อว่ามันเกิดขึ้นจริง"

 

 

 

เรื่อง : วัลญา นิ่มนวลศรี
ภาพถ่าย : ประวีร์ จันทร์ส่งเสริม

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow