Earworms มีลักษณะคล้ายกับโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive disorder) ซึ่งอาจสร้างความรู้สึกรำคาญให้กับบางคน เพราะมันเหมือนยุงที่บินวนเวียนหึ่ง ๆ อยู่ข้างหูตลอดเวลา แต่สำหรับ earworms แล้ว ถึงจะเอามือปัดไล่มันก็ไม่ไปไหน เพราะแหล่งกำเนิดเสียงไม่ได้อยู่ที่ข้างหู แต่มาจากสมองของเรา โดยสมองส่วนที่นักวิจัยคาดว่าน่าจะมีความเกี่ยวข้องก็คือ auditory cortex
auditory cortex เป็นสมองส่วนที่ทำหน้าที่รับการได้ยิน มันอยู่ในสมองส่วนขมับ (temporal lobe) เพลงติดหูที่เราได้ฟังซ้ำ ๆ นั้นจะถูกส่งเข้าไปอยู่ในระบบความจำระยะสั้นที่ phonological loop ซึ่งอยู่ใน auditory cortex โดยมีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดภาวะ earworms เช่น เพลงล่าสุดที่ได้ฟัง, เพลงที่เปิดซ้ำ ๆ, สถานการณ์หรือบุคคลที่เชื่อมโยงกับความทรงจำที่เกี่ยวข้องกับเพลง, ความเครียด หรือความคิดที่เหม่อลอยไร้ทิศทาง
สำหรับลักษณะของเพลงที่ทำให้เกิด earworms นั้นยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่เท่าที่นักวิจัยทราบก็คือ เพลงเหล่านั้นจะมีลักษณะเป็นเพลงที่ฟังง่าย ๆ แต่ก็ซับซ้อนพอที่จะวนเวียนอยู่ในสมอง, มีจังหวะการพักการหยุด, มีเนื้อเพลงที่ร้องซ้ำ ๆ หรือมีจังหวะที่พิเศษ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว เมื่อเกิด earworms คนส่วนใหญ่อาจจะรู้สึกเฉย ๆ หรือมีความรู้สึกในทางบวก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่รู้สึกรำคาญและเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทำให้นอนไม่หลับ แต่หากรู้สึกเช่นนั้น การกำจัด earworms ก็ไม่ได้เป็นเรื่องยากเลย
1. หลีกเลี่ยงการฟังเพลงนั้น ๆ
วิธีนี้เป็นวิธีที่จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะแม้ว่าเราจะไม่เปิดเพลงนั้นฟังด้วยตัวเองเลย แต่ก็มีโอกาสที่จะได้ยินจากแหล่งอื่น ๆ ได้ อย่างไรก็ตาม หากสามารถหลีกเลี่ยงการฟังเพลงนั้น ๆ มากเกินไปและฟังซ้ำ ๆ ได้ ก็จะทำให้ภาวะ earworms หายไป
อีกกรณีหนึ่งคือ ถ้าเริ่มฟังเพลงนั้นแล้วก็ให้ฟังต่อจนจบ อย่าฟังครึ่ง ๆ กลาง ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดเซกานิกเอฟเฟ็กต์ (Zeigarnik effect) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่กล่าวว่า เมื่อเราเริ่มทำอะไรบางอย่างไปแล้ว สมองของเราจะรู้สึกว่าต้องทำต่อให้จบ ซึ่งหากเราฟังเพลงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็อาจส่งผลให้สมองพยายามจะต่อเพลงนั้นให้จบได้
2. การเคี้ยวหมากฝรั่ง
การเคี้ยวหมากฝรั่งกับการลบเพลงติดหูออกไปดูจะเป็นคนละเรื่อง แต่งานวิจัยหนึ่งเปิดเผยว่า ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มที่ได้รับหมากฝรั่งไปเคี้ยวมีภาวะ earworms ลดลงกว่าผู้ที่ไม่ได้เคี้ยวหมากฝรั่ง นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีที่กล่าวว่า เมื่อขากรรไกรของเราซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการร้องเพลงถูกใช้ในการทำงานอย่างอื่น ความสามารถในการจินตนาการถึงเสียงเพลงของเราจะลดลง
นอกจากการเคี้ยวหมากฝรั่งแล้ว ในการใช้หลักการทางกายภาพเข้ามาช่วยอีกวิธีหนึ่งก็คือ การปรับเปลี่ยนจังหวะการเดินของคุณให้เร็วขึ้นหรือช้าลงสวนทางกับจังหวะเพลง เพื่อรบกวนความเเชื่อมโยงระหว่างความจำกับจังหวะดนตรีที่คุ้นเคย
3. ร้องเพลงอื่นที่ไม่คุ้นเคยดัง ๆ
วิธีนี้เป็นวิธีหนึ่งที่นิยมกัน เพราะถ้าเรามีแนวโน้มจะร้องเพลงทุกวัน ก็เป็นไปได้ที่จะมีภาวะ earworms เกิดขึ้น และถ้าเราไม่ต้องการให้มันเกิด การเปลี่ยนเพลงที่ร้องก็ช่วยได้
4. หากิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิและจดจ่ออยู่กับมัน
กิจกรรมบางกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราไม่จำเป็นที่ต้องใช้สมาธิจดจ่อมากนัก เช่น การแปรงฟัน ซึ่งเอื้อต่อความคิดที่ไร้ทิศทาง และนำไปสู่การจินตนาการถึงเสียงเพลงหรือเสียงดนตรีที่คุ้นเคยได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากเรามีสมาธิในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก ๆ เช่น การเล่นซูโดกุ การเล่นครอสเวิร์ด หรือเมื่อเข้าสังคมที่ต้องอยู่กับคนหมู่มาก แม้แต่การคุยโทรศัพท์กับเพื่อนก็สามารถดึงความสนใจจากเสียงเพลงติดหูได้เช่นกัน