Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อาหารส่งผลต่ออารมณ์อย่างไร

Posted By sanomaru | 25 ม.ค. 61
10,501 Views

  Favorite

อาหารเป็นปัจจัย 4 ที่สำคัญต่อมนุษย์ เพราะนอกจากจะให้พลังงานแล้ว มันยังมีสารอาหารที่จำเป็นต่อกระบวนการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย มีความเกี่ยวพันกับสุขภาพ เช่น การเกิดโรคหัวใจ โรคอ้วน โรคความดัน รวมถึงมีผลต่อภาวะอารมณ์ของมนุษย์ด้วย ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า You are what you eat จึงไม่ได้เป็นคำกล่าวที่เกินจริงเลย

 

จากงานวิจัยหนึ่งพบว่า ผู้ที่อายุน้อยกว่า 30  ปี ที่รับประทานอาหารฟาสต์ฟู้ดมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ มีระดับของความทุกข์ใจสูงกว่าคนปกติ เนื่องจากอาหารฟาสต์ฟู้ดเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง ส่วนผู้ที่รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์ 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่านั้น (จัดอยู่ในระดับการบริโภคเนื้อที่ต่ำ) มีปัญหาด้านอารมณ์มากกว่าปกติ ในขณะที่ผู้มีอายุมากกว่า 30 ปี ที่รับประทานคาร์โบไฮเดรตน้อยและผลไม้มาก มีความเครียดและความหดหู่ลดลง เนื่องจากผลไม้เป็นอาหารที่มีแอนติออกซิแดนต์อยู่มาก แต่การรับประทานคาร์โบไฮเดรตน้อยเกินไปก็ส่งผลต่อภาวะอารมณ์ให้แย่ลงได้เช่นกัน และยังมีอีกหลาย ๆ งานวิจัยที่แสดงให้เห็นถึงผลของอาหารต่อภาวะอารมณ์

 

โดยปกติแล้ว สารเคมีในร่างกายของมนุษย์ที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาวะอารมณ์ เช่น หดหู่ ซึมเศร้า กังวล สงบนิ่ง หรือผ่อนคลาย ก็คือ เซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท หากเซโรโทนินมากจะทำให้เรามีภาวะอารมณ์ที่ดี รู้สึกสงบ แต่หากเซโรโทนินต่ำก็อาจเกิดภาวะซึมเศร้าหรือหดหู่ใจขึ้นได้ ทั้งนี้เซโรโทนินสามารถสังเคราะห์ได้จากสารอาหารที่เรารับประทานเข้าไปในแต่ละวันนั่นเอง

 

การสังเคราะห์ "เซโรโทนิน" โมเลกุลแห่งความสุข

เซโรโทนินเป็นสารสื่อประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึกโดยตรง ร่างกายของเราสร้างเซโรโทนินจากกรดอะมิโนจำเป็นที่ชื่อว่า "ทริปโตเฟน (Trytophan)" ซึ่งร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้เอง แต่จะได้จากการรับประทานอาหารประเภทโปรตีน อย่างไรก็ตาม การที่ร่างกายของเราจะสามารถดูดซึมทริปโตเฟนไปใช้ได้ดี เราจำเป็นต้องรับประทานคาร์โบไฮเดรตร่วมด้วย เนื่องจากอาหารประเภทโปรตีนนั้นไม่ได้ประกอบด้วยทริปโตเฟนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกรดอะมิโนอื่น ๆ อีกมากมาย และพวกมันจะแย่งกันผ่านกระแสเลือดเข้าสู่สมอง การรับประทานคาร์โบไฮเดรตเข้าไปก็เพื่อให้ร่างกายจำเป็นต้องใช้อินซูลินมากขึ้นเพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อร่างกายต้องใช้อินซูลินซึ่งสังเคราะห์ได้จากกรดอะมิโนอื่นๆ ก็จะทำให้กรดอะมิโนอื่น ๆ ลดลง ทริปโตเฟนจึงเข้าผ่านกระแสเลือดเข้าสู่สมอง และนำไปสร้างเซโรเทนินได้ง่ายขึ้น

 

อาหารประเภทโปรตีนที่อุดมไปด้วยทริปโตเฟน ได้แก่ เนื้อสัตว์ปีกไม่ติดหนัง เนื้อแดงไม่ติดมัน ไข่ ถั่ว อาหารทะเล เต้าหู้ ชีส นม ปลา

 

อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่เราควรเลือกรับประทาน ควรเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งจะถูกย่อยอย่างช้า ๆ และค่อย ๆ ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ได้แก่ ข้าวกล้อง กีนัว (quinoa) ขนมปังโฮลวีต

 

วิตามินและแร่ธาตุอื่น ๆ ที่มีความสำคัญกับอารมณ์

นอกจากทริปโตเฟนแล้ว ยังมีแร่ธาตุและวิตามินอื่น ๆ ที่ส่งผลต่ออารมณ์ผ่านเซโรโทนิน ตลอดจนสารสื่อประสาทอื่น ๆ ด้วย เช่น

วิตามินบี ร่างกายจะใช้วิตามินบีและทริปโตเฟนร่วมกันในการสร้างสารเซโรโทนิน และช่วยต่อมหมวกไตสร้างอะดรีนาลินซึ่งควบคุมการตอบสนองต่อความเครียด อีกทั้งวิตามินบียังช่วยรักษาระดับของกรดอะมิโนโฮโมซิสเทอีน (Homocysteine) ในร่างกายให้อยู่ในระดับต่ำด้วย เพราะหากมันมีระดับสูงมากเกินไป จะสามารถพยากรณ์ได้ถึงโอกาสของการเกิดภาวะซึมเศร้าได้

อาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่ว ไข่แดง เมล็ดทานตะวัน ผักใบเขียว เนื้อ ปลา และเนื้อสัตว์ปีก

 

โครเมียม โครเมียมเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างอินซูลิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด นำไปสู่ความสมดุลของน้ำตาลในร่างกายและอารมณ์ที่เสถียร นอกจากนี้โครเมียมยังช่วยเพิ่มระดับของเซโรโทนินได้อีกด้วย โดยจากการศึกษาพบว่า 70 % ของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้ามีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับโครเมียมเสริมเป็นเวลา 8 สัปดาห์

อาหารที่อุดมไปด้วยโครเมียม ได้แก่ หอมใหญ่ ผักกาดคอส (romaine lettuce) และมะเขือเทศ

 

ในทางตรงกันข้าม เราควรหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดที่ทำให้อารมณ์ของเราแย่ลงได้ โดยเฉพาะอาหารที่ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น น้ำตาล ของหวาน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน เพราะแม้ว่าอาหารเหล่านี้จะทำให้รู้สึกดีขึ้นเกือบจะทันทีที่รับประทานเข้าไปจากการที่ระดับน้ำตาลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่มันก็จะตกลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกเหนื่อย หงุดหงิด หรือซึมเศร้าได้ง่าย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow