ไม่บ่อยนักที่เราจะมีโอกาสได้ชมปรากฏการณ์บนฟากฟ้าพร้อม ๆ กันถึง 3 ปรากฏการณ์ นั่นคือ พระจันทร์เต็มดวงขณะที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุดหรือซูเปอร์มูน (Super Moon) บลูมูน (Blue Moon) และจันทรุปราคา (Lunar Eclipse) ซึ่งจะเกิดขึ้นในคืนวันที่ 31 มกราคม 2561 เพราะเป็นครั้งแรกในรอบ 150 ปีที่เกิดขึ้น
สำหรับพระจันทร์เต็มดวงที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 มกราคม 2561 เป็นพระจันทร์เต็มดวงที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด จึงเรียกว่าซูเปอร์มูน ซึ่งทำให้เรามองเห็นพระจันทร์ดวงโตขึ้นถึง 14% และสว่างขึ้น 30% จากที่เคยเห็นปกติ โดยซูเปอร์มูนเกิดจากการที่วงโคจรของดวงจันทร์มีลักษณะเป็นวงรี และโคจรเข้าใกล้โลกในตำแหน่งเปริจี (Perigee) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด มีระยะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 363,104 กิโลเมตร (ส่วนช่วงที่พระจันทร์โคจรอยู่ไกลโลกที่สุดจะเรียกตำแหน่งนั้นว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 405,696 กิโลเมตร)
นอกจากนี้ในวันที่ 31 มกราคมยังเป็นวันที่เกิดบลูมูนหรือพระจันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ในหนึ่งเดือน กล่าวคือมีวันขึ้น 15 ค่ำ 2 วันด้วยกันภายในเดือนเดียว ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่หาชมได้ยาก โดยจะเกิดขึ้นทุก ๆ 2-3 ปี และครั้งนี้ก็เกิดขึ้นตรงกับการเกิดซูเปอร์มูนและจันทรุปราคาอีกด้วย
ส่วนปรากฏการณ์สุดท้ายก็คือ การเกิดจันทรุปราคา โดยเกิดจากการที่โลกโคจรไปเรียงตัวอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ในแนวเดียวกันพอดี ซึ่งในเราจะเห็นพระจันทร์เป็นสีแดงที่เรียกว่า พระจันทร์สีเลือด (Blood Moon) เนื่องจากชั้นบรรยากาศของโลกทำให้เกิดการกระเจิงของแสง และปล่อยแสงสีแดงที่มีอำนาจทะลุทะลวงสูงกว่าแสงสีอื่นให้ส่องผ่านไปบนดวงจันทร์
ปรากฏการณ์บนฟากฟ้าครั้งนี้เริ่มจาก
ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก ตั้งแต่เวลา 17.51 น. โดยช่วงนี้ดวงจันทร์ยังอยู่ใต้เส้นขอบฟ้า แต่ตั้งแต่เวลา 18.08 น. เป็นต้นไป ผู้ที่อยู่กรุงเทพฯ จะมองเห็นได้
ดวงจันทร์เกิดจันทรุปราคาบางส่วนตั้งแต่เวลา 18.48 น.
ดวงจันทร์เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงตั้งแต่เวลา 19.51 น.
ดวงจันทร์เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงที่สุดตั้งแต่เวลา 20.29 น.
สิ้นสุดจันทรุปราคาเต็มดวงเมื่อเวลา 21.07 น.
สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วนเมื่อเวลา 22.11 น.
สิ้นสุดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเมื่อเวลา 23.08 น.
ผู้ที่พักอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานครก็สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 70 องศา ซึ่งหากไม่มีเมฆ ฝน หรือฝุ่นละอองในอากาศบดบัง ก็จะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน