ม้ามเป็นอวัยวะที่อยู่ทางด้านซ้ายของช่องท้อง บริเวณใต้ซี่โครงค่อนไปทางด้านหลัง ผิวโดยรอบของม้ามมีลักษณะเป็นรอยยับย่นคล้ายกับกระดาษทิชชูเปียกๆ รูปร่างของมันคล้ายแคปซูลหรือเมล็ดถั่ว ปกติแล้วม้ามจะมีส่วนที่เป็นสีแดงเข้มซึ่งเกี่ยวข้องกับการกรองเม็ดเลือดแดงที่เสียหายหรือตายแล้วออกจากกระแสเลือด รวมถึงการผลิตและจัดเก็บเซลล์เม็ดเลือดแดง ขณะที่ส่วนที่เป็นจุดสีขาวเล็ก ๆ จะเกี่ยวข้องกับการจัดเก็บเม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด
หากม้ามถูกกระทบกระเทือนหรือบาดเจ็บรุนแรง เช่น จากอุบัติเหตุ เลือดจะไหลออกมาจากม้ามที่ได้รับบาดเจ็บ และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็อาจจะเสียชีวิตได้ หนึ่งในการรักษากรณีเช่นนี้คือการตัดม้ามออกไป ซึ่งเรายังสามารถมีชีวิตอยู่และดำเนินชีวิตได้ตามปกติแม้ว่าจะไม่มีม้ามในร่างกายของเราแล้วก็ตาม เพราะตับสามารถทำหน้าที่จัดการกับเม็ดเลือดแดงได้ และก็ยังมีไขกระดูกที่สามารถผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดงแทนม้าม นอกจากนี้เนื้อเยื่อลิมฟอยด์ (lymphoid tissues) ในร่างกายก็ยังช่วยจัดการกับระบบภูมิคุ้มกันแทนม้ามได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การสูญเสียอวัยวะไป 1 อย่าง ก็อาจจะต้องระมัดระวังบางอย่าง เช่น การติดเชื้อ หรืออาจจะต้องรับวัคซีนโรคบางชนิดเพิ่มเติม
กระเพาะอาหารเป็นอวัยวะที่เราทุุกคนรู้จักกันดี หน้าที่หลักของกระเพาะอาหารก็คือ การย่อย ทั้งการย่อยเชิงกลโดยการหดตัวและบีบรัดอาหาร หรือการย่อยเชิงเคมี โดยการหลั่งกรดและเอนไซม์เพื่อย่อยอาหาร ตลอดจนช่วยดูดซึมสารอาหารบางส่วนด้วย นอกจากนี้เซลล์ของกระเพาะอาหารยังทำหน้าที่ผลิตสารที่เรียกว่า อินทรินซิก แฟกเตอร์ (intrinsic factor) ซึ่งช่วยในการดูดซึมวิตามิน B12 ลดโอกาสเป็นโรคโลหิตจาง
การตัดกระเพาะอาหารออกไปอาจเนื่องมาจากการบาดเจ็บหรือเป็นแผลในในกระเพาะอาหาร รวมถึงการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารด้วย และเมื่อกระเพาะอาหารถูกตัดออกไป ศัลยแพทย์จะทำการเชื่อมต่อหลอดอาหารเข้ากับลำไส้เล็กโดยตรง และเมื่อฟื้นตัวแล้ว เราก็สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยรับประทานวิตามินเสริมควบคู่ไปด้วยเพื่อป้องกันภาวะขาดวิตามิน อย่างไรก็ตาม ในบางคนอาจมีอาการ Dumping Symdrome ซึ่งเป็นอาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงเส้นทางเดินของอาหาร อันมีผลให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายต้องปรับตัวด้วย
อัณฑะซึ่งเป็นแหล่งเก็บอสุจิ และรังไข่ซึ่งเป็นแหล่งสร้างเซลล์ไข่ เป็นอวัยวะสืบพันธุ์ในเพศชายและเพศหญิง ตามลำดับ โครงสร้างเหล่านี้มีเป็นคู่ หากมันถูกตัดออกไปข้างหนึ่ง อีกข้างหนึ่งก็ยังทำงานต่อไปได้อย่างปกติ นั่นหมายถึงความสามารถที่จะมีบุตรได้นั่นเอง แต่หากมันถูกตัดออกทั้งสองข้าง ไม่ว่าจะเนื่องมาจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือโรคมะเร็ง เราก็ยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้แม้ว่าจะสูญเสียความสามารถในการมีบุตรไปก็ตาม
ในเพศหญิง บางกรณีมดลูกอาจถูกตัดออกไปพร้อมกับรังไข่ที่มีปัญหา ซึ่งจะทำให้ไม่มีประจำเดือนและไม่สามารถให้กำเนิดบุตรได้อีกต่อไป แต่จากงานวิจัยพบว่า หญิงที่ถูกตัดรังไข่ออกไปไม่ได้ทำให้อายุขัยเฉลี่ยลดลง ขณะที่ในผู้ชายนั้น การตัดอัณฑะออกทั้งสองข้างอาจทำให้มีอายุขัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นได้
ลำไส้ใหญ่มีความยาวประมาณ 1.5 เมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ 1. ซีกัม (Caecum) เป็นส่วนที่ต่อจากลำไส้เล็ก 2. โคลอน (Colon) เป็นส่วนที่ยาวที่สุด ประกอบด้วย ลำไส้ที่ทอดขึ้นบน (Ascending Colon) ลำไส้ทอดตัวแนวขวาง (Transverse Colon) ลำไส้ที่ทอดตัวลงล่าง (Descending Colon) และลำไส้ส่วนปลาย (Sigmoid) 3. เรกตัม (Rectum) หรือไส้ตรง ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับทวารหนัก หน้าที่หลักของลำไส้ใหญ่ ก็คือ การดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย และเตรียมกากอาหารเพื่อรอการขับถ่ายออกจากร่างกายต่อไป
มะเร็งหรือโรคอื่น ๆ เช่น ลำไส้อุดตัน มีเลือดออกในลำไส้ใหญ่ อาจส่งผลให้จำเป็นต้องตัดบางส่วนหรือทั้งหมดของลำไส้ใหญ่ออกไป แต่ผู้ที่ถูกตัดลำไส้ใหญ่ออกไปจะยังคงมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะศัลยแพทย์จะต่อลำไส้ใหญ่ส่วนที่เหลือเข้าด้วยกัน หรือหากถูกตัดลำไส้ใหญ่ออกไปทั้งหมด แพทย์จะทำการต่อลำไส้เล็กเข้ากับรูทวารหนักแทน ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วหลังผ่าตัด
ไส้ติ่งเป็นโครงสร้างส่วนเล็ก ๆ คล้ายหนอน ติดอยู่บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างลำไส้เล็กกับลำไส้ใหญ่ ไส้ติ่งแทบจะไม่มีประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์เลย มันน่าจะเป็นเพียงร่องรอยของการวิวัฒนาการอวัยวะของมนุษย์เท่านั้น โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันอาจเคยมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเก็บรักษาแบคทีเรียภายในลำไส้ที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่เนื่องจากส่วนปลายของไส้ติ่งเป็นส่วนปิดที่ไม่เชื่อมต่อกับอะไรเลย ทำให้สิ่งแปลกปลอมที่ตกลงไปยากจะหลุดออกมา และเป็นเหตุให้เกิดการอักเสบตามมาได้
ในกรณีที่เกิดไส้ติ่งอักเสบ ไส้ติ่งจะถูกตัดออกไปจากร่างกายโดยที่เรายังคงใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังการผ่าตัด แต่ก็ใช่ว่ามันจะไม่ทำให้เราเจ็บปวดอีก เพราะมีกรณีศึกษาที่พบว่า ไส้ติ่งถูกตัดออกไปไม่หมด และมันสามารถกลับมาเกิดการอักเสบได้ใหม่ ที่เรียกว่า Stumpitis
ถุงน้ำดีอยู่บริเวณช่องท้องด้านบนขวา ใต้ซี่โครง โดยเป็นที่เก็บของน้ำดีซึ่งถูกสร้างมาจากตับ มีประโยชน์ในการช่วยย่อยไขมัน ถุงน้ำดีจะหดตัวและหลั่งน้ำดีออกมา ก็ต่อเมื่อพบว่ามีอาหารประเภทไขมันอยู่ในลำไส้เล็ก แต่หากมีคอเรสเตอรอลส่วนเกินในน้ำดีมาก ๆ พวกมันก็สามารถจับตัวกันและเกิดเป็นนิ่วไปขัดขวางท่อส่งน้ำดีได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ทำให้แพทย์จำเป็นต้องตัดถุงน้ำดีออก
ในแต่ละปีมีผู้ป่วยประมาณ 70,000 คนที่ถูกตัดถุงน้ำดีออกไป แต่ร่างกายของมนุษย์นั้นน่าอัศจรรย์ เพราะแม้ว่าถุงน้ำดีจะถูกตัดออกไปแล้ว แต่ร่างกายก็จะปรับตัวโดยการใช้ท่อน้ำดีในการกักเก็บและส่งน้ำดีจากตับไปสู่ลำไส้เล็กแทน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- "น้ำดี" กินไม่ได้แต่มีประโยชน์