โดยปกติแล้ว พระจันทร์เต็มดวงจะเกิดขึ้นเดือนละ 1 ครั้งเท่านั้น เราจึงเห็นพวกมันได้ 12 ครั้ง ใน 1 ปี แต่สำหรับบลูมูนแล้ว หากเกิดขึ้นในเดือนใด นั่นหมายความว่าเราจะได้เห็นดวงจันทร์เต็มดวงถึง 2 ครั้งในเดือนนั้น และในปีนั้น เราจะเห็นดวงจันทร์เต็มดวงได้ถึง 13 ครั้ง โดยการเกิดบลูมูนแต่ละครั้งจะเกิดขึ้นห่างกันประมาณ 2-3 ปี ยกเว้นบางปีที่อาจมีบลูมูนเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง จึงเรียกว่า ดับเบิลบลูมูน (Double Blue Moons) ดับเบิลบลูมูนเกิดขึ้นได้ 3-5 ครั้งในรอบศตวรรษ เช่น ปี 2542 และ ปี 2561 ซึ่งมีดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้งในเดือนมกราคมและมีนาคม
บลูมูนเกิดจากการที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก 1 รอบใช้เวลา 29.53 วันเมื่อเทียบกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ (ขณะที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วันเมื่อเทียบกับตำแหน่งของดาวฤกษ์) หรือ 1 เดือนจันทรคติ โดยเป็นระยะห่างระหว่างวันเพ็ญหนึ่งกับวันเพ็ญถัดไป ซึ่งสั้นกว่า 1 เดือนสุริยคติ (30-31 วันตามปฏิทินปัจจุบัน) และช่วงเวลาที่เหลื่อมกันนี่เอง ทำให้เดือนที่มีพระจันทร์เต็มดวงช่วงต้นเดือน มีโอกาสที่จะเกิดพระจันทร์เต็มดวงในปลายเดือนได้อีกครั้ง
บลูมูนมีอยู่ 2 ความหมาย ความหมายที่ใช้กันแต่เดิม คือ Seasonal Blue Moon หรือบลูมูนในช่วงฤดูกาล ซึ่งนับตามฤดูกาล 4 ฤดูกาล ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว โดยแต่ละฤดูกาลมี 3 เดือน ซึ่งจะมีพระจันทร์เต็มดวงปรากฏให้เห็น 3 ดวงด้วยกัน และในฤดูกาลใดที่มีดวงจันทร์เต็มดวงดวงที่ 4 เกิดขึ้น ก็จะเรียกดวงจันทร์เต็มดวงดวงที่ 3 ในฤดูกาลนั้นว่า Seasonal Blue Moon ส่วน Monthly Blue Moon หมายถึง ดวงจันทร์เต็มดวงดวงที่ 2 ในเดือนหนึ่ง ๆ ซึ่งตรงกับความหมายของบลูมูนในปัจจุบัน
แม้ว่าเราจะเรียกพระจันทร์เต็มดวงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ของเดือนว่า บลูมูน ด้วยความที่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันมีสีน้ำเงินแต่อย่างใด เพราะบลูมูนโดยส่วนใหญ่จะเป็นสีเทา สีขาวหม่น ๆ หรือสีเหลืองนวล ซึ่งก็ไม่แตกต่างไปจากพระจันทร์เต็มดวงอื่น ๆ ที่เราเคยเเห็น เพราะการที่ดวงจันทร์เต็มดวงสองครั้งใน 1 เดือนปฏิทินไม่ได้มีผลกระทบหรือเปลี่ยนสมบัติทางกายภาพของดวงจันทร์ไป ดังนั้น เราจึงเห็นสีของดวงจันทร์ไม่แตกต่างไปจากเดิม
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าดวงจันทร์จะไม่เคยเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เพราะมันเคยเกิดขึ้นแล้วในปี 1883 หลังจากที่ภูเขาไฟกรากะตัว (Krakatoa) ประเทศอินโดนีเซีย เกิดการระเบิดขึ้น เศษฝุ่นละอองจากการระเบิดได้ลอยฟุ้งกระจายในอากาศ ทำให้เกิดการกระเจิงของแสง และมองเห็นพระจันทร์เป็นสีน้ำเงินหรือเขียวเกือบทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อื่น ๆ เช่น ไฟป่า พายุรุนแรง ที่เป็นสาเหตุให้เรามองเห็นดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงินได้ด้วยเช่นกัน