Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เกร็ดธรรมน่ารู้ : พระราชปุจฉา วิสัชนาธรรม และวิธีภาวนา ของในหลวง ร.9 กับหลวงพ่อเกษม เขมโก

Posted By มหัทธโน | 15 ม.ค. 61
14,297 Views

  Favorite

บันทึกพระราชปุจฉาสนทนาธรรม 

บันทึกโดย พระครูปลัดจันทร์ กตปุญโญ ณ วัดคะตึกเชียงมั่น ต.หัวเวียง อ.เมือง จ.ลำปาง 

 

ต่อไปนี้เป็นพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงปฏิสันถารกับ พระอินทรวิชยาจารย์ เจ้าอาวาสวัดคะตึกเชียงมั่น และ หลวงพ่อเกษม เขมโก ซึ่ง ข้าพเจ้า (พระครูปลัดจันทร์ กตปุญโญ) ได้มีโอกาสช่วยหลวงพ่อถวายพระพรด้วย ข้อความนี้ข้าพเจ้าบันทึกไว้หลังจากเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้วดังนี้

 
ในหลวง : หลวงพ่อประจำอยู่ที่วัดนี้หรือ

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาตมาประจำอยู่ที่สุสานไตรลักษณ์

ในหลวง : อยากไปหาหลวงพ่อเหมือนกัน แต่หาเวลาไม่ค่อยได้ ได้ทราบว่าเข้าพบหลวงพ่อยาก

หลวงพ่อเกษม : พระราชาเสด็จไปป่าช้าเป็นการไม่สะดวก เพราะสถานที่ไม่เรียบร้อย อาตมาภาพจึงมารอเสด็จที่นี่ ขอถวายพระพร มหาบพิตรสบายดีหรือ

ในหลวง : สบายดี

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรพระชนมายุเท่าไร

ในหลวง : ได้ ๕๐ ปี

หลวงพ่อเกษม : อาตมาภาพได้ ๖๗ ปี

ในหลวง : หลวงพ่ออยู่ตามป่ามีความสงบ ย่อมจะมีโอกาสปฏิบัติธรรมได้มากกว่าพระที่วัดในเมือง ซึ่งมีภารกิจเกี่ยวกับการปกครองและงานอื่นๆ จะเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร อาจจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เพราะอยู่ป่าไม่มีภารกิจอย่างอื่น แต่ก็ขึ้นอยู่กับศีลบริสุทธิ์ด้วย เพราะเมื่อศีลบริสุทธิ์จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน นิวรณ์ไม่ครอบงำก็ปฏิบัติได้

ในหลวง : การปฏิบัติอย่างพระมีเวลามากย่อมจะได้ผลเร็ว ส่วนผู้ที่มีเวลาน้อยมีภารกิจมาก จะปฏิบัติอย่างหลวงพ่อก็ไม่อาจทำได้ แล้วจะมีวิธีปฏิบัติอย่างไร เราจะหั่นแลกช่วงเวลาช่วงเช้าให้สั้นเข้าจะได้ไหม คือ ซอยเวลาออกจากหนึ่งชั่วโมงเป็นครึ่งชั่วโมง จากครึ่งชั่วโมงเป็นสิบนาที หรือห้านาที แต่ให้ได้ผล คือ ได้รับความสุขเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น นั่งรถยนต์จากเชียงใหม่มาลำปางก็สามารถปฏิบัติได้ หรือระหว่างที่มาอยู่ในพิธีนี้มีช่วงที่ว่างอยู่ ก็ปฏิบัติเป็นระยะไป อย่างนี้จะถูกหรือเปล่าก็ไม่ทราบ อยากจะเรียนถาม

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร จะปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้ ถ้าแบ่งเวลาได้

ในหลวง : ไม่ถึงแบ่งเวลาต่างหากออกมาทีเดียว ก็อาศัยเวลาขณะที่ออกมาทำงานอย่างอื่นอยู่นั้นแหละ ได้หรือไม่ คือ ใช้สติอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ ทำงานด้วยความรอบคอบให้สติตั้งอยู่ตลอดเวลา

หลวงพ่อเกษม : ขอถวายพระพร มหาบพิตรทรงปฏิบัติอย่างนั้นถูกแล้ว การที่มหาบพิตรเสด็จพระราชดำเนินมาปฏิบัติงานอย่างนี้ ก็เรียกว่าได้ทรงเจริญเมตตาในพรหมวิหารอยู่

ในหลวง : ก็คิดว่าเป็นอย่างนั้น เช่นว่ามาตัดลูกนิมิตนี้ ก็ถือว่าเป็นการปฏิบัติธรรม ด้วยขี้เกียจมาจึงมีกำลังใจมา และเมื่อได้โอกาสได้เรียนถามพระสงฆ์ว่า การปฏิบัติธรรมเป็นระยะเวลาสั้นๆ เป็นตอนๆ อย่างนี้จะได้ผลไหม อุปมาเหมือนช่างทาสีผนังโบสถ์ เขาทาทางนี้ดีแล้วพัก ทาทางโน้นดีแล้วพัก ทำอยู่อย่างนี้ก็เสร็จได้ แต่ต้องใช้เวลาหน่อย จึงอยากเรียนถามว่าปฏิบัติอย่างนี้ จะมีผลสำเร็จไหม

หลวงพ่อเกษม : ปฏิบัติอย่างนั้นก็ได้โดยอาศัยหลัก ๓ อย่าง คือ มีศีลบริสุทธิ์ ทำบุญในชาติปางก่อนไว้มาก มีบาปน้อย ขอถวายพระพร

เจ้าคุณฯ : ได้ตามขั้นของสมาธิ คือ อุปจารสมาธิได้สมาธิเป็นแต่เฉียดๆ ขณิกสมาธิ ได้สมาธิเป็นขณะๆ เรียกว่า อัปปนาสมาธิ ได้สมาธิแน่วแน่ดิ่งลงไปได้นาน ๆ (อธิบายละเอียดกว่าที่บันทึกนี้)

 

ภาพ : TahLampang
สืบค้นจาก https://www.pralanna.com/boardpage.php?topicid=19149



ในหลวง : ครับ ที่หลวงพ่อว่ามีศีลบริสุทธิ์ ชาติก่อนทำบุญไว้มากอยากทราบว่าผมเกิดเป็นอะไร ได้ทำ อะไรไว้บ้าง จึงได้มาเป็นอย่างนี้ (หลวงพ่อยิ้มและนิ่ง แล้วหันมาทางข้าพเจ้าบอกว่าตอบยาก) 
 

หลวงพ่อเกษม : (ยิ้มและนิ่ง หันมาทางพระครูปลัดจันทร์ กตปุญโญ ซึ่งเป็นผู้บันทึก แล้วจึงตอบว่า)  ตอบยาก!
 

พระครูปลัดจันทร์ : ขอถวายพระพร … หลวงพ่อไม่อาจจะพยากรณ์ถวายมหาบพิตรได้
 

เจ้าคุณพระอินทรวิชยาจารย์ : หลวงพ่ออาจจะเกรงพระราชหฤทัยมหาบพิตรก็ได้ … ขอถวายพระพร


ในหลวง : หลวงพ่อไม่ต้องเกรงใจว่าเป็นพระราชา … ขอให้ถือว่าสนทนาธรรมก็แล้วกัน ยินดีรับฟัง

มีคนพูดกันว่า ชาติก่อนผมเกิดเป็นนักรบ มีบริวารมาก  ถ้าเป็นอย่างนั้น ศีลห้าจะบริสุทธิ์ได้อย่างไร?  การเป็นนักรบนั้นจะต้องได้ฆ่าคน … สงสัยอยู่?
 

หลวงพ่อเกษม : (หันมากระซิบกับพระครูปลัดจันทร์ว่า)  เอ… ใครทำนายถวายท่านอย่างนั้นก็ไม่รู้!  เราไม่รู้ เราไม่มี “อตีตังสญาณ” (ญาณหยั่งรู้อดีต) “อนาคตังสญาณ” (ญาณหยั่งรู้อนาคต)

ตอบยาก … ต้องหลวงพ่อเมืองสิ!
 

พระครูปลัดจันทร์ : ขอถวายพระพร … หลวงพ่อยืนยันว่า มหาบพิตรมีศีลบริสุทธิ์และทรงมีบุญมาก!

 

ภาพ : PHENKHAO สืบค้นจาก https://www.phenkhao.com/contents/372280


 

บทสวดพระคาถา ของหลวงพ่อเกษม เขมโก 
 

พระคาถาหลวงพ่อเกษม เขมโก สุสานไตรลักษณ์

 เป็นบทที่ใช้ภาวนาเพื่อให้จิตใจผู้สวดมีความเข้มแข็ง ใช้เพื่อป้องกันอันตราย แคล้วคลาด 
เมื่อท่องพระคาถา บทนี้แล้ว ให้ระลึกถึงหลวงพ่อเกษม เขมโก ก่อนการเดินทางหรือออกจากบ้าน

(ตั้งนะโม ๓ จบ)

พุทโธ วะโร สะติมะโต สัพพะอันตะรายา วินัสสะตุ ฯ

.........................................................................................

บทสวดภาวนาบูชาหลวงพ่อเกษม เขมโก

โอกาสะ โอกาสะ อาจาริโย เมนาโถ ภัณเตโหตุ อายัสมา เขมโกภิกขุ เมนาโถภัณเตโหตุ อาจาริยัง วันทามิหัง

.........................................................................................

สวดบูชาหรือรำลึกถึงหลวงพ่อหลวงพ่อเกษม เขมโกแบบย่่อ

สังฆะรูปัง วันทามิหัง สังฆังนะมามิ

.........................................................................................

อาราธนาพระเครื่องหลวงพ่อเกษม วัตถุมงคลของหลวงพ่อติดตัว

เขมกะภิกขุง อาราธนานัง วันทามิหัง (สวด ๓ จบ)

.........................................................................................

คาถาป้องกันอันตราย

นะโนนะ อันตรายา วินัส สันติ (สวด ๓, ๕, ๗ จบ)

 

 

ภาพ : PHENKHAO สืบค้นจาก https://www.phenkhao.com/contents/372280

 

ประวัติหลวงพ่อเกษม เขมโก

หลวงพ่อเกษม เขมโก เดิมมีนามว่า เจ้าเกษม ณ ลำปาง ประสูติ เมื่อ วันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๔๕๕ ตรงกับวันพุธ เดือนยี่ (เหนือ) ปีชวด ร.ศ. ๑๓๑ เป็นบุตรใน เจ้าน้อยหนู ณ ลำปาง (ภายหลังเปลี่ยนนามสกุลใหม่เป็น มณีอรุณ) รับราชการเป็นปลัดอำเภอ กับ เจ้าแม่บัวจ้อน ณ ลำปาง และเป็นราชปนัดดาในเจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าหลวงผู้ครองนครลำปางองค์สุดท้าย

 

หลวงพ่อเกษม เขมโก เป็นพระสายวิปัสสนาธุระ ไม่ยึดติดแม้แต่สถานที่ ท่านได้ปฏิบัติธรรม ณ สุสานไตรลักษณ์ตลอดชนชีพ เป็นพระที่เป็นที่เคารพสักการะของคนในจังหวัดลำปางและทั่วประเทศ ท่านปฏิบัติศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยไม่ติดยึดในกิเลสทั้งปวง

 

ภาพ : PHENKHAO สืบค้นจาก https://www.phenkhao.com/contents/372280


 

หลวงพ่อเกษม เขมโก ท่านได้ปฏิบัติธรรมจนเป็นพระที่ขาวสะอาด  ศีลบริสุทธิ์ตามพระธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านเป็นพระไม่ติดยึดใคร ต้องการอะไร ขออะไร ไม่เคยปฏิเสธ จนสังขารของท่านดูแล้วไม่แข็งแรง แต่จิตของหลวงพ่อแข็งแรง และท้ายที่สุดหลวงพ่อเกษม เขมโก ได้ละสังขาร ณ ห้องไอซียูโรงพยาบาลศูนย์ภาคเหนือ จังหวัดลำปาง เมื่อเวลา ๑๙.๔๐ น. ของวันจันทร์ที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๙ ซึ่งตรงกับวันแรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๒ ยังความอาลัยเศร้าโศกเสียใจมายังหมู่สานุศิษย์ทั่วประเทศ 

 

สรีระสังขารไม่เน่าเปื่อย

ส่วนสรีระของท่านนั้นก็ยังความอัศจรรย์ด้วยเนื่องจากไม่เน่าเปื่อยเหมือนอย่างสังขารทั่วไป ทั้งยังเขียนป้ายบอกผู้ที่มาเคารพสรีระ ท่านด้วยว่า ให้พนมมือไหว้ที่หน้าอกเพียงครั้งเดียวแล้วไม่ต้องกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์อย่างศพของพระเถระทั่วไปนับว่าท่าน นั้นถือสมถะเป็นอย่างมาก

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow