Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

คุณจะตายอย่างไร

Posted By Plook Creator | 08 ม.ค. 61
5,855 Views

  Favorite

แม้ว่าการตายจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกชีวิตจะต้องเจอ แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากตาย หรือหากต้องตายก็อยากจะเลือกว่าจะตายแบบใด แต่ความเป็นจริงมันไม่ง่ายแบบนั้น แล้วถ้าแค่รู้ว่าจะตายแบบไหนล่ะ บางทีมันอาจจะไม่ยากเกินกว่าความสามารถของเทคโนโลยีปัจจุบันที่จะรู้ได้ก็เป็นได้

 

ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงเรื่องของอาหารและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ดีขึ้น ทำให้มนุษย์มีอัตราการเกิดมากขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้น มีอัตราการตายลดลง ลองจินตนาการตามดูว่าในช่วงค.ศ. 1901 หรือกว่าร้อยปีก่อนนั้นอายุขัยโดยเฉลี่ยของคนเราอยู่ที่ 31 ปีเท่านั้น มันสูงขึ้นสองเท่าในช่วงร้อยกว่าปีที่ผ่านมานี้ และบางทีการมีอายุยืนยาวขึ้น ก็อาจจะทำให้คุณสามารถเลือกสาเหตุการตายได้ แม้ว่าจะฟังดูย้อนแย้งแต่เหมือนจะเป็นไปได้

 

ค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งก็แปรผันโดยตรงกับอัตราการตายอย่างตรงไปตรงมา แน่นอนว่าถ้าอัตราการตายของประชากรโดยเฉลี่ยลดลง เมื่อประชากรโดยเฉลี่ยเสียชีวิตเมื่ออายุมากขึ้น อายุขัยโดยเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้น อายุขัยของประชากรโลกโดยเฉลี่ยที่มีการทำการสำรวจเมื่อปีค.ศ. 2015 อยู่ที่ 71.4 ปีโดยรวมทั้งชายและหญิง

 

อายุขัยโดยเฉลี่ยในทวีปแอฟริกาค่อนข้างต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั้งโลกโดยมีอายุอยู่ที่ 60 ปี ส่วนทวีปยุโรปสูงกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 76.8 ปี และแน่นอนว่าอายุขัยของเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ค่าเฉลี่ยของอายุขัยตลอดช่วงประวัติศาสตร์มนุษย์เรามีเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นระยะ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก เช่น สงครามโลกครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ซึ่งทำประชากรโลกลดลงอย่างรวดเร็ว และนั่นทำให้ค่าเฉลี่ยของอายุผิดเพี้ยนไปจากที่ควรจะเป็นอีกด้วย ยังไม่นับโรคระบาดที่เกิดขึ้นหลายครั้งในช่วงต่าง ๆ ของประวัติศาสตร์อย่างกาฬโรค และโรคเอดส์ ดังนั้น ค่าเฉลี่ยอายุขัยประชากรโลกจึงไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างเดียว มันมีช่วงขาลงเช่นกัน และการศึกษาก็พบว่าอันที่จริงมีปัจจัยที่ส่งผลต่อค่าเฉลี่ยอายุขัยของคนเรา รวมถึงอัตราการรอดชีวิตของเด็กที่เพิ่งเกิดอีกด้วย และแม้ว่าอัตราการเกิดจะลดลงเรื่อย ๆ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่อายุโดยเฉลี่ยของคนก็ยังเพิ่มขึ้นอยู่


อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญไม่ได้อยากตาย แต่หากจะต้องตายก็อยากจะเลือกให้จากไปอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัวหรือไม่เจ็บปวด อย่างการนอนหลับและเสียชีวิตไปเฉยๆ แต่ความจริงคือไม่มีใครสามารถเลือกวิธีการตายได้  ข้อมูลการตายเป็นดัชนีชี้วัดอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของสาธารณสุขของประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้นพบว่า อัตราการตายต่อประชากรพันคนพบต่ำที่สุดในกลุ่มอายุ 10-14 ปี ส่วนสาเหตุการตายก็แปรผันไปตามช่วงอายุเนื่องจากพฤติกรรมและกิจกรรมของแต่ละช่วงอายุแตกต่างกัน

 

การตายจากโรคบางกลุ่มซึ่งจะพบในเด็กและผู้สูงอายุ ส่วนการตายจากอุบัติเหตุมักพบในวัยรุ่นและวัยทำงานมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็กมักจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางน้ำมากที่สุด ส่วนวัยรุ่นและวัยทำงานเสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับการขนส่ง โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่นั้น สืบเนื่องจากการเป็นนักขับขี่มือใหม่ ชอบพฤติกรรมเสี่ยงอันตราย เมาแล้วขับ ใช้สารเสพติด รวมถึงความประมาทอันเกิดจากการไม่ใช่อุปกรณ์เสริมเพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมวกกันน็อกหรือเข็มขัดนิรภัย หากพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ อาจจะเรียกได้ว่าหากจะตายสวย ๆ ตายทันที ไม่เละเหมือนตายจากอุบัติเหตุจากการขับขี่ คุณก็ควรจะมีอายุยาวให้เลยพ้นวัยทำงาน

 

หากไม่ตายโดยทันทีแบบที่เกิดจากอุบัติเหตุ คุณอาจจะต้องเลือกระหว่างโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง คุณอาจจะได้นอนเป็นเวลานานในโรงพยาบาลก่อนจะตาย แต่นั่นไม่ใช่การนอนเล่นเฉย ๆ เพราะความเจ็บปวดที่ได้รับจากตัวโรคและการรักษาจะทำให้คุณทุกข์ทรมานเป็นเวลานาน ข้อเท็จจริงก็คือคนเราเลือกเกิดไม่ได้ และก็เลือกวิธีการตายไม่ได้เช่นกัน แต่หากคุณอยากจจะรู้จริง ๆ ว่าจะตายอย่างไร ทุกวันนี้มีงานวิจัยที่นำเอาซูเปอร์คอมพิวเตอร์และระบบสมองกลมาคำนวณปัจจัยความเสี่ยง โรค พฤติกรรม กิจกรรม การใช้ชีวิตต่าง ๆ และประวัติสุขภาพของคุณ เพื่อประเมินว่าคุณจะใช้ชีวิตได้ยืนยาวถึงกี่ปี และจะตายด้วยสาเหตุอะไร ซึ่งอาจจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนที่อยากรู้อยากเห็นก็เป็นได้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Creator
  • 15 Followers
  • Follow