1. มีดาวเคราะห์จำนวน 9 ดวง ที่โคจรอยู่รอบดวงอาทิตย์ ได้แก่ ดาวพุธ (Mercury) ดาวศุกร์ (Venus) โลก (Earth) ดาวอังคาร (Mars) ดาวพฤหัส (Jupiter) ดาวเสาร์ (Saturn) ดาวยูเรนัส (Uranus) ดาวเนปจูน (Neptune) และดาวพลูโต (Pluto) แต่สำหรับดาวพลูโตแล้ว ภายหลังได้ถูกกำหนดให้เป็นเพียงดาวเคราะห์แคระในพ.ศ. 2549 เนื่องจากดาวพลูโตไม่เป็นไปตามนิยาม 3 ข้อ ของคำว่า "ดาวเคราะห์" ตามการจัดประเภทของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล (International Astronomical Union, IAU)
2. ปัจจุบันดวงอาทิตย์มีอายุประมาณ 4.6 พันล้านปี ซึ่งถือได้ว่ามันเดินทางมาถึงครึ่งหนึ่งของอายุขัยของมันแล้ว
3. บนดวงอาทิตย์ประกอบไปด้วยไฮโดรเจนประมาณ 75% ฮีเลียม 23% และธาตุอื่น ๆ อีก 2%
4. ที่ใจกลางของดวงอาทิตย์ มีพลังงานที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชั่น โดยโมเลกุลของไฮโดรเจนจะรวมกันและกลายเป็นฮีเลียม พร้อมกับปลดปล่อยพลังงานตามสมการ E=mc^2
5. นักวิทยาศาสตร์คาดว่า จะมีการเผาไหม้ไฮโดรเจนที่ถูกเก็บไว้บริเวณใจกลางดวงอาทิตย์อย่างต่อเนื่องไปได้อีก 5 พันล้านปี หลังจากนั้นมันจะใช้ฮีเลียมที่มีอยู่เป็นเชื้อเพลิงในการเผาไหม้แทน
6. ที่ใจกลางของดวงอาทิตย์ มีอุณหภูมิสูงถึง 15 ล้านองศาเซลเซียส ขณะที่ผิวนอกสุด มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5,500-6,000 องศาเซลเซียส ซึ่งแม้แต่ส่วนที่เย็นกว่าส่วนอื่น ๆ ก็ยังมีอุณหภูมิสูงถึง 3,800 องศาเซลเซียส
7. ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด โดยมีระยะทางห่างจากโลก 149.60 ล้านกิโลเมตร
8. แสงจากดวงอาทิตย์ใช้เวลา 8.3 นาที (ประมาณ 8 นาที 20 วินาที) หรือ 499 วินาที ในการเดินทางมาถึงโลก
9. แสงอาทิตย์เป็นแสงขาว ที่มีสีสันต่าง ๆ ผสมรวมกันอยู่ ซึ่งสามารถใช้ปริซึมแยกสีสันออกมาได้ 7 สี คือ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง และเมื่อเกิดการกระเจิงของแสง (atmospheric scattering) ในช่วงเวลาต่าง ๆ ก็ทำให้เรามองเห็นแสงอาทิตย์เป็นสีส้ม หรือเห็นท้องฟ้าเป็นสีฟ้าได้
10. ดวงอาทิตย์หมุนรอบแกนของตัวเอง โดยใช้เวลา 25.38 วัน หรือ 609.12 ชั่วโมงบนโลก
11. ดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์จะโคจรไปในทิศทางเดียวกัน คือ โคจรในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา
12. แม้ว่าจะมีหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความผันผวนของปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์ที่มีผลต่อสภาพอากาศภายในโลก แต่นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศและนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ส่วนใหญ่กลับเห็นด้วยกับแนวคิดที่ว่า ดวงอาทิตย์ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในอดีตและปัจจุบัน สาเหตุส่วนใหญ่จริง ๆ แล้วมาจากมนุษย์ต่างหาก
13. บนดวงอาทิตย์มีแรงโน้มถ่วงเป็น 28 เท่าของโลก ดังนั้น หากชั่งน้ำหนักบนโลกได้ 68 กิโลกรัม ก็จะมีน้ำหนักประมาณ 1,900 กิโลกรัม บนดวงอาทิตย์
14. หากนำโลกไปวางบนพื้นที่ผิวหน้าของดวงอาทิตย์ จะต้องใช้โลกประมาณ 109 ดวงจึงจะเต็มพื้นที่ผิวดังกล่าว และหากจับโลกใส่ลงไปในดวงอาทิตย์จนเต็ม (ปริมาตร) จะต้องใช้โลกมากกว่า 1 ล้านดวง จึงจะพอดีกับดวงอาทิตย์ 1 ดวง
15. ในศตวรรษที่ 16 นิโคลัส โคเปอร์นิคัส นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์ ได้โต้แย้งทฤษฎีของปโตเลมีที่กล่าวว่า "โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล" โดยให้แนวคิดว่า ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ อย่างไรก็ตามรูปแบบของระบบสุริยะของโคเปอร์นิคัสก็ยังไม่ได้รับการยอมรับในเวลานั้นทันที กระทั่งนิวตันได้เสนอกฎการเคลื่อนที่ของนิวตันขึ้นมา
16. สุริยุปราคา (Eclipse) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรมาอยู่ระหว่างดวงอาทิตย์กับโลก
17. นอกจากความร้อนและแสงสว่างแล้ว ดวงอาทิตย์ยังปลดปล่อยกระแสอนุภาคพลังงานสูงที่เรียกว่า "ลมสุริยะ (Solar wind)" ซึ่งอยู่ในรูปของโปรตอน อิเล็กตรอน และอนุภาคอื่น ๆ ที่มีความเร็วสูงออกมาด้วย มันเป็นสาเหตุของสัญญาณรบกวน ทำให้เกิดหางยาว ๆ ของดาวหาง (Comets) ที่เรามองเห็น และปรากฏการณ์แสงเหนือ (Aurora borealis หรือ Northern Lights) เป็นต้น
18. มีดาวเทียมหลายดวงที่มนุษย์ส่งขึ้นไปในอวกาศเพื่อศึกษาดวงอาทิตย์ แต่ดาวเทียมหลักที่ใช้ในการศึกษาดวงอาทิตย์ คือ ดาวเทียมที่ชื่อว่า "SOHO" (Solar and Heliospheric Observatory) โดยถูกส่งขึ้นไปเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2538 ดาวเทียมดวงนี้พิเศษกว่าดาวเทียมดวงอื่น คือ มันสามารถติดตามดูดวงอาทิตย์ได้ตลอดเวลาโดยไม่ถูกโลกเบียดบัง เนื่องจากมันโคจรรอบดวงอาทิตย์ไปพร้อม ๆ กับโลก
19. หากเปรียบเทียบความสว่างของดวงอาทิตย์กับหลอดไฟแล้ว จะเท่ากับการเปิดหลอดไฟขนาด 100 วัตต์เป็นจำนวน 4 ล้านล้านดวงพร้อมกันเลยทีเดียว (ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่เราจะได้ยินว่าการจ้องมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่านาน ๆ ทำให้ตาบอดได้)
บทความที่เกี่ยวข้อง