Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การตลาดสินค้าหัตถกรรม

Posted By Plookpedia | 27 ธ.ค. 59
1,329 Views

  Favorite

การตลาดสินค้าหัตถกรรม

เมื่อมีการผลิตสินค้าหัตถกรรมขึ้นมาแล้ว ก็จำเป็นจะต้องขายให้ได้ต้นทุนบวกกับกำไรกลับมา เพื่อการดำรงชีพ และขยายงาน แต่จะขายให้กับใคร ก็คงจะตอบว่า ขายให้แก่คนที่ต้องการซื้อสินค้านั้นๆ มาจำหน่ายต่อ หรือเก็บไว้ใช้เอง หมายถึง ผู้ค้าปลีก เอเยนต์ หรือนายหน้า รวมไปถึงผู้ส่งออก ซึ่งซื้อสินค้านี้ เพื่อนำไปขายต่อยังตลาดต่างประเทศ และผู้ใช้ หรือผู้บริโภคโดยตรง 

ตลาดสำหรับสินค้าหัตถกรรมแบ่งออกเป็น ๒ ตลาด คือตลาดภายในประเทศ (DOMESTIC MARKET) และตลาดส่งออก (EXPORT MARKET)

ตลาดภายในประเทศ (DOMESTIC MARKET) 

การขายในประเทศ เป็นการขายที่เกิดขึ้นภายในประเทศของเราเอง จึงไม่มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เพียงแต่ขายให้ได้ราคาที่อยู่ในเกณฑ์ดี ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดแล้ว 

ช่องทางการจำหน่ายภายในประเทศโดยทั่วไปมีดังนี้คือ

ผู้บริโภคสินค้าหัตถกรรมของตลาดภายในประเทศ มีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน เช่น กลุ่มผู้บริโภคทั่วไปคือ ผู้ที่ซื้อหามา เพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวัน กลุ่มนักสะสม กลุ่มผู้ซื้อหามาเพื่อการตกแต่งบ้านเรือน และสถานที่ และกลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไป ทั้งชาวไทย และชาวต่างประเทศ เป็นต้น 

สินค้าหัตถกรรม เพื่อขายภายในประเทศ โดยทั่วไปจะมีหลายระดับคุณภาพ ความประณีต และราคา ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้เลือกสรรตามวัตถุประสงค์ของการใช้สอย เพราะผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม จะมีความต้องการที่ไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มนักสะสม ต้องการชิ้นงานหัตถกรรมรูปแบบที่มีความแปลก สวยงาม ฝีมือการผลิตที่ประณีต ในขณะที่ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อ เพื่อไปใช้สอย อาจจะต้องการชิ้นงาน ที่แข็งแรง ความประณีตสวยงามน้อยกว่ากลุ่มนักสะสม และราคาที่ไม่แพงนัก เป็นต้น ส่วนกลุ่มนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างประเทศ โดยทั่วไปอาจจะไม่ค่อยพิถีพิถันเกี่ยวกับรูปแบบ และความประณีตมากนัก เพราะจุดประสงค์ของการซื้อผลิตภัณฑ์หัตถกรรมในท้องถิ่นที่เดินทางไป ก็เพราะมีความประทับใจเกี่ยวกับประเทศ ขนบธรรมเนียมประเพณี และสิ่งต่างๆ อันเป็นเอกลักษณ์ของไทยเรา ซึ่งอาจจะไม่ค่อยคำนึงถึงสิ่งปลีกย่อยเกี่ยวกับคุณภาพ ความประณีตบรรจง หากจะด้อยไปสักนิด ก็ไม่ถือว่าสำคัญ เพราะต้องการซื้อ เพื่อเป็นของที่ระลึกสำหรับการมาเยือน และเป็นของฝากแก่ผู้ใกล้ชิด แต่การผลิต สินค้าหัตถกรรม เพื่อขายแก่นักท่องเที่ยวนั้น แม้ผู้ซื้อไม่ค่อยพิถีพิถันเกี่ยวกับคุณภาพความประณีต สวยงามมากนัก ก็อย่าไปคิดว่า ผลิตคุณภาพไม่ดี ก็ขายได้ เพราะการที่นักท่องเที่ยวซื้อสินค้าหัตถกรรมจากประเทศเราไป เมื่อไปถึงประเทศของเขาแล้ว เขาก็จะต้องเอาไปให้ และไปอวดต่อผู้ใกล้ชิด หรือผู้ที่รู้จัก หากชิ้นงานนั้น มีคุณภาพดี เป็นที่พอใจของผู้ได้รับหลายๆ คน ก็เป็นแนวทางหนึ่งของการเผยแพร่สินค้านี้ ซึ่งอาจจะสามารถส่งเป็นสินค้าออกไปขายยังประเทศนั้นๆ ได้อีกด้วย

ตลาดต่างประเทศ (EXPORT MARKET) 

การขายไปยังตลาดต่างประเทศ หรือการส่งออก ผู้ประกอบการส่งออก จะต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ ตั้งแต่การจัดการ คือ เงินทุน สำนักงาน ความพร้อมของเจ้าหน้าที่ดำเนินการ การรู้จัก และการสร้างความเชื่อถือต่อลูกค้า และประการสำคัญคือ ความพร้อมในด้านการผลิต เพื่อการส่งออก ซึ่งจะโยงไปถึงชนิดของสินค้า โดยเฉพาะผู้ส่งออกรายใหม่ๆ มักจะนิยมเริ่มจากสินค้าหัตถกรรม เพราะเป็นสินค้าที่เข้าสู่ตลาดได้ง่าย เนื่องจากประเทศที่พัฒนาแล้ว มักจะให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร โดยไม่เก็บภาษีขาเข้า แม้กฎเกณฑ์ และข้อกำหนดจะแตกต่างกันในแต่ละตลาด แต่ก็ไม่มากนัก จึงทำให้ผู้ส่งออกรายใหม่คิดว่า สินค้าหัตถกรรมนั้น ใช้เงินทุนน้อย สามารถหาผลิตภัณฑ์ได้จากแหล่งต่างๆ ในชนบท แต่ก็มีข้อที่ควรระวังคือ ความสามารถในการผลิต เช่น ปลาตะเพียน ซึ่งเป็นหัตถกรรมไทย ที่ทำกันมาช้านาน ผู้ส่งออกจะไปซื้อจากชาวบ้านมาส่งออก แต่ถ้าหากมีการสั่งซื้อเป็นจำนวนมาก ก็จะมีปัญหาในการจัดหา เพราะแต่ละแห่งที่ผลิต จะมีคุณภาพ และฝีมือที่แตกต่างกัน และวัสดุที่ใช้ ก็ไม่เหมือนกัน คุณภาพของสินค้าจึงไม่สม่ำเสมอ ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะทำให้เสียลูกค้าไปได้เหมือนกัน

ปริมาณการผลิต และคุณภาพสินค้าที่ได้มาตรฐาน ระยะเวลาการส่งมอบที่รวดเร็ว และตรงต่อเวลาเป็นสิ่งสำคัญต่อการส่งออกอย่างมาก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow