Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำไมพลุถึงมีสีต่าง ๆ กัน

Posted By sanomaru | 27 ธ.ค. 60
68,019 Views

  Favorite

พลุหรือดอกไม้ไฟที่สวยงามนั้นเชื่อว่าถูกผลิตขึ้นในประเทศจีนมากว่า 1,000 ปีแล้ว และจนถึงวันนี้จีนก็ยังนับเป็นผู้ผลิตพลุที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอีกด้วย แต่พลุที่สวยงามราวกับใช้เวทมนตร์เสกขึ้นมานี้มีหลักการทำงานอย่างไร และอะไรที่ทำให้พวกมันมีลักษณะและสีสันที่แตกต่างกันล่ะ

 

สิ่่งหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายพลุ มีหลักการทำงาน และมีส่วนประกอบที่คล้ายกันก็คือ ประทัด มันเป็นแท่งทรงกระบอกเล็ก ๆ ที่อัดแน่นไปด้วยดินปืน แล้วห่อหุ้มด้วยกระดาษสีแดง ปลายด้านหนึ่งมีชนวนสำหรับจุดไฟ ซึ่งหากไฟลามไปจนถึงดินปืนภายใน มันก็จะระเบิดออกและมีเสียงดัง แต่การระเบิดของมันนั้นไม่ได้ให้สีสันสวยงามเช่นเดียวกับพลุ

ภาพ : Shutterstock

 

สำหรับพลุหรือดอกไม้ไฟมีความซับซ้อนกว่าประทัดเล็กน้อย เพราะพวกมันถูกอัดด้วยดินปืน ซึ่งก็คือ ดินประสิว (โพแทสเซียมไนเตรต, KNO3) ผสมกับกำมะถัน และยังมีส่วนประกอบเพิ่มเติมอื่น ๆ ด้วย และส่วนประกอบเหล่านี้เองที่ทำให้พลุมีประกายไฟที่มีสีสันแตกต่างออกไปจากประทัด ตลอดจนการจัดเรียงส่วนประกอบภายในไส้พลุและจำนวนชั้นที่ห่อหุ้มไส้พลุก็ยังทำให้พวกมันมีรูปแบบและระดับความสูงที่แสดงออกมาบนท้องฟ้าได้อย่างหลากหลาย

 

ส่วนประกอบของพลุ

พลุประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลัก ๆ 6 ส่วน ได้แก่
1. ชนวน (Fuse) เป็นวัสดุที่ติดไฟได้ง่าย ซึ่งจะยื่นออกมาจากพลุด้วยความยาวระดับหนึ่ง สำหรับให้เราจุดไฟที่ปลายของชนวนนี้
2. เปลือกห่อหุ้ม (Shell) เป็นส่วนที่ห่อหุ้มส่วนประกอบทั้งหมดของพลุเอาไว้
3. ดินปืนส่งให้พลุพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า (Lifting Charge) ส่วนนี้เป็นส่วนที่จะเชื่อมต่อกับชนวน โดยจะสัมผัสกับประกายไฟและส่งให้พลุพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้า
4. ชนวนควบคุมเวลาการระเบิด (Time Delayed Fuse) เป็นชนวนที่อยู่ภายในเปลือกห่อหุ้ม และเป็นตัวกำหนดระยะเวลาที่พลุจะระเบิดออกมาเป็นสีสันต่าง ๆ
5. ดินปืนจุดระเบิด (Bursting Charge) อยู่ติดกับชนวนควบคุมเวลาการระเบิด
6. เม็ดดาว (Star) เป็นส่วนของสารเคมีที่ให้สีสันต่าง ๆ เมื่อแตกออก

 

ภาพแสดงส่วนประกอบของพลุ

ภาพ : trueplookpanya

 

หลักการทำงานของพลุหรือดอกไม้ไฟ

เมื่อเราจุดไฟที่ชนวนของพลุ ไฟจะลุกไหม้กระทั่งไปถึงดินปืน เมื่อโพแทสเซียมไนเตรตในดินปืนได้รับความร้อนก็จะปลดปล่อยออกซิเจนออกมา และทำให้ไฟติด เกิดการเผาไหม้และแรงปะทุส่งให้ไส้พลุพุ่งทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า ขณะที่ไส้พลุเดินทางขึ้นสู่ท้องฟ้า ชนวนควบคุมเวลาการระเบิดจะเกิดการเผาไหม้ เมื่อมันสัมผัสกับส่วนผสมต่าง ๆ ภายในไส้พลุ และระเบิดออก จะทำให้เม็ดดาวแตกกระจายออกมา และให้สีสันที่สวยงามที่เราเห็นบนท้องฟ้า โดยสารเคมีแต่ละชนิดจะให้สีสันต่าง ๆ กัน เช่น
    - สทรอนเชียมคาร์บอเนต (SrCO3) ให้สีแดง
    - ลิเทียมคาร์บอเนต (Li2CO3) ให้สีแดง
    - แบเรียมคลอเรต (BaClO3) ให้สีเขียว
    - คอปเปอร์ซัลเฟต (CuSO4) ให้สีฟ้า
    - แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ให้สีเหลือง
    - โซเดียมออกซาเลต (Na2C2O4) ให้สีเหลือง
    - แคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) ให้สีส้ม

 

แม้ว่าพลุหรือดอกไม้ไฟจะเต็มไปด้วยความสวยงามเมื่ออยู่บนฟ้า แต่มันก็เต็มไปด้วยอันตรายเช่นเดียวกัน จากสถิติพบว่า มักมีการบาดเจ็บจากการเล่นพลุหรือดอกไม้ไฟที่อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนี้
    - มือและนิ้ว 41%
    - ดวงตา 12%
    - ศีรษะ ใบหน้า และหู 19%
    - ลำตัว 15%
    - แขน 1%
    - ขา 13%

 

มีข้อระมัดระวังในการเล่นพลุมากมาย ตั้งแต่เรื่องที่ไม่ควรทำอย่างการเล่นพลุในบ้านหรือการให้เด็กเล่นพลุ ไปจนถึงวิธีการจุดพลุโดยหันพลุไปในทิศทางตรงกันข้ามกับที่มีผู้คนอยู่ การอยู่ห่างจากพลุที่จุดอย่างน้อย 50 ฟุต และการตระเตรียมอุปกรณ์ดับไฟหรือน้ำไว้ใกล้มือขณะเล่น อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่าข้อระมัดระวังเหล่านี้จะทำให้เราปลอดภัยจากพลุร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะอุบัติเหตุมักเกิดขึ้นได้เสมอ ทางที่ดีที่สุดหากอยากชมความงดงามของพลุ คุณสามารถรอชมมันได้ในเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งจะมีการแสดงพลุสวยงามและยิ่งใหญ่อลังการให้ได้ชมกันอยู่เสมอ อย่างเทศกาลปีใหม่หรือเทศกาลลอยกระทง เป็นต้น

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • sanomaru
  • 17 Followers
  • Follow