Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อาชีวอนามัย

Posted By Plookpedia | 25 ธ.ค. 59
14,690 Views

  Favorite

 

คนเราต้องทำมาหากิน ผู้ประกอบอาชีพบางอาชีพ เช่น อุตสาหกรรม และเกษตรกรรมหลายอย่าง อาจเกิดโรคหรืออาการเจ็บป่วยจากการทำงานได้ง่าย เช่น อุบัติเหตุในการใช้เครื่องมือเครื่องจักรต่างๆ โรคจากการรับสารบางอย่างเข้าไปในร่างกาย ภาวะหูเสื่อมจากเสียงดัง ปัญหาสุขภาพจิต และความเครียดจากการทำงาน 

นอกจากผู้ที่ทำงานอาชีพต่างๆ จะได้รับสารในสถานที่ทำงานแล้ว คนอื่นก็อาจได้รับสารด้วย เช่น คนอยู่ใกล้โรงงานที่ใช้สารตะกั่ว ก็ได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกาย ประชาชนทั่วไปก็อาจได้รับตะกั่วจากการกินอาหารหลายชนิด ที่ใส่สีที่มีตะกั่ว เช่น ขนมหวาน กุ้งแห้ง

ตะกั่วและสารอื่นๆ หลายอย่างเข้าสู่ร่างกายได้ โดยการกินเข้าไป หายใจเข้าไป และดูดซึมทางผิวหนัง เมื่อร่างกายได้รับสารตะกั่ว อาจเบื่ออาหาร ปวดท้องอย่างรุนแรง เป็นอัมพาต ชักหมดสติ และตายได้

สถานประกอบการ หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนคนงาน และประชาชน ต้องช่วยกันป้องกันการเกิดอันตรายและโรคต่างๆ

 

ในการประกอบอาชีพมีบางอาชีพที่คนทำงานเสี่ยงต่อโรค เพราะมีสิ่งที่เป็นตัวการทำให้เกิดโรคได้ง่าย เช่น โรคพิษตะกั่ว ซึ่งเป็นสารโลหะหนัก เกิดจากการได้รับสารตะกั่วเข้าไปในร่างกายถึงขีดอันตราย กลุ่มผู้เสี่ยงต่อการเกิดโรคพิษตะกั่ว ได้แก่ คนงานที่สัมผัสสารตะกั่ว เช่น คนงานที่ทำเหมืองตะกั่ว โรงงานผลิตแบตเตอรี่ โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ โรงงานผลิตสี โรงงานทำและบรรจุสารกำจัดศัตรูพืช ตำรวจจราจร นอกจากนี้ กลุ่มอื่นๆ ก็อาจเป็นโรคนี้ได้ เช่น บุคคลที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณโรงงานหลอมตะกั่ว หรือใกล้โรงงานที่มีการใช้สารตะกั่ว บุคคลที่อยู่ในบริเวณที่มีการจราจรหนาแน่นนานๆ บุคคลที่อยู่ในครอบครัวของคนงานที่ประกอบอาชีพสัมผัสตะกั่ว ซึ่งได้รับฝุ่นตะกั่ว ที่ติดอยู่ตามเสื้อผ้า ผิวหนัง และผมของคนงาน เด็กก็อาจเป็นโรคนี้ได้ เพราะ หยิบสิ่งของที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนเข้าปาก หรือรับสารตะกั่วจากน้ำนมของมารดาที่มีสารตะกั่ว แม้แต่ทารกในครรภ์มารดาที่ได้รับสารตะกั่วก็ได้รับสารผ่านทางสายสะดือด้วย
 

ตำรวจจราจรเป็นอาชีพหนึ่งที่เสี่ยงต่อการได้รับพิษสารตะกั่ว


สารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายได้ ๓ ทางคือ
กินอาหาร ซึ่งรวมถึงน้ำ เครื่องดื่ม ยาสมุนไพรแผนโบราณ หรือสิ่งอื่นๆ ซึ่งปนเปื้อนสารตะกั่วเข้าไป 
หายใจเอาควันของตะกั่วที่หลอมเหลวเข้าไป
ดูดซึมสารตะกั่วทางผิวหนัง
อาการโรคพิษตะกั่วเกิดได้กับหลายระบบของร่างกาย คือ 

ระบประสาทส่วนกลางและสมอง 

อาการสำคัญที่พบ คือ สมองเสื่อมจากพิษตะกั่ว พบในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ มีอาการหงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย ซึม เวียนศีรษะ ฯลฯ ในรายที่เป็นรุนแรง อาจมีอาการสั่นเวลาเคลื่อนไหว ชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้

ระบบประสาทส่วนปลายและกล้ามเนื้อ 

พบมีอาการปวดตามกล้ามเนื้อ และข้อต่างๆ กล้ามเนื้อที่ใช้บ่อยมีอาการอ่อนแรง หรือเป็นอัมพาต 

ระบบทางเดินอาหาร 

เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน โดยเริ่มแรกมักมีอาการท้องผูก แต่บางรายอาจมีอาการท้องเดิน น้ำหนักลด รู้สึกลิ้นรับรสของโลหะ เมื่อภาวะเป็นพิษเพิ่มมากขึ้น กล้ามเนื้อหน้าท้องบีบเกร็ง และกดเจ็บ ทำให้มีอาการปวดท้องมาก เรียกว่า โคลิก
 

คนงานทำงานอยู่หน้าเตาหลอมตะกั่ว


ระบบโลหิต 

มักพบมีอาการซีด โดยทั่วไปจะมีลักษณะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก

ระบบทางเดินปัสสาวะ

 ผู้ป่วยที่ได้รับตะกั่วเป็นเวลานานๆ อาจเกิดภาวะไตวายเรื้อรัง 

ระบบโครงสร้าง 

ตะกั่วจะไปสะสมที่กระดูก โดยเฉพาะที่ส่วนปลายของกระดูกยาว พบได้ในเด็ก

ระบบสืบพันธุ์ 

ผู้ที่ได้รับตะกั่วติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจเป็นหมันได้ ทั้งชายและหญิง 

ระบบอื่นๆ

ทำให้เกิดความผิดปกติในการทำงานของต่อมไทรอยด์ และการผิดปกติของดีเอ็นเอได้
การควบคุมและป้องกันในกลุ่มคนงานที่ทำงานเกี่ยวข้องกับตะกั่วโดยตรง ทำได้ โดยโรงงานควบคุมการผลิต เพื่อให้มีระดับตะกั่ว ในบรรยากาศการทำงานน้อยที่สุด และไม่เกินค่ามาตรฐานที่กำหนด โดยมีการตรวจวัดเป็นประจำ กระบวนการผลิต ให้คนงานสัมผัสสารตะกั่วโดยตรงน้อยที่สุด มีระบบระบายอากาศที่เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ ควบคุมสภาวะการทำงาน เช่น ลดระยะเวลาการสัมผัสสารตะกั่วโดยตรง จัดการ และดูแล ให้คนงานใช้อุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคลที่เหมาะสม เช่น หน้ากาก ถุงมือ ดูแลให้คนงานไม่รับประทานอาหาร ดื่มน้ำ หรือสูบบุหรี่ ในขณะที่ร่างกายมีสารตะกั่วปนเปื้อน หรือในขณะทำงาน ก่อนรับประทานอาหารต้องทำความสะอาดร่างกายก่อนเสมอ ให้ความรู้แก่คนงานเกี่ยวกับอันตรายของสารตะกั่ว และวิธีป้องกัน มีการตรวจร่างกายคนงานก่อนรับเข้าทำงาน และตรวจร่างกายประจำปี

สำหรับการควบคุมและป้องกันในกลุ่มประชาชนทั่วไป ทำได้โดยใช้แต่น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว ผู้เกี่ยวข้องควบคุมการปล่อยมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม ให้เป็นไปตามกฎหมาย ประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคพิษตะกั่ว และวิธีป้องกัน เช่น ไม่รับประทานอาหารที่ใส่สี ซึ่งมีตะกั่ว ควบคุมไม่ให้ใช้สารประกอบตะกั่ว ในการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม ยา และเครื่องสำอาง    

การใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่ว เป็นวิธีการหนึ่งที่ลดมลพิษ


โรคพิษจากโลหะหนัก นอกจากตะกั่วยังมีอีกหลายโรค เช่น โรคพิษปรอท พบในกลุ่มคนงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเครื่องมือวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ บางประเภท วัตถุระเบิด ฯลฯ โรคพิษจากแมงกานีส พบในกลุ่มคนที่ทำงานในเหมืองแมงกานีส โรงงานถ่านไฟฉาย โรงงานหลอมหล่อเหล็กเหนียว ฯลฯ โรคพิษแคดเมียม พบในกลุ่มคนที่ทำงานชุบโลหะ อุตสาหกรรมการถ่ายภาพ และเคลือบมัน ฯลฯ โรคพิษสารหนู พบในกลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสารกำจัดแมลงและสัตว์แทะ สารกำจัดวัชพืช อุตสาหกรรมย้อมผ้า ทำแก้ว ฯลฯ โรคจากฟอสฟอรัส พบในกลุ่มที่ทำวัตถุระเบิด ยาเบื่อหนู ฯลฯ 

อาการของโรคก็ต่างกันไป ส่วนมากสารต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว เข้าสู่ร่างกายโดยการหายใจ การกิน และสัมผัสทางผิวหนัง หลักการควบคุม และป้องกัน คล้ายกับสารตะกั่ว สำหรับฟอสฟอรัส ต้องระวังเรื่องไฟไหม้เป็นพิเศษ เพราะเป็นสารไวไฟ 

นอกจากนี้ยังมีโรคหรืออันตรายจากการใช้เครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในสำนักงานทั่วๆ ไป เช่น เครื่องถ่ายเอกสาร เครื่องพิมพ์ระบบแสงเลเซอร์ เครื่องพิมพ์เขียว เครื่องปรุกระดาษ ฯลฯ ถ้าใช้เป็นเวลานานๆ และใช้ไม่ถูกวิธี 

เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ จากการทำงาน ทุกฝ่ายต้องช่วยกันป้องกัน ในการจัดและดูแลสถานที่ทำงาน เครื่องใช้อุปกรณ์ต่างๆ ระบบการทำงาน สภาวะการทำงาน ผู้ทำงานต้องศึกษาวิธีทำงานที่ถูกต้อง และปฏิบัติตาม

การใช้เครื่องถ่ายเอกสาร ก็อาจก่อให้เกิดมลพิษในสำนักงานได้จึงควรจัดแยกออกจากห้องทำงานทั่วไป

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow