ประโยชน์ของเครื่องมือทุ่นแรง
การใช้เครื่องมือทุ่นแรงการเกษตรนั้น บางท่านอาจจะมีข้อข้องใจว่า จะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้อย่างไร ในเมื่อเกษตกรต้องใช้เงินลงทุนซื้อเครื่องทุ่นแรง ซึ่งบางครั้งอาจจะสูงเกินกำลังความสามารถของเกษตรกรก็ได้ ดังนั้นจึงขอทำความเข้าใจในขั้นนี้ก่อนว่าเครื่องมือทุ่นแรง จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ ต่อเมื่อเกษตรกรสามารถใช้งานเครื่องมือทุ่นแรงต่างๆ ที่ตนซื้อมาได้อย่างคุ้มค่า กล่าวคือ มีจำนวนชั่วโมงการใช้งานเพียงพอ มิฉะนั้น อาจจะกลายเป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตก็ได้ ดังนั้นเงื่อนไขประกอบการพิจ ารณาข้อแรกก่อนการลงทุนซื้ อเครื่อง ก็คือ เกษตรกรมีงานที่จะใช้กับเครื่องมือทุ่นแรงมากน้อยเพียงไร สามารถจะใช้รับจ้างได้แค่ไหน แล้วนำมาพิจารณาดู ความเหมาะสมว่าควรจัดซื้อไว้ใช้งานของตนหรือไม่ หรือเกษตกรอาจจะใช้วิธีว่าจ้างจากเจ้าของเครื่องที่มีรับจ้างอ ยู่ในพื้นที่ของตน
การใช้เครื่องมือทุ่นแรงจะทำให้เกิดประโยชน์ดังนี้
๑. เครื่องมือทุ่นแรงทำงานได้รวดเร็ว ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจ้างแรงงานคน และสามารถทำงานได้ทันต่อช่วงเวลาการเพาะปลูกที่เหมาะสม
๒. เกษตรกรสามารถเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกได้มากขึ้น เนื่องจากเครื่องมือทุ่นแรง สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับแรงงานคน และช่วงเวลาที่มีอยู่จำกัด อันจะเป็นการช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร
๓. เครื่องทุ่นแรงช่วยให้เกษตรกรสามารถปฏิบัติงานตามขั้นตอนต่างๆ ของการเพาะปลูกได้อย่างประณีต เช่น กำจัดวัชพืชได้อย่างสะดวก ปลูก เก็บเกี่ยว และนวดหรือกะเทาะได้ทันฤดูกาล ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น
๔. ลดการสูญเสียผลิตผลในช่วงการเก็บเกี่ยวและนวด ซึ่งการใช้แรงงานคน จะทำให้มีการร่วงหล่นของเมล็ดพืชมาก
๕. นอกจากที่กล่าวมาข้างต้น ประโยชน์ทางอ้อมสำคัญประการหนึ่งของเครื่องมือทุ่นแรงก็คือ การลดความเหนื่อยยากลำบากของเกษตรกร ในการประกอบเกษตรกรรม
การทำเกษตรกรรมเพาะปลูกพืช ประกอบด้วยกิจกรรมหรืองานที่จะต้องทำ ซึ่งแบ่งออกเป็นกิจกรรม ๕ ขั้นตอนด้วยกัน คือ ขั้นตอนการเตรียมดิน ขั้นตอนการปลูกพืช ขั้นตอนการดูแลและอารักขาพืช ขั้นตอนการเก็บเกี่ยวและนวด ขั้นตอนสุดท้ายคือ การลดความชื้นเมล็ดพืช