คำว่า "หอม" นั้น หมายถึง การรับรู้ของประสาทสัมผัสที่เรียกว่า ฆานประสาท เมื่อมีสารบางอย่าง ที่ให้กลิ่นกระจายอยู่ในอากาศ แล้วรับรู้ว่ากลิ่นนั้นเป็นที่พอใจ ซึ่งความพอใจนิยมชื่นชอบใจต่อกลิ่น ย่อมแตกต่างกันไป ตามความเคยชิน ตามกลุ่มเผ่าพันธุ์ และประเพณีของคน หรือกลุ่มคนนั้นๆ หากเป็นกลิ่นที่ไม่พอใจ ก็จะบอกว่า "เหม็น"
เรื่องของกลิ่นนั้น เป็นการยาก ที่จะกำหนด หรือจำแนก เป็นประเภทต่างๆ ให้ชัดเจน และเป็นที่ยอมรับตรงกัน จึงมักจะใช้เปรียบเทียบกับชนิดของพรรณไม้ หรือสิ่งอื่นๆ ที่รู้จักคุ้นเคย ซึ่งใช้ได้เฉพาะกลุ่ม หรือท้องถิ่น หรือประเทศเท่านั้น เช่น คนไทยจะเข้าใจทันทีที่บอกว่า หอมเหมือนกลิ่นใบเตย ซึ่งหมายถึง ใบเตยหอม ที่คั้นน้ำจากใบมาปรุงแต่งอาหาร แต่สำหรับชนชาติ ที่ไม่เคยใช้ใบเตย ในการปรุงแต่งกลิ่นอาหาร ย่อมไม่สามารถทราบได้ว่า เป็นอย่างไร เป็นต้น ในการขยายความเรื่องของกลิ่นหอมนั้น มีใช้กันหลายคำได้แก่ หอมเย็น หอมหวาน หอมฉุน หอมแรง หอมอ่อนๆ หอมเอียน หอมละมุน หอมฟุ้ง หรือหอมตลบ ตลอดจนหอมตลบอบอวล เป็นต้น
กลิ่นหอมที่ได้จากพืชนั้น เกิดมาจากน้ำมันหอมระเหย (essential oil หรือ volatile oil) ซึ่งเป็นผลพลอยได้ จากกระบวนการสร้างและสลาย (metabolism) ในเซลล์ของพืช แล้วเก็บไว้ในเซลล์ หรือปล่อยออกมาจากเซลล์ สะสมอยู่ในช่องว่างที่ขยายขนาดขึ้น มีลักษณะเป็นต่อม (gland) ที่ส่วนต่างๆ ของพืช น้ำมันหอมระเหยนี้บางกรณีไม่อยู่ตัว (unstable) จะเปลี่ยนไปตามกระบวนการเคมีได้ เป็นสารประกอบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เช่น เป็นยาง (gum) และเรซิน (resin) สารที่ได้ใหม่นี้ มักจะรวมตัวกับน้ำมันหอมระเหย ที่ยังเหลืออยู่ แล้วถูกลำเลียงจากที่สร้าง ไปยังส่วนอื่นๆ ของพืช อาจจะเป็นใบ ดอก ผล เมล็ด เหง้า ราก ต้น ที่ใดที่หนึ่ง หรือทุกส่วน แล้วแต่ชนิดของพืช นอกจากนั้น พืชบางชนิดปกติไม่สร้างน้ำมันหอมระเหย แต่ถ้าถูกกระตุ้น โดยมีเชื้อราเข้าไปตามแผล ก็จะเกิดกระบวนการสร้างน้ำมันหอมระเหยขึ้นได้ ดังที่พบในไม้เนื้อหอมหลายชนิด ส่วนการที่มนุษย์หรือสัตว์บางชนิด จะได้กลิ่นหอม เกิดจากน้ำมันหอมระเหย ในพืชระเหยออกมา เมื่อสัมผัสกับอากาศ เกิดปฏิกิริยา ทำให้เกิดกลิ่นฟุ้งกระจาย ปรากฏการณ์เช่นนี้ ส่วนใหญ่เกิด เมื่อดอกไม้บาน หรือผลไม้สุก ดังนั้นกลิ่นหอมในธรรมชาติจริงๆ จึงมักจะมาจากดอกไม้ หรือผลไม้ แต่กลิ่นหอมจากใบหรือส่วนอื่นๆ ของพืช มักจะต้องทำให้เกิดขึ้น โดยผ่านกรรมวิธีต่างๆ และที่สะดวกที่สุดคือ ใช้วิธีทำให้ใบช้ำหรือขยี้ ถ้าเป็นต้น ราก เมล็ด ใช้วิธีบด หรือฝน หรือเผา หรือต้ม เป็นต้น
กลิ่นหอมของดอกไม้นั้น เกิดจากพืชบางชนิดมีน้ำมันหอมระเหยที่เซลล์พิเศษ หรือที่ต่อม ซึ่งส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของดอก เช่น ฐานรองดอก กลีบดอก เกสรเพศผู้ หรือเกสรเพศเมีย กลิ่นที่เกิดขึ้นนี้ ในธรรมชาติจะช่วยดึงดูดแมลงให้มาตอมดอกไม้ มีผลทำให้เกิดการนำละอองเรณู ไปตกที่ยอดเกสรเพศเมีย ทำให้เกิดเมล็ดและผลต่อไป ซึ่งเป็นวิธีหนึ่ง ที่ทำให้หลังจากพืชผลิดอกแล้วออกผลหลังจากนั้น แต่แมลงหรือสัตว์อื่นๆ ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายมาที่ดอกไม้ เพื่อสูดกลิ่นหอม แต่มาที่ดอกไม้ เพื่อกินน้ำหวาน หรือละอองเรณูของดอกไม้ (ส่วนพืชที่ดอกไม่มีกลิ่นนั้น มักจะมีสีสัน รูปทรงของดอก หรือมีต่อมน้ำหวาน ที่ล่อแมลงหรือสัตว์อื่น ให้มาที่ดอก เพื่อช่วยในการผสมเกสร) นอกจากนั้นดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมยังดึงดูดมนุษย์ให้ชื่นชอบด้วย และมนุษย์เราไม่เพียงแต่ชอบได้กลิ่นหอมจากธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว เช่น เมื่อดอกไม้บานเท่านั้น เรายังนำกลิ่นหอมจากพรรณไม้ มาใช้ในการทำเครื่องสำอาง อบร่ำเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนบ้านเรือนอีกด้วย และมีหลักฐานการใช้มาไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ปี เดิมอาจจะใช้ดอกไม้โดยตรง แต่ต่อมาได้มีการคิดค้นวิธีการต่างๆ สกัดกลิ่นหอมออกมา ให้ใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น พร้อมทั้งปรุงแต่ง จนได้กลิ่นหอมต่างๆ ตามแต่รสนิยม ได้เป็นน้ำหอม ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
จากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และจากวรรณคดี จะเห็นได้ว่า ชีวิตคนไทยมีความใกล้ชิด และผูกพันกับพรรณไม้เป็นอย่างมาก นอกจากจะใช้พรรณไม้ในพื้นฐานของปัจจัยสี่ เพื่อดำรงชีวิตแล้ว ยังเป็นที่มาของจินตนาการต่างๆ ในวรรณคดีเป็นไม้ประดับ เป็นวัสดุ ที่นำมาเป็นแบบอย่าง หรือดัดแปลงตกแต่ง อันเป็นที่มาของศิลปะภาพวาด ภาพแกะสลัก การก่อสร้างต่างๆ ในงานประเพณีทุกประเภท ไม่มีงานใด ที่ไม่ใช้พันธุ์ไม้เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ และมีความหมายต่องานนั้นๆ ยิ่งไปกว่านั้น ในเรื่องของกลิ่นหอม ยังเป็นเรื่องพิถีพิถันเป็นพิเศษ ดังจะเห็นได้จากการที่ คนไทยนิยมข้าวปลาอาหาร ที่มีกลิ่นหอม เช่น ข้าว เราก็คัดพันธุ์ จนได้ข้าวหอมมะลิ ขนมต่างๆ ปรุงแต่งด้วยกลิ่นหอมของดอกไม้ ใบไม้ แม้แต่น้ำดื่ม ก็ยังนิยมน้ำลอยดอกมะลิ นอกจากเรื่องอาหารแล้ว ในเรื่องของเครื่องหอม ที่ใช้เป็นเครื่องสำอาง อบร่ำ เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนยาพื้นบ้าน ก็จะใช้ของหอมต่างๆ มาปรุงแต่งให้เกิดกลิ่นตามความนิยม คนไทยนิยมใช้น้ำอบไทย หรือน้ำปรุงกันโดยทั่วไป ในสมัยก่อน ที่น้ำหอมจากยุโรปจะเข้ามาขาย ทั้งน้ำอบไทย และน้ำปรุง ได้มาจากกรรมวิธีสกัดกลิ่นจากดอกไม้เป็นหลัก และดอกไม้ที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่ มะลิ กุหลาบ กระดังงา ชำมะนาด ฯลฯ
ในเรื่องของเครื่องหอมที่ได้จากพืช ที่คนไทยนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในอดีต และบางอย่างก็ยังใช้จนถึงปัจจุบันนั้น ศาสตราจารย์กสิน สุวตะพันธุ์ ได้เขียนถึงของหอม ที่ใช้ในการทำเครื่องหอมต่างๆ ที่ได้จากส่วนอื่นๆ ของพรรณไม้ ที่ไม่ใช่จากดอกไม้ไว้ ๑๐ อย่าง ดังนี้
๑. กฤษณา
มีลักษณะเป็นแก่นไม้สีดำคล้ำ หรือดำปนน้ำตาล ที่เกิดจากต้นกฤษณา (Aquilaria malaccensis Lamk. หรือ A. crassna Pierre ex H. Lec.) เกิดเป็นแผลแล้วมีเชื้อราบางชนิดเข้าไปเจริญ เติบโตในเนื้อไม้ ทำให้ต้นกฤษณา ซึ่งเดิมมีเนื้อไม้อ่อน เปลี่ยนเป็นเนื้อไม้แข็ง และมีกลิ่นหอม แก่นไม้ที่หอมนี้ นำมาใช้ปรุงแต่งเครื่องสำอาง ผสมเป็นเครื่องให้กลิ่น ในงานพิธีกรรม หรือใช้เป็นเครื่องปรุงยาตามตำรับโบราณ กฤษณาเป็นเครื่อง หอมที่นิยมใช้กันมากในประเทศต่างๆ แถบเอเชีย
๒. เทพทาโร
ได้จากต้นเทพทาโร หรือต้นจวง หรือจวงหอม (Cinnamomun porrectum Kosterm.) เป็นพันธุ์ไม้สกุลเดียวกับอบเชย เนื้อไม้มีกลิ่นหอมคล้ายการบูร ในสมัยโบราณใช้ทำหีบใส่เสื้อผ้า หรือสิ่งก่อสร้างอื่นๆ กันมด ปลวก และแมลงต่างๆ ได้ดี หรือใช้ปรุงแต่งยา หรือนำ ไปใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ โดยเผาหรืออบให้ เกิดกลิ่นกระจายไป
๓. จันทน์แดง
ได้จากแก่นของจันทน์แดง หรือจันทน์ผา หรือลักกะจันทน์ (Dracaena loureiri Gagnep.) วิธีการเกิดแก่นจันทน์แดงคล้ายกับการเกิดแก่นกฤษณา คือ ต้นมีแผล แล้วมีเชื้อราเข้าไปเจริญเติบโต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายใน บริเวณโคนต้น เป็นแก่นสีแดงและมีกลิ่นหอม
๔. จันทน์ชะมด
ได้จากเนื้อไม้ของจันทน์ชะมด ซึ่งมีอยู่ ๒ ชนิดคือ Mansonia gagei Drumm. ในวงศ์ Sterculiaceae และAglaia pyramidata Hance ในวงศ์ Meliaceae ซึ่งเนื้อไม้แห้ง มีกลิ่นหอมแรงกว่า เมื่อยังสด
๕. กระแจะ
ได้จากเนื้อไม้ของต้นกระแจะ หรือขะแจะ หรือตุมตัง หรือพญายา (Hesperethusa crenulata Roem.) ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับพวกส้มต่างๆ เนื้อไม้แห้งมีกลิ่นหอม ใช้ฝนทาผิว ทำให้ผิวนวล และหอม
๖. ชะลูด หรือนูด
(Alyxia reinwardtii Bl.) เป็นไม้เถา เนื้อไม้หอม ใช้ได้ทั้งสดและแห้ง นำมาอบผ้า กลิ่นติดทนนาน หรือแต่งกลิ่นแป้งร่ำ ดอกของพันธุ์ไม้ชนิดนี้มีขนาดเล็ก และมีกลิ่น หอมเช่นกัน
๗. ลูกซัด
เป็นเมล็ดของพันธุ์ไม้จำพวกถั่ว (Trigonella faenogrecum Linn.) ซึ่งเป็นไม้ท้องถิ่นแถบเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วเขียว แต่เล็กกว่า เมล็ดแห้งมีกลิ่นหอม และจะหอมมากขึ้น เมื่อนำมาต้มกับน้ำ คนไทยในสมัยก่อนโดย เฉพาะชาววัง นิยมนำเครื่องนุ่งห่มไปต้มกับลูกซัด ทำให้เสื้อผ้ามีกลิ่นหอมทนนาน ในอินเดียและจีน ใช้เมล็ดปรุงอาหาร ทำยารักษาโรค และบางครั้ง ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา
๘. กำยาน
ได้จากยางหรือชันของต้นกำยาน (Styrax spp.) ซึ่งเมื่อไหลออกมาจากต้นแล้ว จับตัวเป็นก้อนแข็ง เมื่อนำไปเผาไฟ จะมีกลิ่นหอม ใช้เป็นส่วนผสมในธูปแขก หรือใช้ในการอบร่ำต่างๆ และมีการนำไปทำยารักษาโรคได้ด้วย
๙. จันทนา
เป็นเนื้อไม้ที่มีกลิ่นหอม ได้จากต้นจันทนา หรือที่เรียกในชื่ออื่นๆ ได้แก่ จันทน์ขาว จันทน์หอม จันตะเนี้ย และจันทน์ใบเล็ก (Tarenna hoaensis Pitard) ใช้เนื้อไม้บดหรือฝน ผสมน้ำ นำไปปรุงแต่งเป็นเครื่องหอม และใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ
๑๐. มดยอบ
เป็นชันไม้ของต่างประเทศ ได้มาจากพันธุ์ไม้หลายชนิดในสกุล Commiphora ยางหรือชันมีสีแดงอมเหลือง หรือน้ำตาลอมแดง ใช้ทำยา แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง และใช้ในพิธีทางศาสนา
นอกจากนั้น ศาสตราจารย์กสิน ยังได้อธิบาย ถึงไม้จันทน์ (Santalum album Linn.) ซึ่งเป็นไม้ของต่างประเทศ เนื้อไม้หอมมาก ใช้ทำเครื่องเรือน ทำพัด และสกัดน้ำมันไปใช้ในการทำน้ำหอม
ของหอมที่ได้จากพรรณไม้ดังกล่าวข้างต้นนี้ ล้วนเป็นของหอมที่ได้จากต้นไม้ คือ เนื้อไม้ หรือยางไม้ มีความคงทนของกลิ่นหอม สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลานาน
นอกจากกลิ่นหอมที่ได้จากต้นไม้แล้ว ยังมีพรรณไม้อีกหลายชนิด มีกลิ่นหอมภายในใบ ซึ่งปกติ ถ้าไม่สัมผัส หรือทำให้ช้ำ โดยการขยี้หรือโดนความร้อน จะไม่มีกลิ่น พันธุ์ไม้เหล่านี้ส่วน ใหญ่ใช้ใบในการปรุงอาหาร เช่น ใบโหระพา กะเพรา แมงลัก สะระแหน่ ผักชี มะกรูด เป็นต้น และใบไม้บางชนิดนำมาใช้ในการทำเครื่องหอม เช่น ใบเนียม (Sympagis nivea Brem.) คนไทย สมัยก่อนที่รับประทานหมากนิยมใส่ใบเนียมสด ในยาฝอยหรือยาจืด ใช้เช็ดฟัน ทำให้ปากมี กลิ่นหอม ปรุงยา และใช้ใบแห้งปรุงกลิ่นน้ำมัน ใส่ผม เป็นต้น
ในบรรดากลิ่นหอมที่เกิดจากพืชนั้น กลิ่นที่ได้จากดอกไม้ จะเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันมากที่สุด และอาจจะทราบต่อไปอีกด้วยว่า ดอกไม้ชนิดใด บานเวลาใด มีกลิ่นหอมนานหรือไม่ โดยทั่วๆ ไป ดอกไม้หอม มักจะมีสีสันไม่สดใสสะดุดตา มักจะเป็นพวกที่มีดอกสีขาว ส่วนช่วงเวลาที่ดอกบาน ก็แตกต่างกันไปตามชนิด ส่วนใหญ่บานตอนเย็น หรือพลบค่ำ หรือบานตอนเช้า ระยะเวลาที่ดอกบานก็เช่นกัน บางชนิดบานเป็นระยะสั้นๆ ครึ่งวัน หรือหนึ่งวันแล้วร่วงไป บางชนิดบาน หลายวัน เป็นอาทิตย์หรือเป็นเดือนก็มี ในแต่ละ ชนิดยังมีความแตกต่างของช่วงที่ส่งกลิ่นหอมแรง ที่สุดอีก แต่มีการบันทึกข้อมูลเหล่านี้ไว้น้อยมาก จะเห็นได้ว่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลิ่น และชนิดของ ดอกไม้ มีรายละเอียดปลีกย่อยที่น่าศึกษาติดตาม ได้อีกมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่าพืชบางวงศ์ (Family) มักจะมีดอกที่มีกลิ่นหอม ได้แก่ วงศ์ Annonaceae เช่น นมแมว ลำดวน สายหยุด และวงศ์ Magnoliaceae เช่น จำปี จำปา มณฑา ยี่หุบ เป็นต้น
คนไทยนิยมดอกไม้หอม และนำมาปลูกประดับสวน หรือปลูกไว้ใช้ประโยชน์มาเป็นเวลานาน ที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น มะลิ พุดซ้อน พุทธชาด ราตรี ซ่อนกลิ่น ชำมะนาด กุหลาบ ฯลฯ ล้วน แต่เป็นพันธุ์ไม้ต่างถิ่น แต่ได้มีการนำเข้ามาปลูก ในประเทศไทยเป็นเวลาช้านานมาแล้ว บางชนิด อาจจะเข้ามาพร้อมๆ กับที่ไทยมีการติดต่อกับ นานาประเทศ แต่ที่มีหลักฐานแน่ชัดคือ ตั้งแต่ ครั้งอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช และได้มีการขยายพันธุ์ปลูกต่อๆ กันไป จนแพร่หลาย พรรณไม้เหล่านี้เจริญงอกงามได้ดี พบทั่วไป จนเกิดความเข้าใจกันเองว่า เป็นพรรณไม้ของไทย ซึ่งทั้งนี้มิได้หมายความว่า พรรณไม้ดอกหอมของท้องถิ่นไทย จะไม่มี หรือมีน้อย หรือหอมน้อยกว่าของต่างประเทศ แต่อาจจะเนื่องมาจากพรรณไม้เหล่านั้น เดิมทีพบขึ้นอยู่ดาษดื่นตามธรรมชาติ ไม่เป็นที่แปลกตา หรืออาจจะเนื่องมาจาก ส่วนใหญ่มีฤดูกาลให้ดอกเพียงปีละครั้ง และอาจจะด้วยสาเหตุอื่นๆ อีก จึงทำให้ไม้หอมของท้องถิ่น ได้รับความสนใจ ที่จะนำมาปลูกกันไม่แพร่หลายนัก ปัจจุบันพรรณไม้ดอกหอมหลายชนิดของไทยในธรรมชาติ ลดน้อยลงมาก และเป็นที่รู้จักกันในวงแคบ เฉพาะในหมู่ผู้ที่สนใจเท่านั้น
ความหลากหลายของกลิ่นหอมของพรรณไม้ไทย มีเป็นจำนวนมาก หากได้รับความสนใจ นำพรรณไม้เหล่านั้น มาขยายพันธุ์ ปลูกให้แพร่หลายยิ่งขึ้น อาจนำไปสู่การหากรรมวิธี หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ในการสกัดกลิ่นหอม เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องหอมได้ต่อไป
ส่วนใหญ่ดอกไม้ที่ให้กลิ่นหอม มักจะมีดอกเล็ก สีไม่สะดุดตา แต่ก็มีหลายชนิดที่ทั้งสวยและมีกลิ่นหอม ซึ่งในที่นี้ได้เลือกไม้ดอกหอมของท้องถิ่นไทย ที่มีความหลากหลายในด้านลักษณะนิสัย (habit) คือ เป็นไม้ต้น (trees) ไม้พุ่ม (shrubs) ไม้เลื้อย (climbers) ไม้ล้มลุก (herbs) และไม้อิงอาศัย (epiphytes) มาบรรยาย เฉพาะลักษณะเด่นที่พอเป็นที่สังเกต และช่วยให้รู้จักพันธุ์ไม้ชนิดนั้นๆ ได้ดีขึ้นดังต่อไปนี้