ชนชาวไทยมีความรู้เรื่องพืชในท้องถิ่นมานานกว่าเจ็ดร้อยปี บรรพบุรุษของเรารู้จักพืชชนิดต่างๆ หลายร้อยชนิด และได้เสาะแสวงหาพืช ที่มีอยู่ตามธรรมชาติในป่า มาใช้ประโยชน์เรื่อยมา โดยนำมาทำยารักษาโรคเป็นอันดับแรก ทุกหมู่บ้านมีผู้รู้เรื่องพืช ที่ใช้ทำยาได้ เรียกว่า หมอยา ทำหน้าที่เก็บรักษาพืชเหล่านั้นไว้ มีตำรายา สำหรับรักษาโรค เมื่อมีผู้ป่วยไข้ ความรู้เรื่องพืชเช่นนี้ ได้มีการถ่ายทอดสืบต่อกันมา จนถึงปัจจุบัน
นอกจากรู้เรื่องพืชที่ใช้ทำยารักษาโรค คนไทยยังรู้จักพืชนานาชนิด สำหรับปรุงผสมกับเนื้อปลา และเนื้อสัตว์อื่นๆ ทำเป็นอาหารกินกับข้าว ที่ปลูกไว้ในท้องนาใกล้บ้านอีกด้วย พืชอาหารเหล่านี้ เมื่อเป็นที่ต้องการมากขึ้น ก็นำมาปลูกไว้ในที่ดินใกล้บ้าน เพื่อให้ใช้ได้สะดวก และยังเก็บผลิตผลขายเป็นรายได้อีกด้วย
ไม่แต่เท่านั้น คนไทยยังรู้จักพืชที่เป็นพิษ โดยรู้ว่า พืชชนิดใดบ้าง ที่มีพิษสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ ของต้น และพิษเหล่านั้น อยู่ที่ใบ ดอก ผล หรือเมล็ด ทำให้สามารถหลีกเลี่ยงอันตราย ซึ่งเกิดจากพิษของพืชได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังรู้จักพืช ที่อาจนำมาใช้แต่งสีอาหารให้สวยงาม น่ากิน รู้จักพืช ที่อาจนำมาใช้ย้อมสิ่งของ เช่น ผ้า เชือก หรือหนัง ให้มีสีสันสวยงาม ติดทนทาน และรู้จักพืช ที่อาจนำมาใช้ทำเครื่องจักสาน ภาชนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือน สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย
ปัจจุบันได้มีการศึกษา ค้นคว้า และจัดหมวดหมู่พืชพื้นบ้าน ตามวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เรียกชื่อวิชาดังกล่าวนี้ว่า "พฤกษศาสตร์พื้นบ้าน"
พฤกษศาสตร์พื้นบ้านของไทย หมายถึง พืชพื้นบ้าน ที่ชนชาวไทย นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน อาจแบ่งออกได้เป็น พืชสมุนไพร พืชอาหาร พืชให้สีแต่งอาหารและให้สีย้อม พืชมีพิษ และพืชที่ใช้ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน
พืชสมุนไพร
คือ กลุ่มของพืช ที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรค พืชสมุนไพรมีหลายร้อยชนิด ใช้รักษาโรคแตกต่างกันไป เช่น ไพล
พืชอาหาร
พืชอาหารในพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน หมายถึง พืชที่เก็บหาได้ในธรรมชาติ เพื่อนำมาใช้เป็นอาหาร พืชเหล่านี้มีอยู่ตามป่า ในท้องทุ่ง หรือตามหัวไร่ปลายนา ซึ่งห่างไกลจากบ้านเรือน ปัจจุบันได้มีการนำพืชดังกล่าวบางชนิด มาปลูกไว้ในสวน หรือในไร่ใกล้บ้าน เพื่อสะดวกในการใช้และบำรุงรักษา เช่น บัวสาย
พืชให้สีอาหารและสีย้อม
คือ กลุ่มของพืช ที่ชาวบ้านนำมาใช้ทำสีอาหาร และใช้ทำสีย้อม เช่น อัญชัน
พืชมีพิษ
หมายถึง กลุ่มพืชที่มีสารพิษสะสมอยู่ตามส่วนต่างๆ อาจเป็นที่ ลำต้น ใบ ดอก ผล เมล็ด หัวใต้ดิน หรือทุกส่วน เช่น บอน
พืชที่ใช้ในงานหัตถกรรมพื้นบ้าน
หมายถึง กลุ่มพืชที่ชนพื้นบ้าน ใช้เป็น วัตถุดิบในงานจักสาน ทำเครื่องมือ เครื่องใช้ในการเกษตร จับหรือดักสัตว์ และภาชนะ ใช้สอยในครัวเรือน เช่น หมาก
พืชอเนกประสงค์
หมายถึง พืชที่ใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่างทั้งในด้านการบริโภค อุปโภค และพิธีกรรม