Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

Posted By Plookpedia | 22 ธ.ค. 59
2,411 Views

  Favorite

โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

จากหลักการดังกล่าว จะขอยกตัวอย่างการพัฒนาเกษตรกรรมเฉพาะพื้นที่ ตามโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้เห็นลักษณะการดำเนินงานการพัฒนาได้อย่างชัดเจน คือ

๑. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ 

ถึงแม้ประเทศไทยจะได้วางแผนพัฒนาชนบทอย่างเป็นระบบแล้วก็ตาม แต่พื้นที่บางส่วนของภาคกลางด้านตะวันออก ก็ยังมีราษฎรที่ยากจนอยู่ ซึ่งแสดงว่า ราษฎรเหล่านี้ได้รับประโยชน์น้อย หรือแทบจะไม่ได้เลย จากการพัฒนา ทั้งนี้อาจเนื่องจากสาเหตุหลายประการ เช่น การขาดกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน ความแห้งแล้งของดินฟ้าอากาศ การขาดแคลนแหล่งน้ำ การขาดความรู้ในการใช้วิทยาการใหม่ๆ ทำให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม เกิดความเสื่อมโทรมในคุณภาพของชีวิตราษฎร จึงน่าจะมีการกำหนดทิศทางการศึกษา เพื่อการจัดสรร และระดมทรัพยากรที่มีอยู่ ให้พัฒนาไปอย่างถูกต้อง และเหมาะสม

สภาพป่าเสื่อมโทรมเนื่องจากการบุกรุกทำลายป่า


ในพื้นที่ภาคตะวันออก ทรัพยากรธรรมชาติได้ถูกทำลายไปมาก ตั้งแต่ความอุดมสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากการปลูกพืชเศรษฐกิจที่ขาด หลักการบำรุงดิน การตัดไม้ทำลายป่า และยัง ประสบปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ทั้งเพื่อการ อุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ดังนั้นปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ควรจะได้รับการแก้ไขปรับปรุง และวางแนวทางในการพัฒนาให้เหมาะสมกับ สภาพพื้นที่ต่อไป

การปลูกพืชตามแนวระดับบริเวณพื้นที่ลาดชันจะช่วยอนุรักษ์ดิน


ลักษณะภูมิประเทศของบริเวณเขาหินซ้อน 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนฯ ตั้งอยู่ ในตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัด ฉะเชิงเทรา มีเนื้อที่ ๑,๒๒๗ ไร่ และมีพื้นที่ ใกล้เคียงอีก ๔๐,๐๐๐ ไร่ เป็นเขตติดต่อกับศูนย์ฯ และได้รับการพัฒนาไปด้วย สภาพภูมิประเทศ ร้อยละ ๕๐ เป็นพื้นที่เกือบราบเรียบ หรือเป็นคลื่น ด้วยเนินลอนลาดกระจายทั่วไป มีอาณาเขต ดังนี้

การศึกษาวิจัยพันธุ์พืช

   ทิศเหนือ จรดทางหลวงสายพนมสารคาม-กบินทร์บุรี 
ทิศตะวันออก จรดบริเวณเขาหน้ามอด และบ้านเขาหินซ้อน 
ทิศตะวันตก จรดตำบลเกาะขนุนและคลองท่าลาด 
ทิศใต้ อาณาเขตเป็นแนวขนานทางหลวง สายพนมสารคาม-กบินทร์บุรี โดยลึกจากถนน เข้าไปประมาณ ๔ กิโลเมตร
สภาพของดินมีความสมบูรณ์ต่ำ ปลูก พืชไร่และทำนาได้ผลิตผลพอประมาณ จำเป็น ต้องปรับปรุงดินและน้ำ การพังทลายของดินมีมาก ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ฤดูฝนมีแหล่งน้ำธรรมชาติพอประมาณ ประชากรที่ได้รับผลการพัฒนาประกอบอาชีพเป็นเกษตรกร และถือครองที่ดินเป็นของตนเอง ร้อยละ ๗๕

ป่าไม้


จากปัญหาที่ศึกษาพบ จึงได้วางโครงการ เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดย

๑. ศึกษา ทดสอบวิธีการใหม่ๆ เกี่ยวกับ การพัฒนาการเกษตร เพื่อสาธิตและส่งเสริม เผยแพร่ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจโดยทั่วไป 
๒. สาธิตวิธีการที่ได้ผลทั้งในด้านการ พัฒนาแหล่งน้ำ ฟื้นฟูสภาพป่าการพัฒนาที่ดิน การวางแผนการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ เพื่อเป็นแบบอย่าง แก่เกษตรกร และผู้สนใจ 
๓. สาธิตงานศิลปาชีพหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นเพื่อเป็นอาชีพเสริม เพิ่มรายได้อีกด้านหนึ่ง 
๔. ฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดวิทยาการที่ดำเนิน การสาธิตอยู่ในศูนย์ฯ สู่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ทหาร นักพัฒนา นักศึกษา เกษตรกร และผู้สนใจทั่วไป 
๕. จัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการ ประกอบอาชีพของเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ การ สร้างอ่างเก็บน้ำ สร้างสวนป่า ถนน ระบบประปา ไฟฟ้าและโรงสี เป็นต้น 

๒. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอัน เนื่องมาจากพระราชดำริ

ในเขตอำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ ซึ่งเกิดจากการบุกรุกทำลายป่า เพื่อขยายพื้นที่การเพาะปลูกของเกษตรกร เพราะสาเหตุจากการไร้ที่ทำกิน ปัญหาการเช่าที่ดิน และปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของสภาพธรรมชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชดำริ ที่จะศึกษาการพัฒนาป่าไม้ โดยการให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกป่า และสามารถทำการเกษตรแบบต่างๆ ควบคู่ไปกับการป่าไม้ ซึ่งสามารถนำผลจากการศึกษา ไปใช้ในการพัฒนาป่าไม้ และการเกษตรในพื้นที่ใกล้เคียงได้

ระบบการให้น้ำหยดแก่ไม้ผลของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี


ลักษณะภูมิประเทศของบริเวณห้วยทราย 

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ ตั้งอยู่ใน พื้นที่ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ตำบลห้วยทราย อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี มีพื้นที่ประมาณ ๑๕,๘๘๐ ไร่
ทิศเหนือ จรดห้วยทรายเหนือ และเขา เสวยกะปิ 
ทิศตะวันออก จรดคลองชลประทานสายหัวหิน 
ทิศตะวันตก จรดเขาสามพระยาและเขาเสวยกะปิ    
 

การให้น้ำหยดแบบท่อไม้ไผ่แก่ไม้ผล ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ


สภาพเดิมของพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าที่อุดม สมบูรณ์ สลับกับพื้นที่ภูเขาประมาณร้อยละ ๒๐ ซึ่งทางด้านตะวันตกในพื้นที่ดังกล่าว เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด โดยเฉพาะเนื้อทราย มีมากในพื้นที่นี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชโองการฯ ให้ประกาศไว้เป็นที่อภัยทานแก่สัตว์นานาชนิดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๗ ปัจจุบัน ราษฎรเข้าไปบุกรุกถากถางทำไร่ สับปะรดเกือบเต็มพื้นที่ ทำให้ความสมบูรณ์ของพื้นที่ลดลง การชะล้างพังทลายของดินมีสูง เป็น สาเหตุแห่งความแห้งแล้งและความเสื่อมโทรมใน บริเวณดังกล่าว

งานจัดที่ดิน เป็นงานที่ช่วยแก้ปัญหาการไร้ที่ทำกิน การเช่าที่ดิน และปัญหาเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดิน ของเกษตรกร 
ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายฯ
กิจกรรมที่สำคัญในการพัฒนาให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่ 

ได้แก่ 

๑. พัฒนาพื้นที่ของพระราชนิเวศน์มฤคทายวันเป็นศูนย์ศึกษาการพัฒนาด้านเกษตรกรรม เพื่อทดลองการใช้ระบบชลประทาน ที่เหมาะสม ตลอดจนศึกษาการพัฒนาป่าไม้อเนกประสงค์ 

๒. จัดหาแหล่งน้ำพร้อมระบบส่งน้ำ เพื่อ สนับสนุนการปลูกพืชเศรษฐกิจต่างๆ และการปลูกป่าไม้อเนกประสงค์ 

๓. สร้างแนวป้องกันไฟป่าโดยใช้ระบบ เปียก เช่น แนวคูคลอง และพืชเศรษฐกิจสีเขียว ตามแนวคูคลอง เพื่อเป็นการทดลอง สำหรับใช้ เป็นแนวป้องกันไฟไหม้ป่า 

๔. จัดตั้งและพัฒนาหมู่บ้านโดยให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าและได้ ใช้ประโยชน์จากป่าไม้ เพื่อทำการอุตสาหกรรมเผาถ่าน ฯลฯ โดยจัดตั้งเป็นกลุ่ม และพัฒนา กลุ่มให้สามารถบริหารงานด้วยตนเองต่อไป

นอกจากกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังได้ดำเนิน การเกี่ยวกับงานศึกษาการพัฒนาปศุสัตว์และทุ่งหญ้า งานศึกษาทดลองวิชาการเกษตร งานศึกษาการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมผลิตผลจากป่า งานศึกษาการพัฒนาสมุนไพร และงานศึกษาการพัฒนาองค์กรประชาชน

๓. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

ชายฝั่งทะเลตะวันออกดูจะเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ มีชายฝั่งทะเลเป็นแนวยาวติดต่อ กันถึง ๓,๖๗๕ กิโลเมตร เป็นแหล่งประกอบอาชีพด้านการเกษตร พืชไร่ สวนผลไม้ และยังมีทรัพยากรอื่นๆ อีก เช่น แร่ธาตุ ป่าชายเลน และผลิตผลจากการประมง ต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน

บ่อเพาะเลี้ยงกุ้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ อำเภอท่าใหม่จังหวัดจันทบุรี


แต่ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสิ่งที่มีอยู่จำกัด วงจรแห่งการเจริญเติบโตทดแทนสิ่งที่ถูกใช้ไป ต้องอาศัยเวลา และต้องการวิธีการ ที่เหมาะสม ในขณะที่วิทยาการความรู้ และเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าขึ้น ทรัพยากรต่างๆ ก็ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย ในทศวรรษที่ผ่านมา ความเสื่อมโทรมของพื้นที่เพาะปลูก ทำให้ผลิตผลต่อพื้นที่ ที่ทำการเกษตร ลดลง ป่าไม้ชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งอาหาร และเป็นแหล่งเจริญเติบโต ของสัตว์น้ำวัยอ่อน ถูกบุกรุกทำลาย กลายเป็นพื้นที่รกร้างที่ไร้ประโยชน์ ในเชิงเศรษฐกิจ ความทันสมัยของเครื่องมือจับสัตว์น้ำทำให้ปริมาณสัตว์น้ำ ในท้องทะเลไทย ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ความเสื่อมโทรมของพื้นที่ ที่เคยอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้ ส่งผลกระทบกระเทือนต่อชีวิตความเป็นอยู่ ของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศชาติโดยส่วนรวม ปัญหาต่างๆ นี้มีแนวโน้มที่จะรุนแรงต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยราษฎร ที่ประสบปัญหาเหล่านี้ จึงได้ทรงมีพระราชดำริที่จะทำการศึกษาการพัฒนาพื้นที่ ในเขตที่ดินชายทะเล เพื่อแนะนำให้ประชาชนได้มีความรู้ และเห็นความสำคัญ ของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติด้านต่างๆ อย่างเหมาะสม

พ่อพันธุ์กุ้งกุลาดำ

   ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนฯ ตั้งอยู่ที่ ตำบลคลองขุด และตำบลสนามชัย อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เขตที่ติดชายทะเล มีพื้นที่ ๗,๕๐๐ ไร่ ครอบคลุมเขตพื้นที่ป่าสงวนชายเลน อ่าวคุ้งกระเบน บริเวณป่าเสื่อมโทรม และที่ดินนี้มีกรรมสิทธิ์ถือครองถูกต้อง นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่บางส่วนซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ และที่สาธารณประโยชน์
พื้นที่เป้าหมายภายในศูนย์ฯ แบ่งออกเป็น ๒ พื้นที่ คือ พื้นที่ศูนย์กลาง ได้แก่ บริเวณอ่าว คุ้งกระเบน ซึ่งครอบคลุมบริเวณชายฝั่งโดยรอบ และพื้นที่น้ำในอ่าวด้วย รวมเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ ๔,๐๐๐ ไร่ ส่วนที่รอบนอกได้แก่ พื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งเป็นทั้งเขตเกษตรกรรมและเขตหมู่บ้านประมง ซึ่งตั้งอยู่เรียงรายตลอดแนวชายฝั่งทะเล

การพัฒนาให้ถูกต้องและเหมาะสมจำเป็น ต้องมีการวิจัยและจัดสรรพื้นที่ให้เหมาะสมแก่ กิจกรรมและเป้าหมายการพัฒนา เพื่อการใช้ประโยชน์ 

การพัฒนาพื้นที่เฉพาะแห่งนี้ คือ การวาง แนวทางในการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เหมาะสม โดยการเลือกสรรและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ อย่างเต็มที่ การวางแผนพัฒนาเป็นไปในลักษณะ ผสมผสาน โดยมีกิจกรรมดังนี้

๑. ตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาการประมง และเพาะพันธุ์กุ้งทะเล ปลากะพงขาว รวมทั้ง สัตว์น้ำอื่นๆ เพื่อส่งเสริมและบริการแก่ชาวประมง ในพื้นที่ 
๒. ทดลอง สาธิต และส่งเสริมการปลูกพืช ที่เหมาะสมกับพื้นที่ชายฝั่งทะเล เช่น มะพร้าว มะม่วงหิมพานต์ ไม้โตเร็ว และไม้ที่ปลูก เพื่อฟื้นฟูสภาพป่าชายเลน เช่น สนทะเล ไม้โกงกาง เป็นต้น 
๓. สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น การแบ่งที่ดินทำกินให้เกษตรกรรายละ ๑๐-๑๕ ไร่ การ ทำถนน การขุดคลอง ทำทางระบายน้ำ รวมทั้ง การจัดการด้านเงินทุน 

 ๔. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ปัญหาที่สำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่คือ การขาดความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ดิน น้ำ ป่าไม้ และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการเกษตร จึงจำเป็นต้องหารูปแบบการพัฒนาการเกษตร ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปปฏิบัติได้ และเพื่อให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้พอเลี้ยงครอบครัว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานขึ้น เพื่อศึกษา และทดลองงานพัฒนาการเกษตรต่างๆ ส่งเสริมการบำรุงรักษา และพัฒนาป่าไม้ ส่งเสริมพืชเศรษฐกิจ และการแปรรูปสินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และพัฒนาอาชีพการเกษตรต่างๆ ทั้งการเพาะปลูก การประมง และการเลี้ยงสัตว์ ให้เกษตรกรมีรายได้พอเลี้ยงครอบครัวได้

แปลงทดลองพืชไร่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ อำเภอเมืองสกลนครจังหวัดสกลนคร


โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ ตั้งอยู่ที่บ้านนานกเค้า ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง สกลนคร จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างอำเภอเมืองสกลนคร ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร ศูนย์นี้มีพื้นที่ประมาณ ๒,๑๐๐ ไร่ มีเขตปริมณฑล เพื่อการพัฒนาป่าไม้ พื้นที่ประมาณ ๑๑,๐๐๐ ไร่ อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติชื่อป่าภูล้อมข้าวและ ป่าภูเพ็ก สภาพพื้นที่บริเวณตอนกลางเป็นที่ราบ ซึ่งเกิดจากตะกอนลำน้ำเก่าทับถมกัน ซึ่งบริเวณ นี้ใช้ทำนาเป็นหลัก ถัดจากบริเวณนี้ไปเป็นพื้นที่ ที่ใช้ทำไร่และเป็นป่าเต็งรัง พื้นที่บางส่วนได้มี การบุกรุกเพื่อใช้ทำการเกษตร เช่น ทำไร่มันสำปะหลัง ฝ้าย และอื่นๆ ลักษณะของดินเป็น ดินร่วนปนทราย นอกจากนี้แล้วโครงการนี้ยังมี ลำห้วยหลายสายไหลผ่าน ที่สำคัญได้แก่ ห้วย เดียก ห้วยตาดไฮใหญ่ ห้วยยาง ห้วยไร่ และ มีอ่างเก็บน้ำห้วยเดียก ซึ่งกรมชลประทานได้สร้าง ไว้ มีความจุ ๔ ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างนี้สามารถส่งน้ำให้พื้นที่ตอนบนของโครงการฯ ได้ ประมาณ ๕,๕๐๐ ไร่ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา แหล่งน้ำอื่นๆ อีก

การพัฒนาปศุสัตว์และทุ่งหญ้าการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้เสริมการกสิกรรมของศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานฯ


กิจกรรมที่สำคัญของศูนย์ฯ 

ประกอบด้วย 

๑. ศึกษาและพัฒนาป่าไม้ โดยอาศัยน้ำ ชลประทานและน้ำฝน 
๒. พัฒนาหมู่บ้านตัวอย่าง (บ้านนานกเค้า) เพื่อให้เป็นหมู่บ้านบริวารของศูนย์ฯ สำหรับการ ถ่ายทอดผลการศึกษาพัฒนา
๓. ศึกษาและพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน เพื่อ หารูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมที่ราษฎรสามารถ นำไปปฏิบัติสำหรับการเพาะปลูกพืชต่างๆ ใน พื้นที่ดินของตน 
๔. ศึกษาการพัฒนาเกษตรกรรม ประกอบด้วยงานศึกษาการพัฒนาหม่อน ไหม พืชไร่ พืชสวน และข้าว ที่เหมาะสมกับภูมิภาคนี้ 
๕. จัดหาน้ำเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมต่างๆ และงานอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร 
๖. สาธิต ส่งเสริมและพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อ การประมง การเลี้ยงปลาด้วยวิธีการที่เหมาะสม และพัฒนาอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อ การประมง
๗. ศึกษาการพัฒนาด้านเกษตรอุตสาหกรรม ได้แก่ งานพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผล เกษตรกรรม 
๘. ส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือน เพื่อให้ราษฎรใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในด้าน ประกอบอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัว 
๙. ศึกษาการพัฒนาปศุสัตว์และทุ่งหญ้า เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้เสริมการกสิกรรม หรือเป็นอาชีพหลัก 
๑๐. เป็นศูนย์กลางในการสาธิตศึกษาการ พัฒนาด้านต่างๆ และเผยแพร่ให้ราษฎรทั่วไป นำไปปฏิบัติ 

๕. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ 

ปัจจุบันพื้นที่ต้นน้ำลำธารทางภาคเหนือของประเทศ อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม ไม่สามารถจะให้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ ถึงแม้จะมีการศึกษา และพยายามพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำ โดยหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน แต่ก็ยังไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ต้นน้ำให้สำเร็จอย่างกว้างขวางได้ และปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ต้นน้ำลำธาร โดยทั่วไปก็นับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น 

    การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารโดยการศึกษาพัฒนาป่าไม้ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบปัญหาต่างๆ เหล่านี้เป็นอย่างดี จึงได้พระราชทานพระราชดำริเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ ให้พิจารณาจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระราชประสงค์ ที่จะใช้เป็นศูนย์กลาง ในการศึกษา เพื่อหารูปแบบการพัฒนาต่างๆ ในบริเวณพื้นที่ต้นน้ำที่เหมาะสม และเผยแพร่ให้ราษฎรนำไปปฏิบัติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาพื้นที่ ต้นน้ำลำธารโดยการใช้ระบบชลประทานเข้าเสริม การปลูกป่า ๓ อย่าง ๓ วิธี คือ การปลูกป่าไม้ ใช้สอย ป่าไม้ผล และป่าไม้ฟืน โดยการใช้น้ำ จากอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น อาศัยน้ำจากน้ำฝน และปลูกตามแนวร่องหุบเขา คือ ทำฝายต้นน้ำ ลำธารเพื่อรักษาความชุ่มชื้น และการใช้ลุ่มน้ำ ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ    
ลักษณะภูมิประเทศของบริเวณห้วยฮ่องไคร้ 

ห้วยฮ่องไคร้อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าบุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีเนื้อที่ ๘,๕๐๐ ไร่ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ อนุมัติเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๕๒๖ ให้เข้า ทำประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าวได้

    การพัฒนาโคนมและทุ่งหญ้า การส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ฯ
ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าเขา มีพื้นที่ค่อนข้างราบอยู่บ้างตามสองฝั่งห้วยฮ่องไคร้ ด้านทิศเหนือเป็นป่าไม้เบญจพรรณสภาพสมบูรณ์ เหมาะที่จะใช้ในการศึกษาเพื่ออนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ ลำธาร พื้นที่ตอนกลาง และตอนใต้ เป็นป่าแดง หรือป่าแพะ (ป่าละเมาะ มีพุ่มไม้เล็กๆ เป็น หย่อมๆ) ลักษณะเป็นป่าซึ่งมีสภาพค่อนข้าง เสื่อมโทรม เหมาะสำหรับใช้เป็นที่ศึกษาการ พัฒนาเกษตรกรรมด้านต่างๆ

แนวทางการพัฒนาตามพระราชดำริกำหนด ให้พื้นที่ตอนบนเหนืออ่างเน้นการพัฒนาป่าไม้และ ต้นน้ำลำธาร ส่วนพื้นที่ตอนล่างเป็นการประมง พื้นที่ระหว่างการพัฒนากิจกรรมด้านปศุสัตว์และ กสิกรรม

กิจกรรมต่างๆ ที่ดำเนินงานในศูนย์ฯ 

ประกอบด้วย 

๑. ศึกษาการพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ต้นน้ำ ลำธาร ได้แก่ การรักษาความชุ่มชื้นของต้นน้ำ การพัฒนาป่าไม้ และระบบการควบคุมไฟป่า ด้วยแนวป้องกันไฟป่าระบบเปียก โดยอาศัยน้ำจาก ระบบชลประทานและน้ำฝน 

๒. ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ เพื่อสนับสนุนการ ดำเนินงานด้านต่างๆ ภายในศูนย์ฯ 

๓. พัฒนาด้านปศุสัตว์ โดยเน้นโคนม และทุ่งหญ้า 

๔. พัฒนาการปลูกพืชพันธุ์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับท้องถิ่นภาคเหนือ จัดพื้นที่สาธิตและทดลอง ในการพัฒนาการเกษตรแบบประณีต และศึกษา รูปแบบที่ราษฎรสามารถผลิตได้ตั้งแต่ระดับพอมี พอกินจนถึงระดับมีกินมีใช้ 

๕. พัฒนาการประมง โดยเน้นการบริหารเกี่ยวกับการจับปลา การทดลองและสาธิต การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ได้แก่ การเลี้ยงปลาใน กระชัง ในอ่างเก็บน้ำ การขุดบ่อเลี้ยงปลาใน บริเวณบ้าน การใช้เครื่องมือทำการประมง และ การใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างถูกวิธี 

๖. พัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม ได้แก่ การ พัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตผลการเกษตรต่างๆ 

๖. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่อง มาจากพระราชดำริ 

ลักษณะพื้นที่ของภาคใต้ ทั้งหมด ๗๒,๙๖๑ ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่ประมาณ ร้อยละ ๔๐ เป็นบริเวณภูเขา และที่สูง จะมีพื้นที่ราบที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูกเพียง ๖,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือ ๔ ล้านไร่ ซึ่งนับได้ว่า น้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ทั้งหมด มีประชากรรวม ๖,๐๓๒,๔๐๐ คน และมีลักษณะ ดินฟ้าอากาศที่แตกต่างไปจากภาคอื่นๆ กล่าวคือ มีสภาพอากาศเพียง ๒ ฤดู คือ ฤดูร้อน ๔ เดือน และฤดูฝน ๘ เดือน ซึ่งจะมีฝนตกชุกมาก ในระหว่างเดือนกันยายน ถึงเดือนมกราคม ภาคนี้ประกอบด้วย ๑๔ จังหวัด ตั้งแต่ชุมพร ระนอง ลงไปจนสุดชายแดนด้านใต้ เนื่องจากจังหวัดเหล่านี้ มีความแตกต่างกันในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และโดยเฉพาะมีปัญหาด้านความมั่นคงเกี่ยวข้องด้วย จึงได้จัดแบ่งภาค เป็น ๒ ส่วน คือภาคใต้ตอนบน และภาคใต้ตอน ล่าง (๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้)

 

การฝึกอบรมความรู้ศิลปหัตถกรรม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส


จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัด สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล มี เนื้อที่รวมกันทั้งสิ้น ๒๑,๒๕๘ ตารางกิโลเมตร (ประมาณ ๑๓.๒ ล้านไร่) คิดเป็นร้อยละ ๒๙.๒ ของพื้นที่ทั้งหมดใน ๑๔ จังหวัดของภาคใต้ มีประชากรรวม ๒.๓ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๓๗.๔ ของประชากรทั้งภาค มีเนื้อที่ถือครองทางการเกษตรทำกินโดยเฉลี่ย ๑๒ ไร่ต่อครัวเรือน (ต่ำกว่าระดับชาติ ซึ่งมีจำนวน ๑๘ ไร่ต่อครัวเรือน) ได้ผลิตผลต่ำ และเกษตรกรส่วนใหญ่ยังขาดที่ดินเพาะปลูก

การเลี้ยงสัตว์เพื่อการศึกษาวิจัย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ


จังหวัดนราธิวาสเป็นจังหวัดหนึ่งที่ประสบกับปัญหาการขาดพื้นที่เพาะปลูก และผลิตผล ทางด้านการเกษตรต่ำ จากเนื้อที่ของจังหวัด ๒,๖๔๒,๓๔๓ ไร่ มีพื้นที่ทำการเกษตรเพียง ๑,๔๙๗,๒๐๕ ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ ๕๗ ของ พื้นที่ทั้งหมด จังหวัดนราธิวาสยังมีพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นบริเวณที่ลุ่มต่ำ และฝนที่ตก มากจนระบายออกทะเลไม่ได้ทันท่วงที ทำให้ เกิดน้ำขังในที่ลุ่มบริเวณนี้ นานๆ เข้าจะเกิดมี สภาพเป็นกรดทำให้ดินเปรี้ยว เรียกว่า "ดินพรุ" มีอาณาเขตกว้างขวางมากถึง ๒๘๓,๓๕๐ ไร่ ซึ่ง เป็นดินที่มีปัญหาไม่เหมาะสมต่อการปลูกพืชเนื่อง จากมีความเป็นกรดจัด คุณภาพต่ำ และมีธาตุ อาหารน้อย แม้เมื่อระบายน้ำออกหมดแล้วก็ ยังยากที่จะใช้ประโยชน์ทางการเกษตรให้ได้ผล

แปลงวิจัยเพื่อการเพิ่มผลผลิตหญ้าขนในดินพรุ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตร เห็นสภาพพื้นที่ และทรงทราบถึงปัญหา และความจำเป็น ที่จะต้องหาทางยกระดับความเป็นอยู่ ของประชาชนให้ดีขึ้น จึงได้ทรงมีพระราชดำริให้ พิจารณาปรับปรุงกิจการพัฒนาด้านต่างๆ โดยเฉพาะ พื้นที่พรุ ซึ่งเป็นที่ที่มีน้ำขังตลอดปี ดินมี คุณภาพต่ำ เพื่อนำมาใช้เป็นประโยชน์ในทาง เกษตรกรรมให้มากที่สุด
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๕ อยู่ระหว่างบ้านพิกุลทอง บ้าน โศกสยา ตำบลกะลุวอเหนือ อำเภอเมือง จังหวัด นราธิวาส อยู่ห่างจากอำเภอเมืองนราธิวาส ไป ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๗ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๔๖๘ ไร่ ในจำนวนนี้ ๑๖๐ ไร่ เป็นพื้นที่ดอนอันเป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ และพื้นที่ พรุสำหรับทำการวิจัยทดลอง ๓๐๘ ไร่ ทางตอนใต้ของศูนย์ มีอ่างเก็บน้ำชื่อใกล้บ้าน ขนาดความจุ ๒ ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมคลองส่งน้ำ ระบายน้ำ ที่สามารถส่งน้ำเข้าไปในแปลงวิจัยได้อย่างทั่วถึง นอกจากนี้ มีอ่างเก็บน้ำเขาสำนัก ซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก อยู่ทางตอนใต้ของศูนย์ฯ สภาพพื้นที่บริเวณพรุนั้น เนื่องจาก กรมชลประทานได้ดำเนินการระบายน้ำบางส่วนออก ทำให้พื้นที่เดิม ซึ่งมีน้ำขังอยู่ตลอดปีได้เปลี่ยนสภาพไป เป็นพื้นที่ทุ่งหญ้า แต่เนื่องจากที่ดินในพรุมีสภาพเป็นดินอินทรีย์ ที่เกิดจากการสลายตัวผุพัง ของซากพืช และเกิดการทับถมกัน จนเป็นชั้นหนา ถัดจากดินชั้นอินทรียวัตถุ จะเป็นดินเลนสีเทาปนน้ำเงิน ดินเลนนี้จะมีสารไพไรต์ ที่เป็นสารประกอบพวกเหล็ก และกำมะถันสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งสาร เหล่านี้แสดงความเป็นกรดอย่างรุนแรงเมื่อถูกกับ อากาศ สภาพเช่นนี้ก่อให้เกิดปัญหาต่อการจะ นำพื้นที่เหล่านี้มาใช้ประโยชน์ จึงจำเป็นต้องมี การทดลองวิจัยหาวิธีแก้ไข

นอกจากนี้พื้นที่การทดลองวิจัยของศูนย์ฯ ได้ขยายออกไปยังหมู่บ้านรอบๆ โครงการ ซึ่ง เรียกกันว่าหมู่บ้านบริวาร มีจำนวน ๙ หมู่บ้าน ด้วยกัน ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ ๒๗,๐๐๐ ไร่ ทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์สาขาขึ้น ในบริเวณต่างๆ เพื่อขยายขอบเขตของการทดลองวิจัยและถ่ายทอด ความรู้ไปสู่ประชาชนในบริเวณอื่นๆ ด้วย ศูนย์ สาขาเหล่านี้ได้แก่

ศูนย์สาขาที่ ๑ : โครงการสวนยาง เขาตันหยง อยู่ที่เขาตันหยง อำเภอเมือง จังหวัด นราธิวาส 
ศูนย์สาขาที่ ๒ : โครงการพัฒนา หมู่บ้านปีแนมูดอ อยู่ที่หมู่บ้านปีแนมูดอ อำเภอ ระแงะ จังหวัดนราธิวาส 
ศูนย์สาขาที่ ๓ : โครงการหมู่บ้าน ปศุสัตว์เกษตรมูโนะ อยู่ที่หมู่บ้านปศุสัตว์เกษตร มูโนะ อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 

กิจกรรมต่างๆ ที่ได้ดำเนินการในศูนย์ฯ 

ประกอบด้วย 

๑. ศึกษาและพัฒนาดินอินทรียวัตถุ รวม ทั้งดินที่มีปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่พรุให้สามารถนำ มาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรและอื่นๆ ได้อย่าง มีประสิทธิภาพและผลตอบแทนสูงสุด 

๒. ทดลองวิจัยเกี่ยวกับการปลูกพืช การ เลี้ยงสัตว์ การประมง และการปลูกป่าไม้ ที่ เหมาะสมกับสภาพพื้นที่พรุ เพื่อให้ทราบแนวทาง สำหรับพัฒนาพื้นที่พรุอย่างมีประสิทธิภาพ 

๓. สาธิตและเผยแพร่ความรู้ด้านการเกษตร สาขาต่างๆ 

๔. ฝึกอบรมและพัฒนาอาชีพทั้งทางด้าน การเกษตรและศิลปหัตถกรรมที่ทำจากวัสดุพื้น- เมืองให้กับราษฎรในหมู่บ้านบริวารที่ตั้งอยู่โดย รอบพื้นที่โครงการ เพื่อให้ใช้อุปโภคได้ภายใน ครัวเรือนและเหลือขายเป็นสินค้า 

๕. นำผลการศึกษาวิจัยและพัฒนาไปเป็น แบบอย่างใช้กับโครงการพัฒนาพื้นที่พรุแห่งอื่นๆ ต่อไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow