Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การพัฒนาชนบทของชาติ

Posted By Plookpedia | 22 ธ.ค. 59
1,287 Views

  Favorite

การพัฒนาชนบทของชาติ

รูปแบบการพัฒนาชนบท ได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ ในสมัยก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะความเป็นอยู่ของคนไทยในสมัยนั้น เป็นชนบทโดยแท้จริง ประชาชนประกอบอาชีพการทำนาเป็นส่วนใหญ่ อาศัยแรงคน และแรงงานจากวัวควาย ใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว บางปีน้ำท่วม บางปีก็แห้งแล้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริ หามาตรการแก้ไขปัญหา โดยให้ขุดคลอง เช่น คลองรังสิต เป็นต้น เพื่ออาศัยน้ำจากคลองขุด มาช่วยทำนาในปีที่แห้งแล้ง

การพัฒนาชนบทในสมัยต่อมาตามแนว พระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการพัฒนาแหล่งน้ำ โดยการขุดคลอง ได้วิวัฒนาการมาเป็นการพัฒนาระบบชลประทาน จากระบบเหมือง ฝาย อ่างเก็บน้ำ ไปจนถึงการสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ดังเช่นใน สมัยนี้

ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าว ซึ่งเป็นผลิตผลที่สำคัญของประเทศ


ถึงยุคปัจจุบัน ปัญหาชนบทได้เพิ่มมากขึ้น และเกี่ยวเนื่องกับปัญหาอื่นๆ มากมาย ที่เป็นสาเหตุ เช่น จำนวนประชากรที่เพิ่ม ทรัพยากรธรรมชาติที่ลด และความไม่สมดุลต่างๆ จนเป็นปัญหาใหญ่ของชาติ ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขอย่างจริงจัง และเร่งด่วน ช่วยพัฒนาชาวชนบทให้พ้นจากสภาวะความยากจน ความล้าหลังทางเศรษฐกิจ ความเสื่อมโทรมในคุณภาพชีวิต ฯลฯ อันเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้ชาวชนบทไม่สามารถพึ่งตนเองได้อย่างแท้จริง โดยระดมกิจกรรม โครงการ และหน่วยราชการต่างๆ เข้าไปดำเนินการ ซึ่งในช่วง ๒ ทศวรรษที่ผ่านมา อาจจำแนกโครงการพัฒนาดังกล่าวออกได้เป็น ๓ ลักษณะใหญ่ๆ ดังนี้ 

๑. โครงการที่มีลักษณะการพัฒนาโดยยึดพื้นที่เป็นเป้าหมาย

โครงการในลักษณะนี้ พัฒนาพื้นที่เฉพาะแห่งที่มีปัญหา โดยรัฐบาลทุ่มเททรัพยากรทุกอย่างเท่าที่จำเป็น เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่นั้นให้ได้อย่างสมบูรณ์แบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน แหล่งน้ำ ไปจนถึง การส่งเสริมอาชีพ การลงทุน และการตลาด เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่แห่งนั้นได้รับการพัฒนา และการบริการทางเศรษฐกิจ และสังคม ที่จำเป็นในทุกสาขา อันเป็นโครงการระยะยาว ในการแก้ไขปัญหาหลักของประชาชนให้ได้ผลอย่างสมบูรณ์ ส่วนใหญ่ของโครงการในลักษณะนี้ มักเป็นโครงการพัฒนาสมบูรณ์แบบ หรือเบ็ดเสร็จ หรือผสมผสาน ที่มีหน่วยราชการเดียวเป็นผู้รับผิดชอบโครงการทั้งหมด เช่น โครงการนิคมสร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์ โครงการหมู่บ้านสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ โครงการหมู่บ้านสมบูรณ์แบบของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท เป็นต้น ซึ่งภายหลังได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า หน่วยราชการที่รับผิดชอบ ไม่อาจมีความเชี่ยวชาญในทุกสาขา ที่จะดำเนินงานพัฒนาได้ตามเป้าหมายทั้งหมด จึงทำให้ถอนตัวออกได้โดยง่าย จึงเป็นเหตุให้ราษฎรยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้อย่างเต็มที่ ราชการจึงต้องรับภาระทำหน้าที่ เป็นพี่เลี้ยงอยู่ต่อไป ทำให้เกิดความยืดเยื้อ และ สิ้นเปลืองทั้งเวลา กำลังคน และงบประมาณ การกระจายการพัฒนาเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง และตกอยู่แก่ประชาชนเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

    การขุดคลองส่งน้ำ การพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อการเกษตร ตามโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.)

๒. โครงการที่มีลักษณะการพัฒนา โดยยึดตามสายงานรับผิดชอบของหน่วยงาน 

ความพยายามในลักษณะนี้ ได้แก่ การพัฒนาตามสายงานปกติของแต่ละหน่วยงานรับผิดชอบ เช่น การส่งเสริมการเกษตร ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร การส่งเสริมการสหกรณ์ ดำเนินการโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ การพัฒนาปศุสัตว์ของกรมปศุสัตว์ การพัฒนาบริการพื้นฐานในชนบท ของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท ฯลฯ เป็นต้น โครงการลักษณะนี้ มีปัญหาหลักคือ การขาดหลักเกณฑ์ ที่จะประสานการดำเนินงานของหน่วยราชการต่างๆ เข้าด้วยกัน ให้สอดคล้องเหมาะสมตามสภาพการณ์ของพื้นที่ และตามขั้นตอนระยะเวลา 

๓. โครงการที่มีลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า 

นอกจากการดำเนินการตามแนวทาง ดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังเห็นว่า ชนบทนั้นมีปัญหาเรื้อรังมานาน ไม่อาจแก้ได้อย่างรวดเร็วทันทีทันใด เพราะปัญหาชนบทได้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และบางกรณีก็จำเป็นต้องแก้ไข โดยรีบด่วน ดังนั้นรัฐบาลจึงได้ใช้โครงการต่างๆ เข้าเสริม เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาเฉพาะกรณีด้วย เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก หรือน้ำใต้ดิน เพื่อกระจายการบริการน้ำไปสู่นอกเขตลุ่มน้ำได้อย่างรวดเร็วทันที การส่งเสริมกิจกรรมประเภทเสริมรายได้ เช่น หัตถกรรม การเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เล็ก เช่น เป็ด ไก่ ฯลฯ และการให้ความ สำคัญกับปัญหาพื้นฐานทางสังคม และเศรษฐกิจชนบทมากขึ้น เช่น การส่งเสริม การช่วยเหลือ ซึ่งกันและกันในรูปแบบต่างๆ เช่น ธนาคารข้าว เน้นการสนับสนุนการรวมกลุ่ม เพื่อแก้ปัญหาภายในท้องถิ่น ตลอดจนการใช้โครงการเงินผัน และโครงการสร้างงานในชนบท (กสช.) เข้าแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นกรณีๆ ไปด้วย

การซ่อมสร้างถนนเพื่อพัฒนาเส้นทางคมนาคมให้สะดวก


อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานพัฒนาชนบท ตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นที่ผ่านมา ก็ยังปรากฏว่า มีพื้นที่อีกเป็นอันมาก ซึ่งอยู่ในเขตห่างไกลคมนาคม ทุรกันดาร และเขตที่มีแววการพัฒนาต่ำ ไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร ทำให้เกิดความไม่สมดุล ในการกระจายการบริการเศรษฐกิจและสังคม การกระจายรายได้ และความเจริญไปสู่ภูมิภาค ตลอดจน การสร้างความเป็นธรรมในสังคมอย่างทั่วถึง 

ดังนั้น ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๙) และฉบับที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๓๐-๒๕๓๔) รัฐบาลจึงได้เน้นการดำเนินงานพัฒนาชนบท และกำหนด "แผนพัฒนาชนบท" ขึ้นมาเป็นแผนระดับชาติ โดยเน้น "ความสมดุล" ที่จะกระจายการบริการ เศรษฐกิจ และสังคม ออกไปให้ทั่วถึงทั้งประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในชนบท ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดแนวทาง เป้าหมาย และการปฏิบัติอย่างชัดเจน เพื่อหน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะ ๖ กระทรวงหลักสำคัญ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ จะได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันและประสานสอดคล้องกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow