Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การศึกษาการพัฒนา

Posted By Plookpedia | 22 ธ.ค. 59
5,159 Views

  Favorite

ประเทศไทยมีชาวนาชาวไร่เป็นจำนวนมาก และส่วนมากมีฐานะยากจน มีความเป็นอยู่ไม่ค่อยดี เช่น ที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ อาหารที่รับประทานมีคุณค่าไม่เพียงพอ โรคภัยไข้เจ็บชุกชุม รัฐบาลทุกสมัยได้พยายามช่วยเหลือ โดยจัดทำโครงการต่างๆ แต่ก็ยังกระจายไม่ค่อยทั่วถึง และไม่ได้เน้นให้ชาวบ้านพึ่งตนเองเท่าที่ควร ในช่วงหลังๆ รัฐบาลจึงได้วางแผนการช่วยเหลือระยะยาว โดยให้กระทรวงต่างๆ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ วางแผน และดำเนินการพัฒนา ในแนวทางเดียวกัน และส่งเสริมกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยเกษตรกร จึงได้ทรงจัดตั้งโครงการต่างๆ และทรงให้แนวความคิด เพื่อช่วยให้เกษตรกรเหล่านั้น มีรายได้มากขึ้น และมีสภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ


      ๑. ให้ราษฎรพึ่งตนเองได้ โดยรวมกลุ่มกันจัดทำสิ่งต่างๆ เป็นของส่วนรวม เพื่อแก้ปัญหา หรือร่วมกันทำมาหากิน
๒. ให้ใช้หลักวิชาการสมัยใหม่ ในการประกอบอาชีพ เช่น รู้จักการใช้ปุ๋ย เลือกพืชให้เหมาะสมกับสภาพที่ดิน และสิ่งแวดล้อม และใช้วิธีปลูก และบำรุงรักษาที่เหมาะสมกับพืช การนำส่วนต่างๆ ของพืชมาใช้ประโยชน์ หรือแปรรูป เพื่อให้ราคาดีขึ้น และการจำหน่ายผลิตผลให้ได้ราคาดี

๓. ให้ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติไว้ทำมาหากินได้นานๆ เช่น อนุรักษ์ป่าไม้ให้มีต้นไม้มากๆ เพื่อจะได้ใช้ไม้ ได้หาของป่า ได้ช่วยให้ฝนตก และป้องกันน้ำท่วมอย่างรุนแรง อนุรักษ์ดินคือ ทำให้ดินที่เปรี้ยว และดินพรุ ซึ่งเป็นดินเสียกลับเป็นดินดีที่ปลูกพืชต่างๆ ได้ และอนุรักษ์น้ำ เพื่อให้มีน้ำที่ดีใช้ตลอดเวลา
  


๔. ให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ให้มีอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วน มีเครื่องนุ่งห่มพอเพียง มีที่อยู่อาศัยถูกสุขอนามัย มีการศึกษาหาความรู้ เพื่อการทำมาหากิน และการดำรงชีวิตประจำวันที่ถูกต้อง เสริมสร้างคุณธรรม และจริยธรรม เช่น ไม่เล่นการพนัน ไม่ดื่มเหล้า รู้จักรักษาสุขภาพ เช่น รักษาอาหารและน้ำให้สะอาด รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุ 

เพื่อให้บรรลุผลตามแนวความคิดทั้ง ๔ ข้อข้างต้น จำเป็น ต้องศึกษาปัญหา และทางแก้ปัญหา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดให้มีโครงการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัย ในพระราชฐานส่วนหนึ่ง และนอกพระราชฐานอีก ๖ แห่ง ตามพื้นที่ต่างๆ ที่มีลักษณะต่างกัน คือ ที่จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี สกลนคร เชียงใหม่ และนราธิวาส

 

 

แต่เดิมคนไทยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่ ทำนา ทำสวน ทำไร่ อาชีพที่ทำกันมากที่สุดคือ ทำนา มีชีวิตความเป็นอยู่ง่ายๆ แต่ละครอบครัวมีที่ดินของตนเอง อาศัยน้ำจากธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เช่น น้ำฝน และน้ำในแม่น้ำลำคลอง ถ้าฝนตกดีจะได้ผลิตผลมาก ถ้าฝนตกน้อยก็ได้ผลิตผลน้อย ในการดำรงชีวิตไม่ต้องใช้เงินมาก เพราะเราปลูกพืช ทำเครื่องใช้ และเสื้อผ้าได้เอง สามารถจับสัตว์น้ำจากแม่น้ำลำคลอง และล่าสัตว์จากป่ามาเป็นอาหาร จึงไม่เดือดร้อนนัก แต่ต่อมาประชากรเพิ่มขึ้น ที่ดินทำมาหากินจึงไม่เพียงพอกับจำนวนคน จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก และวิธีบำรุงรักษาคุณภาพดิน เพื่อให้ได้ผลิตผลมากขึ้น

อย่างไรก็ดี ความจริงปรากฏว่า ชาวไร่ชาวนาส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้พอที่จะปรับปรุงวิธีการเพาะปลูกพืชผล และวิธีการบำรุงรักษาดิน จึงได้ผลิตผลน้อย เป็นเหตุให้ต้องไปกู้ยืมเงิน หรือนำที่ดินไปจำนอง และบางทีก็ต้องสูญเสียที่ดินไป ในขณะเดียวกันรายจ่าย ก็เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ก็ลำบากขึ้นกว่าเดิม ทางบ้านเมืองได้พยายามช่วยเหลือ ด้วยวิธีต่างๆ เช่น ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการจัดระบบชลประทาน รัฐบาลในสมัยต่อๆ มาก็ได้พยายามช่วยเหลือชาวชนบท โดยจัดทำโครงการในลักษณะต่างๆ ซึ่งแบ่งได้ดังนี้

๑. โครงการที่ยึดพื้นที่เป็นเป้าหมาย คือ เมื่อพิจารณาว่า หมู่บ้าน หรือตำบล หรืออำเภอใดมีปัญหามาก หน่วยงานบางหน่วยจะวางแผนพัฒนา เช่น โครงการสร้างตนเองของกรมประชาสงเคราะห์

๒. โครงการที่ยึดตามสายงานรับผิดชอบของหน่วยงาน เช่น ส่งเสริมการเกษตร โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ส่งเสริมการสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์

๓. โครงการที่ยึดหลักแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น โครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก โครงการเงินผัน ใช้แก้ปัญหาเป็นกรณีๆ ไป

ปรากฏว่า โครงการทั้งสามลักษณะยังขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่รับผิดชอบ และยังไม่ได้เน้นเรื่องให้ชาวบ้านช่วยตนเอง รัฐบาลปัจจุบันจึงได้จัดแผนพัฒนาชนบทขึ้น โดยให้หน่วยราชการต่างๆ คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพาณิชย์ วางแผน และดำเนินการไปในแนวทางเดียวกัน และส่งเสริมกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงห่วงใยราษฎรมาก จึงได้ทรงตั้งโครงการต่างๆ และได้ทรงให้แนวคิด เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างรวดเร็ว และได้ผลดียิ่งขึ้น ทำให้เกิดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริขึ้น ซึ่งแยกเป็น ๓ ลักษณะ ดังนี้

๑. โครงการที่มีลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า (ระยะสั้น) จะช่วยสิ่งที่จำเป็นรีบด่วน ก่อนที่จะช่วยแก้ที่ต้นเหตุ เช่น โครงการแพทย์หลวง และแพทย์พระราชทาน โครงการฝนหลวง

๒. โครงการที่มีลักษณะการแก้ปัญหาหลักของชาติ (ระยะยาว) จะทรงมุ่งการแก้ไขปัญหาในชนบท โดยเฉพาะชนบทที่ยากจน อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร เป็นโครงการแบบผสมผสาน ด้วยการขอความร่วมมือจากนักวิชาการ และหน่วยงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหา ที่มีอยู่หลายๆ ด้าน


    ๓. โครงการที่มีลักษณะเป็นการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง และวิจัยพระองค์ ได้ทรงเริ่มศึกษาอย่างจริงจัง เกี่ยวกับการพัฒนาชนบทมาไม่น้อยกว่า ๒๐ ปี ทั้งที่ทรงศึกษาภายในเขตพระราชฐาน และนอกพระราชฐาน เพื่อพระองค์จะได้มีข้อมูล และความรู้ที่จะเผยแพร่แก่เกษตรกรในชนบท สิ่งที่ทรงศึกษา คือ เรื่องหลักทุกเรื่อง ที่จะช่วยให้รายได้เพิ่มขึ้น เช่น ทำอย่างไรจึงจะมีน้ำ เพื่อปลูกพืชอย่างพอเพียง พื้นที่เหมาะสมจะปลูกอะไร ควรจะทำงานอะไรเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มรายได้นอกเหนือจากอาชีพหลัก  
ศูนย์ศึกษาการพัฒนามีอยู่ตามแหล่งพื้นที่ที่มีลักษณะต่างๆ กัน ๖ ศูนย์ คือ 

๑. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา 
๒. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอ ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี 
๓. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี 
๔. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัด สกลนคร 
๕. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอดอย- สะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ 
๖. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส

หลักดำเนินงานของโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในภูมิภาคต่างๆ ทั้งหกแห่ง คือ 

๑. ศึกษา ค้นคว้า และวิจัยสภาพการณ์ต่างๆ ในพื้นที่นั้นๆ ก่อนกำหนดรูปแบบของการพัฒนา เพราะแต่ละท้องที่มีความแตกต่างกัน ทั้งในด้านปัญหาที่เกิดขึ้น โครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต่างๆ

๒. ลักษณะการพัฒนาอยู่ในรูปเบ็ดเสร็จ มีการปรับปรุงทั้งระบบให้เกิดการพัฒนาเป็นระบบครบวงจร กล่าวคือ วิเคราะห์ปัญหา วางแผนในเรื่องการผลิต การแปรรูป ผลิตผล และการตลาด 

๓. สนับสนุนปัจจัยที่จำเป็นต่อการพัฒนาการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การชลประทาน ที่ดิน เงินทุน ปัจจัยการผลิตอื่นๆ และการตลาด 

๔. ประสานการทำงานของหน่วยงานของรัฐและเอกชน ในลักษณะการผสมผสานร่วมมือกันทำงาน เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างเต็มที่

ในการพัฒนาชนบทตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้งหลายนั้น ทรงมีแนวทางในการแก้ปัญหาของชนบทดังนี้

๑. ให้พึ่งตนเองได้ โดยพยายามให้ราษฎรได้มีการรวมกลุ่มกันจัดทำสิ่งต่างๆ เป็นของส่วนรวม เพื่อแก้ปัญหาของชุมชน หรือเพื่อทำมาหากินร่วมกัน เช่น โครงการธนาคารข้าว การพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น 

๒. ให้ราษฎรใช้หลักวิชาการสมัยใหม่ในการทำมาหากิน เช่น การปรับปรุงดิน การใช้ปุ๋ย การดูแลรักษาพืชที่ปลูก สัตว์ที่เลี้ยง ให้ได้ผลิตผลตามที่ต้องการ 

๓. ให้ช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพราะทรัพยากรธรรมชาติเป็นปัจจัย หรือสิ่งที่ส่งเสริมให้มีการทำมาหากินอย่างได้ผล ในระยะยาว เช่น ให้อนุรักษ์ป่าไม้ ซึ่งเป็นแหล่งที่มนุษย์ได้ใช้ในการทำมาหากินต่างๆ เช่น การทำไม้ การหาของป่า และที่สำคัญ คือ ป่าไม้ช่วยให้มีฝนตก และป้องกันอุทกภัย ให้อนุรักษ์ดิน โดยปรับให้ดินที่มีปัญหา ได้แก่ ดินเปรี้ยว ดินพรุ ให้กลับเป็นดินดี ใช้ปลูกพืชได้ นอกจากนี้รัฐบาลจัดสรรที่ดินว่างเปล่าให้เกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินเอง ไปประกอบอาชีพในรูปของหมู่บ้านสหกรณ์ จัดที่ให้มีน้ำจากโครงการชลประทานอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ผู้ได้รับที่ดินทำกินมีสิทธิ์ทำมาหากิน แต่ขายไม่ได้ เพราะไม่ต้องการให้แปรสภาพเป็นอย่างอื่น 

๔. ให้ราษฎรมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ ให้มีอาหารที่มีคุณภาพ มีเครื่องนุ่งห่ม มีที่อยู่อาศัยที่ถูกต้องตามสุขอนามัย ให้รู้จักรักษาสุขภาพร่างกายของตนเอง และผู้ที่อยู่ในความรับผิดชอบ พร้อมทั้งให้การศึกษา เสริมสร้างคุณธรรม และจริยธรรม

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow