Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ศิลปะและเทคนิคในการวางแผนและปฏิบัติการตามแผน

Posted By Plookpedia | 22 ธ.ค. 59
3,269 Views

  Favorite

ศิลปะและเทคนิคในการวางแผนและปฏิบัติการตามแผน 

เนื่องด้วยการเกิดฝน ทั้งโดยธรรมชาติ และการกระทำของมนุษย์ เกี่ยวข้องกับตัวการที่มีความผันแปร และไวต่อการเปลี่ยนแปลงสถานภาพสูง จึงต้องมีการปรับแผน ในระหว่างปฏิบัติการ ให้เหมาะสมกับสภาพปรากฏการณ์ในท้องฟ้าขณะนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรการปฏิบัติการฝนหลวงที่สนามบินบ่อฝ้าย อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


ข้อแนะนำทางเทคนิค ที่พระราชทานแก่นักวิชาการให้เป็นหลักการ และแนวทางในการวางแผนปฏิบัติการ และการปรับแผนในระหว่างปฏิบัติการ ให้ประสบความสำเร็จ คือ ต้องมีศิลปะ และความเชื่อมั่น ในการนำเอาข้อมูลที่ได้รับจากการคาดหมายลักษณะ และพยากรณ์อากาศ การตรวจวัดสภาพอากาศ ทั้งผิวพื้น และชั้นบนประจำวัน สภาพท้องฟ้าและเมฆ ในขณะที่ปฏิบัติการ ในแต่ละขั้นตอนของกรรมวิธี ภูมิอากาศ และภูมิประเทศประจำถิ่น รวมทั้งความมั่นใจ ความรู้ทางวิชาการ และประสบการณ์ของนักวิชาการฝนหลวง ความเอาใจใส่ในการสังเกตการณ์ และติดตามผลการปฏิบัติการอย่างใกล้ชิด ของนักวิชาการฝนหลวง ในแต่ละขั้นตอนของการปฏิบัติการตามกรรมวิธีก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี ประกอบการพิจารณาในการวางแผน และปรับแผนระหว่างปฏิบัติการประจำวันด้วย ซึ่งพอลำดับขั้นตอนได้ดังนี้

๑. กำหนดพื้นที่เป้าหมายหวังผลประจำวัน คาดหมายทิศทางการเคลื่อนตัวของกลุ่มเมฆฝน และวางแผน เพื่อการติดตาม และประเมินผลปฏิบัติการพื้นที่ใต้ลม

แผนที่แสดงพื้นที่เป้าหมายหวังผลในการปฏิบัติการฝนหลวง


๒. รวบรวมข้อมูลคาดหมายลักษณะอากาศ และพยากรณ์อากาศ ข้อมูลการตรวจวัดสภาพอากาศ ด้วยเครื่องวัดผิวพื้น การตรวจวัดความเร็ว ทิศทางลม และหยั่งอากาศชั้นบน ที่ระดับต่างๆ ด้วยเครื่องรับ-ส่งสัญญาณวิทยุ (Radiosone) แล้ว วิเคราะห์ และแปรค่าข้อมูลที่จำเป็น สำหรับใช้ประกอบการวางแผน และปรับแผน ปัจจุบันนี้มีการตรวจวัด และทำการแปลงค่าใช้แล้วเสร็จวันละ ๒ ครั้ง คือ เวลา ๐๗.๐๐ น. และเวลา ๑๓.๐๐ น.

รถเรดาร์ฝนหลวง ช่วยตรวจวัดและบันทึกภาพด้วยเรดาร์ตรวจฝน แบบเคลื่อนที่ได้

  ๓. ข้อมูลที่ใช้ประกอบการวางแผนปฏิบัติการ ในแต่ละขั้นตอน ของกรรมวิธี
๓.๑ ก่อกวน 

ก. กำหนดระยะทางเหนือลม ของพื้นที่เป้าหมายหวังผล กำหนดรูปแบบการ โปรยสารเคมีโดยใช้ความเร็วและทิศทางลมเฉลี่ย ของทุกระดับ สภาพภูมิประเทศบริเวณที่โปรย และสมรรถนะในการบินเดินทางของเครื่องบิน 

ข. กำหนดระดับสูงการโปรยโดย ใช้ข้อมูลระดับการยกตัวของมวลอากาศอันเนื่อง มาจากกระแสไหลพาความร้อนในแนวตั้ง (Lifting Convection Level; LCL) ระดับการกลั่นตัวของ เมฆ (Cloud Condensation Level; CCL) ระดับ เยือกแข็ง (Freeze Level; F/L) ดัชนีการทรงตัวของ มวลอากาศ (Stability Index; SI) ดัชนีการยกตัว ของมวลอากาศ (Lifting Index; LI) ความเร็วและ ทิศทางลมเฉลี่ยที่ระดับขั้นต่างๆ ระดับที่เกิดการ หักเหของอุณหภูมิอากาศ (Inversion) ที่ไม่มากนัก และสมรรถนะในการบินต่างระดับของเครื่องบิน 

ค. กำหนดชนิดของสารเคมีทั้ง แบบเดี่ยวหรือสารผสมในรูปผงหรือสารละลาย และกำหนดปริมาณให้สอดคล้องกับอุณหภูมิกลั่นตัว และความชื้นสัมพัทธ์ของระดับสูงที่กำหนดไว้ ในข้อ ก. และข้อ ข. 

ง. กำหนดเวลาการบินและอัตรา การโปรยสารเคมีให้สอดคล้องกับข้อ ก. ข. และ ค. หากมีการวางแผนก่อกวนมากกว่าหนึ่งเที่ยว- บิน ต้องกำหนดช่วงเวลาระหว่างเที่ยวบินให้ เหมาะสมกับ ข้อ ค.

ภาพแสดงกลุ่มฝนตกจากจอเรดาร์


๓.๒ เลี้ยงให้อ้วน การปฏิบัติการใน ขั้นตอนนี้ขึ้นกับศิลปะและประสบการณ์ในการ ตัดสินใจของนักวิชาการที่วางแผนและปฏิบัติบน อากาศยาน ในการกำหนดและปรับแผนด้วยการ สังเกตและการเลี้ยงให้อ้วนอย่างใกล้ชิด 

ก. กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ เริ่มจากบริเวณที่ก่อกวนไปทางใต้ลมจนก่อนถึงพื้นที่ เป้าหมายหวังผล และเลือกโปรยสารเคมีบริเวณ ที่ติดตามและสังเกตพบว่ามีกลุ่มเมฆหนาแน่นกว่า 

ข. กำหนดเวลาการเริ่มต้นเลี้ยง ให้อ้วนห่างจากเวลาที่สิ้นสุดการก่อกวน ให้ สอดคล้องกับคุณสมบัติทางปฏิกิริยาของสารเคมี ที่ใช้แบบเดี่ยวหรือสารผสม 

ค. กำหนดระดับบินโปรยสารเคมี ให้เหมาะสมกับสภาพและสมรรถนะของเครื่องบิน ที่ใช้ที่ระดับฐานเมฆหรือยอดเมฆ หรือช่องว่าง ระหว่างก้อนเมฆที่ระดับระหว่างฐานและยอดเมฆ ทางด้านเหนือลมหรือบินเข้าโปรยในเมฆ 

ง. กำหนดชนิดสารเคมีทั้งแบบ เดี่ยวหรือสารผสมที่เหมาะสมกับอุณหภูมิกลั่นตัว ของสภาพอากาศทั้งภายในและภายนอกก้อนเมฆ และอัตราการโปรยด้วยความระมัดระวังไม่มาก เกินไป ซึ่งอาจทำให้เมฆสลายตัวได้

เขื่อนลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา แหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทานและการผลิตกระแสไฟฟ้า


๓.๓ โจมตี เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จะ บังคับให้ฝนตกลงสู่พื้นที่เป้าหมายหวังผล จึงต้อง อาศัยประสบการณ์ของนักวิชาการที่วางแผนใน การตัดสินใจเลือกใช้สารเคมีให้เหมาะสมกับสภาพ เมฆ อากาศ ภูมิประเทศ สภาพและสมรรถนะ ของเครื่องบิน แต่ขณะที่บินโจมตีจริง ต้องอาศัย การตัดสินใจของนักวิชาการที่ขึ้นไปปฏิบัติการบน เครื่องบิน และความสามารถของนักบินในการ เลือกกลุ่มเมฆและวิธีการที่จะโจมตีตามเทคนิค ที่กล่าวไว้ในขั้นที่สาม (โจมตี)
๔. ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติการ ประจำวันตามแผนที่วางไว้ในข้อ ๑    

โครงการฝนหลวงช่วยให้เกษตรกรไม่ขาดแคลนน้ำใช้


ในการเกษตร
๔.๑ รายงานฝนตกในพื้นที่ตำบลต่างๆ ของแต่ละอำเภอและจังหวัดโดยข่ายวิทยุตำรวจ ซึ่งรายงานว่ามีฝนตกเวลาใด นานเท่าใด เป็นฝน เล็กน้อยถึงปานกลางหรือหนัก

๔.๒ รายงานปริมาณน้ำฝนจากเครื่อง วัดฝนเท่าที่จะรวบรวมได้ในวันนั้น 

๔.๓ ติดตาม ตรวจวัด และบันทึก ภาพด้วยเรดาร์ตรวจฝนแบบเคลื่อนที่ได้ ของ สำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง หรือสถานีตรวจ เรดาร์ของกรมอุตุนิยมวิทยาที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดที่เป็น ฐานปฏิบัติการ ซึ่งจะทราบพื้นที่ๆ ฝนตกอย่าง ชัดเจน และระดับความเข้มของฝนที่แปลงค่าเป็น ปริมาณฝนที่ได้ ผลของการประเมินประจำวัน มีความสำคัญ ต่อการกำหนดเป้าหมายหวังผล ในการวางแผนปฏิบัติการในวันรุ่งขึ้น 

๕. จัดทำรายงานผลการปฏิบัติการประจำวัน เสนอศูนย์อำนวยการฝนหลวงพิเศษ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต สำนักงานปลัดกระทรวง และสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านโทรพิมพ์ข่ายกระทรวงมหาดไทย หรือการสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือข่ายวิทยุตำรวจ หรือข่ายวิทยุมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow