การบริโภคนม
เมื่อเปรียบเทียบการบริโภคนมต่อประชากรแล้ว ประเทศไทยมีสถิติการบริโภคนมอยู่ในระดับต่ำมาก กล่าวคือ มีการบริโภคนมเพียง ๒ ลิตร ต่อคนต่อปี ในขณะที่ประเทศฟินแลนด์มีการบริโภคถึง ๒๔๑ ลิตร สหรัฐอเมริกา ๑๓๑ ลิตร ญี่ปุ่น ๔๐ ลิตร สิงคโปร์ ๑๗ ลิตร ฟิลิปปินส์ ๙ ลิตร มาเลเซีย และฮ่องกง ๘ ลิตร เป็นต้น ขณะเดียวกัน คนไทยกลับดื่มน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สูงมาก โดยเฉพาะดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์สูงถึง ๑๕ ลิตรต่อคนต่อปี
ปัจจุบันรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงคุณค่าทางอาหารของนม และสนับสนุนนโยบายส่งเสริมการเลี้ยงโคนมของรัฐบาล จึงสร้างฐานตลาดรองรับน้ำนมดิบของเกษตรกร และแต่งตั้งคณะกรรมการรณรงค์ เพื่อการบริโภคนมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ ประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็น ประธาน มีตัวแทนจากภาครัฐบาล ภาคเอกชน สหกรณ์โคนม และเกษตรกร เป็นกรรมการ มีวัตถุประสงค์ เพื่อที่จะรณรงค์ทุกรูปแบบ เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน บริโภคนมอย่างต่อเนื่อง และกว้างขวาง โดยมีเป้าหมายให้คนไทยบริโภคนมเพิ่มขึ้นเป็น ๗ ลิตรต่อคนต่อปีใน พ.ศ.๒๕๓๒
การรณรงค์นี้ นอกจากกระทำผ่านทาง สื่อโฆษณาต่างๆ แล้ว ยังได้กำหนดโครงการ นมโรงเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียน ตั้งแต่ระดับอนุบาล จนถึงมหาวิทยาลัย ได้บริโภคนมในราคาถูก เป็นพิเศษ และหาวิธีการที่จะเพิ่มผลิตผลและลดค่าใช้จ่าย ในกระบวนการผลิตน้ำนมดิบ การแปรรูป และการจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนบริโภคนมได้ ในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น
ในการรณรงค์ ได้เน้นการสร้างนิสัย และความเคยชินในการบริโภคนม โดยกระตุ้นให้มารดาเลี้ยงทารก ด้วยนมของตนเอง ตั้งแต่ทารกแรกเกิด และถ้าจำเป็นจริงๆ ไม่อาจเลี้ยงด้วยนมตนเองได้ ก็อาจให้นมผงดัดแปลงสำหรับทารก จนถึงช่วง ๖-๑๒ เดือน จึงให้นมผงดัดแปลง สำหรับทารก หรือนมผงธรรมดา (whole milk powder) หรือนมพร้อมดื่ม ต่อจากนั้นก็ให้ดื่มนมเรื่อยไป โดยไม่มีการ "หย่านม" เพราะนมเป็นอาหารของคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งควรบริโภคทุกวัน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนด้วยแล้ว จำเป็นต้องดื่มนมวันละหลายแก้ว