หลักการเลี้ยงสัตว์
ในการเลี้ยงสัตว์มีปัจจัยที่สำคัญ ๔ ประการด้วยกัน คือ
๑. พันธุ์สัตว์
เกษตรกรไทยยังไม่ให้ความสำคัญต่อพันธุ์สัตว์ ที่นำมาใช้เลี้ยงมากนัก จึงมิได้ให้ความสำคัญต่อคุณภาพทางพันธุกรรมของสัตว์ ที่นำมาใช้เลี้ยง โดยเฉพาะในโคและกระบือ
ปัจจุบันเกษตรกรไทยเริ่มให้ความสำคัญต่อการเลือกซื้อหาสัตว์ ที่มีคุณภาพดีมาเลี้ยงมากขึ้น โดยเฉพาะในไก่ เป็ด และสุกร
เกษตรกรจำนวนมากยังนิยมตอนโคและกระบือที่มีขนาดใหญ่ และรูปร่างดี เพื่อนำไปใช้งาน คงปล่อยให้โคและกระบือตัวผู้ขนาดเล็กไว้คุมฝูง จึงทำให้ลูกโคและกระบือที่คลอดออกมาระยะหลังๆ มีขนาดเล็กลง
ดังนั้นเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ จึงควรที่จะได้เลือกหาซื้อสัตว์พันธุ์ดีมาเลี้ยง ไม่ใช่สัตว์อะไรก็ได้ และควรจะได้สงวนสัตว์ที่ดี มีรูปร่างใหญ่ ให้นมมาก ให้เนื้อมาก ให้ลูกดก ให้ลูกบ่อย มีความทนทานต่อโรค เก็บไว้เลี้ยงทำพันธุ์ โดยเฉพาะควรจะเปลี่ยนวิธีตอนสัตว์เสียใหม่ โดยให้ตอนตัวเล็กๆ ให้หมด และเก็บตัวใหญ่เอาไว้ทำพันธุ์
๒. อาหารสัตว์
เกษตรกรจำนวนมากยัง ไม่ให้ความสนใจต่อการให้อาหารโคและกระบือ เท่ากับผู้เลี้ยงสุกร ไก่ และเป็ด โดยคิดเอาว่า โคและกระบือหาอาหารกินเองได้ ไม่จำเป็นต้องจัดหาอาหารให้ แม้แต่สุกร ไก่ และเป็ดเอง แม้รู้ว่า ต้องจัดหาอาหารให้ ก็ยังไม่รู้ว่า ระยะใดสัตว์ต้องการอาหารชนิดใด มากน้อยเท่าใด จึงจะเหมาะสม
เกษตรกรที่ทำการเลี้ยงสัตว์ จึงจำเป็น ต้องศึกษาเรื่องการให้อาหารสัตว์ และจัดหาอาหารมาให้สัตว์กินให้ถูกต้องกับความต้องการ จึงจะทำให้สัตว์นั้นเจริญเติบโตได้ดี ให้นมมาก ให้ลูกทุกปี หรือให้ลูกดก และไม่เป็นโรคต่างๆ เนื่องจากการขาดอาหาร
อาหารหลักที่สำคัญๆ ที่เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ควรจะได้ให้ความสนใจ คือ
๒.๑ อาหารโปรตีน
อาหารโปรตีน มีความจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต การให้นม การให้เนื้อ และการผสมพันธุ์ ซึ่งมีอยู่มากในปลาป่น เนื้อป่น กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง กากมะพร้าว กากเมล็ดฝ้าย และในพืชตระกูลถั่ว เช่น ใบกระถิน และถั่วฮามาตา เป็นต้น
๒.๒ อาหารพลังงาน
อาหารแป้ง เมื่อกินเข้าไปแล้ว ก็ถูกเปลี่ยนรูปเป็นอาหารพลังงาน เพื่อให้ระบบต่างๆ ของร่างกายได้ทำงานตามปกติ เช่น การเคลื่อนไหว การเคี้ยว การย่อย และอื่นๆ
อาหารแป้งหรืออาหารพลังงาน มีมากในปลายข้าว ข้าวโพด ข้าวฟ่าง มันสำปะหลัง และรำข้าว เป็นต้น
๒.๓ อาหารแร่ธาตุ
อาหารแร่ธาตุ นับว่า มีความสำคัญต่อระบบโครงสร้าง หรือกระดูก โดยเฉพาะธาตุแคลเซียม และฟอสฟอรัส ซึ่งมีมากในกระดูกป่น หรือเปลือกหอยป่น
นอกจากนี้สัตว์ก็ยังต้องการแร่ธาตุอื่นๆ อีก สำหรับระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายและระบบการผสมพันธุ์ เช่น ธาตุเหล็ก ทองแดง โคบอลต์ สังกะสี แมงกานีส แมกนีเซียม ซีลีเนียม โซเดียม และโพแทสเซียม เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรจะต้องจัดหาให้สัตว์กินเพิ่มเติม ทั้งในรูปเกลือธรรมดาและเกลือประเภทพวก แร่ธาตุปลีกย่อย ซึ่งอาจเป็นผง สำหรับผสมอาหารสัตว์ หรือทำเป็นก้อนสำหรับให้สัตว์เลียกิน
๒.๔ วิตามิน
สัตว์โดยทั่วๆ ไปต้องการวิตามินสำหรับการเจริญเติบโต และการผสมพันธุ์ แม้ว่าสัตว์บางชนิด เช่น สัตว์เคี้ยวเอื้อง จะสามารถสังเคราะห์วิตามินบีเองได้
วิตามินที่สำคัญที่ควรให้แก่สัตว์เลี้ยง ก็คือ วิตามินเอ ดี บีต่างๆ เค อี และซี
เกษตรกรจำเป็นต้องจัดหาวิตามิน ให้สัตว์กินตามความเหมาะสมตามชนิดของสัตว์ และความต้องการในระยะต่างๆ ของการเจริญเติบโต หรือการผสมพันธุ์
๒.๕ น้ำ
สัตว์เลี้ยงนอกจากต้องการอาหารแล้ว ก็ยังต้องการน้ำด้วย สัตว์จะตายในเวลาอันรวดเร็ว หากว่าขาดน้ำ แต่จะยังมีชีวิตอยู่ได้นาน ถ้าขาดอาหาร
น้ำนับว่ามีความสำคัญต่อระบบ การทำงานต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบ หมุนเวียนของโลหิตและระบบขับถ่าย จึงควรที่เกษตรกรจะต้องดูแลให้สัตว์มีน้ำสะอาดกินตลอด เวลา ตามปริมาณความต้องการของสัตว์นั้นๆ
๓. การจัดการดูแล
สัตว์เลี้ยงก็เช่นเดียวกับคน ที่ต้องการให้เจ้าของดูแล จึงจะสามารถเจริญเติบโต และให้ผลิตผล หรือการสืบพันธุ์ที่ดีได้ สิ่งสำคัญที่จะต้องให้ความดูแลให้แก่สัตว์ก็คือ
๓.๑ เรือนโรง
การเลี้ยงสัตว์ต้องมีเรือนโรงให้สัตว์อยู่ตามความเหมาะสม มิใช่เลี้ยงตามใต้ถุนบ้าน หรือเลี้ยงปล่อย เพื่อสัตว์จะได้มีที่อยู่หลับนอนตามความเหมาะสม ไม่ถูกสัตว์อื่น หรือคนมารบกวน
คอกจะต้องสะอาดและมีการ ระบายอากาศที่ดี ไม่ชื้นแฉะหรือมีน้ำขังเป็น หลุมเป็นบ่อ มีการตักมูลสัตว์ออกทิ้งเป็นประจำ ไม่ให้มีการหมักหมม
๓.๒ การให้อาหารและน้ำ
การเลี้ยงสัตว์ที่ดี จำเป็นต้องมีการให้อาหารและน้ำตามเวลาที่กำหนด (ยกเว้นกรณีที่ให้ตลอดเวลา ซึ่งก็ต้องดูแลให้อาหารและน้ำตลอดเวลา) ไม่ควรเปลี่ยนเวลาให้อาหารและน้ำแก่สัตว์ หากไม่จำเป็น เพราะจะทำให้สัตว์เกิดความเครียด และเป็นผลกระทบกระเทือนต่อการให้น้ำนม ให้ไข่ ตลอดจนการผสมพันธุ์
๓.๓ การจัดการเกี่ยวกับการผสมพันธุ์
การจัดการผสมพันธุ์ตามระยะที่เหมาะสมของการผสมพันธุ์ จะทำให้สัตว์ตั้งท้อง และมีลูกมากขึ้น
ปริมาณหรืออัตราส่วนของตัวผู้ และตัวเมียก็มีความสำคัญต่อเปอร์เซ็นต์การผสมติดของสัตว์ในฝูง
การคัดเลือกสัตว์ที่เป็นหมัน ผสม ไม่ติดหรือติดยาก ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องทำใน การเลี้ยงสัตว์ แทนที่จะเลี้ยงสัตว์แล้วไม่ได้ผล ตอบแทน
สัตว์ที่ให้ผลิตผลน้อย เช่น นม น้อย ไข่น้อย หรือลูกครอกเล็กก็ควรจะได้ทำการ คัดทิ้งแทนที่จะทนเลี้ยงต่อไปซึ่งจะทำให้ผู้เลี้ยง ขาดทุน
๓.๔ การรีดนมและการจัดการอื่นๆ
การรีดนมเป็นเวลาตามที่กำหนดไว้เป็นประจำ จะช่วยทำให้ผู้เลี้ยงได้น้ำนมมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงเวลารีดนม หากไม่จำเป็น
การจัดการอื่นๆ เช่น การทำราง กันไม่ให้แม่สุกรทับลูกสุกรเมื่อลูกสุกรสยังเล็ก หรือการแยกสัตว์เล็กออกเลี้ยงต่างหาก ตามอายุ หรือความเหมาะสม แทนที่จะปล่อยเลี้ยงรวมฝูง ก็นับว่า มีส่วนสำคัญในการทำให้ผู้เลี้ยงมีกำไรหรือขาดทุน ได้เช่นกัน
๔. โรคสัตว์
โรคของสัตว์เลี้ยงยังนับว่า เป็นปัญหาที่สำคัญของการเลี้ยงสัตว์ในบ้านเรา ปัจจุบันนี้ เพราะมีโรคระบาดต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตสัตว์ และเศรษฐกิจหลายโรค ผู้เลี้ยงสัตว์จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ สาเหตุ อาการ การป้องกัน และการรักษาโรคสัตว์นั้น ด้วยตนเอง สำหรับใช้ดำเนินการในเบื้องต้น เพื่อจักได้แก้ไขปัญหาได้ทันเหตุการณ์
ปัจจุบันมีโรคหลายโรคที่สามารถทำการ ป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์เลี้ยงเป็น การล่วงหน้า เกษตรกรจำนวนมากยังเข้าใจผิด คิดว่าวัคซีนมีไว้สำหรับรักษาโรค และจะไม่ทำ วัคซีนให้สัตว์เลี้ยงจนมีโรคเกิดแล้วจึงติดต่อให้ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไปทำการฉีดวัคซีนให้ จึง ทำให้โรคระบาดต่างๆ ยังเป็นปัญหาอยู่ทั่วไป
แนวทางในการป้องกันโรคในหลักการ ใหญ่ๆ ที่ยึดถือปฏิบัติกันก็คือ
๔.๑ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ ล่วงหน้า
วิธีป้องกันที่ดีที่สุดในการป้องกันมิให้สัตว์เลี้ยงเป็นโรคระบาดตายก็คือ การทำวัคซีนป้องกันโรคสัตว์ล่วงหน้า ก่อนที่สัตว์จะป่วยเป็นโรค เพราะวัคซีนมีไว้สำหรับป้องกันโรค มิใช่รักษาโรค
อย่างไรก็ตามวัคซีนช่วยให้โอกาส ที่สัตว์ป่วยเป็นโรคน้อยลง แต่มิได้หมายความว่า เมื่อทำวัคซีนแล้วสัตว์จะไม่เป็นโรค โดยทั่วๆ ไป สัตว์ที่ทำวัคซีน ๑๐๐ ตัวจะไม่เป็นโรคประมาณ ๗๐-๘๐ ตัว อีก ๒๐-๓๐ ตัวอาจจะเป็นโรคได้ ถ้าสัตว์อ่อนแอหรือมีเชื้อโรคเข้าไปมากๆ จึงควร ที่เกษตรกรจะเข้าใจตามนี้ด้วย
๔.๒ การป้องกันโรคทางอื่น
การ ป้องกันโรคทางอื่นๆ ที่ควรจักได้ทำควบคู่กับการทำวัคซีนก็คือ
๔.๒.๑ การจัดหาที่ให้สัตว์อยู่ เป็นหลักแหล่ง ไม่ปนกับสัตว์เลี้ยงอื่นๆ ของ ชาวบ้าน
๔.๒.๒ การจัดทำรั้วกั้นโดยรอบ เพื่อมิให้สัตว์หรือคนเข้าไปในคอกสัตว์
๔.๒.๓ การไม่ให้บุคคลภายนอก เข้าไปในคอก เพื่อป้องกันการนำโรคจากภาย นอกเข้ามา
๔.๒.๔ การใช้ยาฆ่าเชื้อโรค ภายในคอกและทางผ่านก่อนเข้าคอก
๔.๒.๕ การให้อาบน้ำเปลี่ยน เครื่องแต่งตัวก่อนเข้าคอก หากจำเป็นต้องทำ
๔.๒.๖ การไม่นำอาหารจากที่ อื่นเข้าไปกินในคอก
๔.๓ การคัดเลือกผสมพันธุ์สัตว์ ให้มีความต้านทานโรค
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์พบว่า การคัดเลือกผสมพันธุ์สัตว์ ให้มีความต้านทานโรคบางโรค อาจจะทำได้ แม้จะไม่ได้ผลเต็มที่ แต่ก็ช่วยให้โอกาสสัตว์เป็นโรค หรือได้รับอันตรายจากโรคน้อยลง เช่น โคที่มีเลือดพันธุ์บราห์มัน ซึ่งตามปกติจะพบว่า มีความทนทานต่อโรคไข้เห็บ เมื่อเอาวัวพันธุ์นี้มาผสมกับโคนมพันธุ์แท้ หรือโคเนื้อพันธุ์แท้จากต่างประเทศ ลูกผสมที่เกิดมา จะมีความทนทานต่อโรคนี้ได้ดีขึ้น ตามอัตราส่วนของเลือดโคบราห์มันที่มีอยู่ในโคลูกผสมนั้น ถ้ามีมากก็มีความคุ้มโรคมาก เป็นต้น