การสังคมสงเคราะห์ในปัจจุบันทั้งภาครัฐบาลและเอกชน
งานสังคมสงเคราะห์ในสังคมไทย ได้เจริญก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับการพัฒนา เศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ เพราะการพัฒนา ทางด้านวัตถุยิ่งเจริญขึ้นมากเท่าไร ปัญหาทาง สังคมก็ยิ่งมีมากตามขึ้นมาเท่านั้น อาทิ ปัญหา เด็กถูกทอดทิ้ง ปัญหายุวอาชญากร และอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด ปัญหาความยากจน ปัญหาคนว่างงาน ปัญหาโสเภณี ปัญหาผู้สูงอายุ เป็นต้น งานสังคมสงเคราะห์เป็นงานบริการ เป็นกิจกรรมที่จัดให้กับบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย เป็นงานที่ให้บริการแก่บุคคล ทั้งที่มีและไม่มีปัญหา ให้เขาสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคม ด้วยความเป็นปกติสุข และมีความสามารถในการพัฒนาสังคมส่วนรวมด้วย
รัฐบาลไทยได้มองเห็นความสำคัญเรื่องนี้ จึงได้กำหนดเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐเกี่ยวกับสังคมไว้ในหมวด ๕ มาตรา ๑๗ ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๒๑ ว่า "รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการสังคมสงเคราะห์ของรัฐ และเอกชน เพื่อความมีสวัสดิภาพ และความผาสุกของประชาชน"
และให้คำแนะนำในการดำเนินชีวิต
หน่วยงานที่ให้บริการทางสังคมสงเคราะห์ อาจแบ่งเป็น ๒ ระดับคือ ระดับรัฐบาล และระดับเอกชน
ระดับรัฐบาล
อาจกล่าวได้ว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความผาสุกของประชาชนไทย ประกอบด้วย ๔ กระทรวงหลัก คือ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ในการดำเนินงาน ส่งเสริม และสนับสนุน การสังคมสงเคราะห์ เพื่อสวัสดิภาพ และความผาสุกของประชาชนก็คือ กรมประชาสงเคราะห์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งกรมประชาสงเคราะห์มีวัตถุประสงค์หลักคือ
๑. เพื่อให้การสงเคราะห์แก่ประชาชนที่เดือดร้อน ช่วยตนเองไม่ได้ทุกประเภทในราชอาณาจักรไทย
๒. เพื่อดำเนินการป้องกันมิให้ประชาชน ต้องกลายเป็นผู้เดือดร้อนช่วยตนเองไม่ได้
๓. เพื่อดำเนินงานให้เกิดความมั่นคงทางครอบครัว และสังคม
๔. เพื่อช่วยผู้มีปัญหาทางเศรษฐกิจ และ สังคม ให้มีโอกาสปรับสภาพ หรือพัฒนาตนเอง ให้อยู่ดีกินดี
๕. เพื่อควบคุม อุดหนุน และส่งเสริม องค์การสังคมสงเคราะห์เอกชน ตลอดจนเร่งเร้าให้ประชาชนได้สงเคราะห์ซึ่งกันและกัน อย่างเต็มความสามารถ
๖. เพื่อศึกษา วิจัย และเผยแพร่เกี่ยวกับ สภาพและปัญหาสังคม
งานที่กรมประชาสงเคราะห์ปฏิบัติเรียกว่า "การประชาสงเคราะห์" ขณะนี้มีประชาสงเคราะห์จังหวัดประจำอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศไทย และมีประชาสงเคราะห์ประจำอำเภอถึง ๒๓ อำเภอ
เด็กกำพร้า ซึ่งได้รับการดูแลเลี้ยงดู
ของสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี
อนึ่ง เมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๒๗ คณะ รัฐมนตรีได้อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการส่งเสริม และพัฒนางานสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานกรรมการ และมีกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ จากหน่วยงานทางสังคมสงเคราะห์ ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชน คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดนโยบายในการดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ และเป็นแกนกลางในการประสานงาน ระหว่างภาครัฐบาลและภาคเอกชนในเรื่องการสังคมสงเคราะห์ การแก้ไขปัญหาสังคมและการพัฒนาสังคม เพื่อช่วยให้งานสังคมสงเคราะห์พัฒนาไปด้วยดี นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังได้มีมติเห็นชอบกำหนดให้วันที่ ๒๑ ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็น "วันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ" โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นมา
ระดับเอกชน
ขณะนี้ประเทศไทยมีสมาคม และมูลนิธิต่างๆ ที่ทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ ประมาณ ๑๐,๐๐๐ แห่ง หน่วยงานเหล่านี้ล้วน แต่มีวัตถุประสงค์ในการให้การสงเคราะห์ และพัฒนาประชาชน หน่วยงานเอกชนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งมีนโยบายในการดำเนินงานสังคมสงเคราะห์ ๗ ด้าน ได้แก่ การร่วมมือและประสานงาน การส่งเสริมสนับสนุน การศึกษาวิจัยและวางแผน การสงเคราะห์ผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือดร้อน การแก้ไขปัญหาสังคม การพัฒนาสังคม การบริหารงาน และการประชาสัมพันธ์
กล่าวโดยสรุป การสังคมสงเคราะห์เป็นวิธีการและกระบวนการทำงานกับผู้รับบริการที่ประสบปัญหา และไม่ประสบปัญหาความเดือดร้อน เพื่อให้เขามีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถช่วยเหลือ ตนเอง และสามารถพัฒนาสังคมได้ในที่สุด ทั้งนี้ โดยการให้บริการของ "นักสังคมสงเคราะห์"
ถ้าท่านพบผู้ประสบปัญหาทางด้านสังคม ซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานคร โปรดแนะนำให้เขาไปใช้บริการจากหน่วยงานของรัฐบาล ซึ่งทำหน้าที่ ด้านนี้โดยตรง คือ กรมประชาสงเคราะห์ ตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเกษม สะพานขาว หรือที่ประชาสงเคราะห์จังหวัด ซึ่งสถานที่ทำงานอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด ถ้าประสบปัญหาด้านสุขภาพอนามัย โปรดแนะนำให้ไปรับบริการ ที่แผนกสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนั้นท่านยังสามารถแนะนำให้เขาไปรับบริการจากหน่วยงานเอกชน ที่มีวัตถุประสงค์ เพื่อการ สังคมสงเคราะห์ก็ได้