Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การศึกษา

Posted By Plookpedia | 21 ธ.ค. 59
9,776 Views

  Favorite

การศึกษา

      คนเราต้องรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับตัวเราเอง รู้เรื่องพ่อ แม่ พี่ น้องในบ้านของเรา รู้เรื่องเพื่อนบ้านของเรา รู้เรื่องโรงเรียนของเรา และต้องรู้จักหลายอย่างที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ต้นไม้ ดอกไม้ หญ้า สัตว์เลี้ยง สัตว์ที่เห็นอยู่ในบริเวณบ้าน และบริเวณใกล้เคียงบ้าน พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาว เมฆ ฝน ถนนหนทาง รถชนิดต่างๆ ที่เราเห็นบนถนน และที่เราใช้อยู่ทุกวัน เหล่านี้เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีวิชาความรู้ต่างๆ ที่จำเป็นต้องเรียน เช่น การอ่านออกเขียนได้ ทำเลขได้ รู้ว่า ทำไมฝนจึงตก วิชาเหล่านี้ ทำให้เข้าใจเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น เฉลียวฉลาด คิดได้คล่อง ทำงานเป็น จิตใจกระปรี้กระเปร่า คบหาสมาคมกับเพื่อนฝูงได้ดี 
 


      เราจะเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้โดยการสังเกต รู้จักพิจารณาดู สิ่งต่างๆอย่างถี่ถ้วน ไต่ถามผู้ใหญ่ ซึ่งมีความรู้มากกว่าเรา จำสิ่งต่างๆ ที่ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง และได้จับต้อง ด้วยตนเอง อย่างไรก็ดี สิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้นั้นมีมากมายนัก ยิ่งเติบโตขึ้น ก็ยิ่งต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆ ให้มากขึ้นตามวัย ยากนักที่เราจะเรียนรู้เองทุกอย่าง รัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ดูแลให้เด็กๆ และผู้ใหญ่ ที่เป็นพลเมืองของประเทศ ให้ได้รับการศึกษาเล่าเรียน จึงได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้น สำหรับเด็กที่มีอายุตั้งแต่ ๖ ปี ถึง ๑๖ ปี รัฐบาลจะจัดโรงเรียนให้เข้าเรียน จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เด็กไทยทุกคนต้องเข้าโรงเรียน และเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เป็นอย่างน้อย นอกจากโรงเรียนในระดับประถมศึกษาแล้ว ยังมีโรงเรียน และสถานศึกษาในระดับสูงขึ้นไปอีก คือ โรงเรียนมัธยมศึกษา วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย การ ศึกษาในระดับสูงไม่เป็นการบังคับ ผู้ประสงค์จะศึกษาต่อ ย่อมศึกษาได้ ตามความสามารถของตน

 

 

      การศึกษาในระบบโรงเรียนต้องเสียค่าใช้จ่าย และต้องใช้เวลามาก ผู้ที่ประสงค์จะเล่าเรียนต่อบางคน แม้จะมีสติปัญญาดี ก็ขาดแคลนทุนทรัพย์ และต้องใช้เวลา เพื่อประกอบอาชีพ ไม่อาจเข้าศึกษาได้ แต่เด็กและเยาวชนเหล่านี้ ก็ไม่ไร้โอกาส โดยสิ้นเชิงทีเดียว รัฐบาลจะจัดทุนศึกษาเล่าเรียนให้บางส่วน นอกจากรัฐบาลแล้ว เอกชน และองค์กรที่มิใช่หน่วยงานของรัฐบาล จะอุทิศเงินให้เป็นทุนการศึกษา นอกจากจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนแล้ว รัฐบาล และหน่วยงานภาคเอกชน ยังได้จัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน สอนในเวลาไม่นานนัก ใช้วิธีต่างๆ ให้ผู้ต้องการเรียน ได้เล่าเรียนในเวลาที่ว่าง จากการประกอบอาชีพ เช่น สอนในตอนเย็น ตอนค่ำ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ จัดการสอนทางวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ ส่งบทเรียนไปทางไปรษณีย์ สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลมากๆ จากสถานศึกษา ผู้ซึ่งประสงค์จะเล่าเรียนต่อ ก็จะเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ตลอดไป

 

 

      แหล่งให้ความรู้แก่ทุกคนอีกแหล่งหนึ่ง คือ ห้องสมุด ในโรงเรียนจะมีห้องสมุดของโรงเรียน ในชุมชน มีที่อ่านหนังสือประจำหมู่บ้าน ในอำเภอ และจังหวัดมีห้องสมุดประชาชน ผู้ประสงค์จะแสวงหาความรู้จะไปยืมหนังสือมาอ่านได้ ในห้องสมุดจะมีบรรณารักษ์ ซึ่งจะช่วยแนะนำการอ่านหนังสือด้วย นอกจากนี้ ในห้องสมุดจะมีหนังสือสารานุกรม ซึ่งเป็นหนังสือรวมความรู้ต่างๆ สารานุกรมสำหรับเด็กและเยาวชนจะมีภาพประกอบสวยงาม น่าอ่าน  ในการศึกษาเล่าเรียนของเด็กและเยาวชนทุกระดับการศึกษา จะต้องมีค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเล่าเรียน ค่าซื้อหนังสือเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน ค่าอาหารกลางวันที่โรงเรียน ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าจัดกิจกรรมในโรงเรียน เป็นต้น ในระดับประถมศึกษา ซึ่งมีกฎหมายให้ผู้ปกครองส่งเด็กในอายุระหว่าง ๖-๑๖ ปี เข้าเรียนจนจบชั้นประถมศึกษา โรงเรียนของรัฐบาลไม่เก็บค่าเล่าเรียน แต่ผู้ปกครองต้องจ่ายเงินค่าซื้อหนังสือเรียนบางเล่ม ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าใช้สอยอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้จ่ายให้ เงินที่ผู้ปกครองจ่ายสำหรับการศึกษาของเด็กในปกครองนี้เราไม่เรียกว่า ทุนการศึกษา

      ทุนการศึกษาเป็นคำศัพท์เฉพาะ หมายถึง เงินค่าใช้จ่าย เพื่อการศึกษาของเด็กและเยาวชน ที่ผู้อื่นออกให้ ผู้อื่นในที่นี้หมายถึง บุคคลที่มิใช่ผู้ปกครองโดยตรง หากเป็นสมาคม องค์การ และรัฐบาล ซึ่งให้ทุนการศึกษา เพราะมีความปรารถนาดีต่อเด็กและเยาวชน ที่มีสติปัญญาดี แต่ด้อยโอกาส ประสงค์จะสนับสนุนให้ศึกษาได้อย่างเต็มที่ ตามความสามารถ เมื่อเรียนจบแล้ว จะได้ทำงานให้เป็นประโยชน์แก่สังคม ทุนการศึกษาจึงมีความสำคัญมาก ต่อบุคคล และสังคม

 

นักเรียน นักศึกษา สามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ ได้จากห้องสมุด


      ทุนการศึกษามีมาช้านานแล้ว และมีหลายประเภท เช่น ทุนรางวัลผลการเรียนดี ให้แก่ผู้ซึ่งผ่านการสอบคัดเลือก แข่งขันความสามารถทางวิชาการ ทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลน ให้แก่เด็กและเยาวชนที่ยากจน หรืออยู่ในแดนทุรกันดาร ทุนส่งเสริมการศึกษาเฉพาะทาง เป็นทุนพิเศษ เพื่อส่งเสริมให้เรียนวิชาเฉพาะวิชาใดวิชาหนึ่ง ให้รู้ลึกซึ้ง สามารถนำวิชาไปถ่ายทอดแก่ผู้อื่น หรือปฏิบัติงานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษในเรื่องนั้นๆ เป็นต้น

      ทุนการศึกษามีให้ทั้งเพื่อการศึกษาในประเทศ และเพื่อการศึกษาในต่างประเทศ นอกจากรัฐบาล องค์การ และบุคคลในประเทศไทย เป็นผู้ให้ทุนแก่เด็กและเยาวชนแล้ว ยังมีองค์การระหว่างประเทศ และรัฐบาลของประเทศอื่น จัดทุนการศึกษาให้ โดยทำความตกลงกับรัฐบาลไทยในรายละเอียด เช่น ประเภทของทุน วิชาที่จะให้ศึกษา คุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับทุน และวิธีการคัดเลือกผู้รับทุน เป็นต้น

เด็กและเยาวชนที่ยากจน หรืออยู่ในแดนทุรกันดาร หากต้องการศึกษาต่ออาจขอรับทุนช่วยเหลือผู้ขาดแคลนได้จากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่จัดสรรทุนไว้ให้


      การศึกษาเป็นการสร้างและเพิ่มพูนความรู้ และความคิดของบุคคล ทำให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข และมีความเจริญก้าวหน้า สามารถมีส่วนช่วยทำนุบำรุงสังคมของตนได้ จึงจำเป็นที่ทุกคนจะต้องศึกษาเล่าเรียนให้ต่อเนื่องกันไปตลอดชีวิต การศึกษาในระดับประถมศึกษาเป็นบริการทางวิชาการของรัฐ จัดให้เด็กทุกคนในวัยเล่าเรียนได้มีความรู้พื้นฐาน เช่น การอ่านออกเขียนได้ รู้จักทำการงานพื้นฐานอาชีพ เป็นการศึกษาภาคบังคับ คือ ทุกคนต้องเรียน

อย่างไรก็ดีการศึกษาไม่ได้สิ้นสุด เมื่อนักเรียนเรียนจบชั้นประถมศึกษาแล้ว วิชาความรู้มีมากมาย และเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ จำเป็นที่ทุกคนจะขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติม นอกจากชั้นประถมศึกษาแล้ว ยังมีการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา การศึกษาในระดับสูงกว่าประถมศึกษานั้น นอกจากรัฐบาล หรือเอกชนจะจัดขึ้นในระบบโรงเรียน คือ ผู้เรียนต้องเข้าเรียนตามหลักสูตร ตามกำหนดเวลา และต้องสอบผ่านการวัดผลว่า เรียนจบหลักสูตรแล้ว ยังมีการจัดการศึกษานอกระบบโรงเรียน เปิดโอกาสในการศึกษาต่อเนื่อง ให้แก่ผู้ประสงค์จะเล่าเรียน แต่ต้องประกอบอาชีพ ไม่อาจเข้าเรียนได้ ตามเวลาที่กำหนดอีกด้วย

 

 

      การศึกษาต่อเนื่องจำเป็นมากสำหรับทุกคน เพราะเป็นการช่วยให้ทุกคนได้พัฒนาตนเองในด้านความรู้ ความคิด สติปัญญา จิตใจ และความสามารถในการประกอบการงานตลอดไป พลเมืองที่มีความรู้ความสามารถ และเป็นพลเมืองดี จะช่วยทำให้บ้านเมืองสงบสุข และเจริญก้าวหน้า รัฐบาลจึงกำหนดให้การจัดการศึกษาต่อเนื่องเป็นภารกิจ และบริการทางวิชาการอีกแบบหนึ่งของรัฐ ประชากรที่อยู่นอกโรงเรียนมีจำนวนมาก ทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับการศึกษา ล้วนแต่ต้องมีการศึกษาต่อเนื่อง ประเทศไทยมีหน่วยราชการหลายหน่วย ทำหน้าที่ให้การศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งบางครั้งเรียกว่า การศึกษาผู้ใหญ่ หรือการศึกษานอกระบบ หน่วยราชการเหล่านี้มีกรมการศึกษานอกโรงเรียน กรมประชาสงเคราะห์ กรมแรงงาน กรมการศาสนา และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น สมาคม มูลนิธิ และสถาบันของเอกชน ก็มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาต่อเนื่อง ให้แก่ผู้ต้องการเรียนรู้
      รูปแบบของการจัดการศึกษาต่อเนื่องมีหลายอย่าง ทั้งนี้โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้เรียนด้วย รูปแบบที่จัดกันทั่วๆ ไป มีการจัดชั้นเรียน สำหรับหลักสูตรการเรียนในระยะสั้น จัดในวันและเวลาหลังการทำงาน จัดสอนทางไปรษณีย์ จัดฝึกอบรมทักษะทางอาชีพโดยเฉพาะ จัดการบรรยาย หรืออภิปราย หรือสาธิตวิธีการเป็นครั้งคราว จัดทัศนศึกษาสถานประกอบการ หรือสถานที่ ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรม จัดพิมพ์หนังสือ วารสาร อนุสารเผยแพร่ จัดสอน หรืออภิปรายทางวิทยุกระจายเสียง และโทรทัศน์ เป็นต้น    

 

โทรทัศน์เป็นเครื่องมือสำคัญอย่างหนึ่ง ของระบบการเรียนการสอนในปัจจุบัน


      ห้องสมุดเป็นแหล่งรวมหนังสือ วารสาร และสื่อความรู้ทุกประเภท จึงเป็นแหล่งบริการวิชาการที่สำคัญต่อการศึกษา ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน ห้องสมุดจะมีหนังสือ และมีบรรณารักษ์คอยอำนวยความสะดวกช่วยเหลือ ในการค้นหาหนังสือที่ต้องการ ห้องสมุดจะมีกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการอ่าน และให้ความรู้ เช่น นิทรรศการ การบรรยาย และอภิปราย ฉายภาพยนตร์ เป็นต้น ประเทศไทยมีห้องสมุดทุกประเภท คือ หอสมุดแห่งชาติ ห้องสมุดสถานอุดมศึกษา ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน และห้องสมุดเฉพาะ คือ ห้องสมุดของหน่วยราชการ และสมาคมต่างๆ มีหนังสือเฉพาะวิชาที่หน่วยงานนั้นๆ เกี่ยวข้อง การรู้จักอ่านหนังสือ และรู้จักใช้ห้องสมุด จำเป็นในการศึกษาเล่าเรียนทั้งในระหว่างการศึกษาเล่าเรียนในสถานศึกษา และเมื่อจบการศึกษาแล้ว

 

ห้องสมุด แหล่งรวมหนังสือและสื่อความรู้ทุกประเภท


       ในห้องสมุดเกือบทุกแห่งจะมีหนังสือสารานุกรม ซึ่งเป็นหนังสือรวมความรู้ต่างๆ เป็นเสมือนห้องสมุดย่อส่วน บุคคลที่มีกำลังทรัพย์เพียงพอ อาจซื้อไว้อ่านในบ้านของตนได้ สารานุกรมมีหลายประเภท มีสารานุกรมทั่วไป ซึ่งรวมเรื่องทุกเรื่องไว้ในเล่ม หรือในชุดเดียวกัน เช่น สารานุกรมไทยฉบับราชบัณฑิตยสถาน สารานุกรมเฉพาะวิชา เช่น สารานุกรมวิทยาศาสตร์ อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ สารานุกรมที่จัดทำขึ้น สำหรับเด็กและเยาวชน และบุคคลทั่วไปที่แสวงความรู้ เช่น สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นต้น

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป

Content

3
แหล่งทุนการศึกษาในปัจจุบัน
แหล่งทุนการศึกษาในปัจจุบัน แหล่งทุนที่สำคัญแหล่งแรกคือ รัฐบาล ของประเทศที่ต้องการบุคคลผู้มีความรู้ไว้รับราชการ ทั้งจากการไปศึกษาในต่างประเทศ และการศึกษาภายในประเทศ แต่เนื่องจากทุนเหล่านี้ ต้องการคัดเลือก ด้วยความสามารถทางวิชาการ หรือคุณสมบัติทางสังคม และ
3K Views
5
ความหมายของการศึกษาต่อเนื่อง
ความหมายของการศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาต่อเนื่องมีความหมายได้หลายประการ ประการแรก คือ การให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่ได้ศึกษามาแล้ว ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย เมื่อบุคคลจบจากการศึกษา ไปประกอบอาชีพแล้วระยะหนึ่ง มีความจำเป็นต้องหาความรู้เฉพาะ หรือที่เกี่ย
4K Views
8
การศึกษาต่อเนื่อง
ความจำเป็นและความสำคัญของการศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาต่อเนื่องจะได้ผลดี ก็ต้องจัด โดยมีประสิทธิภาพ คือ มีเป้าหมายแน่นอน มีวิธีการถูกต้อง มีอุปกรณ์ในการดำเนินงานครบถ้วน มีบุคลากรที่มีความสามารถ มีหลักสูตรที่เจาะตรงเป้าหมาย และยืดหยุ่นได้ตามสภาพการณ์ ในช่วงเ
2K Views
11
ห้องสมุดในประเทศไทยในปัจจุบัน
ห้องสมุดในประเทศไทยในปัจจุบัน ห้องสมุดประชาชนในประเทศไทยที่ดำเนินการโดยรัฐบาลนั้น ตั้งขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๔๕๙ ห้องสมุดประชาชนในระยะแรก ดำเนินการอยู่ได้ประมาณ ๑๐ ปี ก็หยุดลง เพราะไม่มีงบประมาณ ครั้นต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๘๓ รัฐบาลตั้งกองการศึกษาผู้ใหญ่ขึ้น กำหนด
4K Views
15
สารานุกรมเล่มอื่นๆ ในประเทศไทย
สารานุกรมเล่มอื่นๆ ในประเทศไทย ความคิดที่จะจัดทำหนังสือรวมวิชาต่างๆ เพื่อการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนไทย ได้มีมาประมาณ ๑๒๐ ปีแล้ว คือ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๐ เจ้าพระยาทิพากรวงษ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) ได้จัดพิมพ์หนังสือรวมความรู้สำหรับเด็กขึ้นเล่มหนึ่ง ให้ชื่อว่
4K Views
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow