Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐาน

Posted By Plookpedia | 20 ธ.ค. 59
2,352 Views

  Favorite

องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐาน

งานสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทยมีความสอดคล้องกับปัญหาและความต้องการที่แท้ จริงของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท ซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๘๐ ของประเทศ และยังมีความเชื่อมโยงกับงานบริการสาธารณสุข ซึ่งรัฐได้จัดให้แก่ประชาชนอยู่แล้ว 

ประกอบด้วย การบริการแบบผสมผสาน ๔ ด้าน คือ การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การ รักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ ซึ่งงานทั้ง ๔ ด้านนี้ สามารถแยกออกเป็นงานที่ประชาชน จะมีส่วนร่วมในการดำเนินงานได้ดังต่อไปนี้ คือ

๑. การให้การศึกษาวิธีป้องกัน และการควบคุมปัญหาสุขภาพอนามัยที่มีอยู่

โดยการให้สุขศึกษาในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องที่หมู่บ้านได้เลือกจะดำเนินงานตามแผนสาธารณสุขหมู่บ้าน หรือเรื่องที่เป็นปัญหา ของท้องถิ่น และดำเนินงานตามกิจกรรมที่กำหนด เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรค และการส่งเสริมสุขภาพอนามัย ให้แก่ประชาชนในหมู่บ้าน หรือในชุมชน

เอกสารเผยแพร่ความรู้ทางการแพทย์


๒. การสนับสนุนการจัดหาอาหาร และโภชนาการ

มุ่งเน้นที่กลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี และหญิงมีครรภ์ โดย ผสส. และ อสม. ทำหน้าที่กระตุ้นเตือน ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโภชนาการที่เกิดขึ้น เช่น โรคขาดสารอาหารในเด็กอายุ ต่ำกว่า ๕ ปี หรือเด็กแรกเกิดมีน้ำหนักตัวน้อย เป็นต้น โดยร่วมมือกับชุมชนในการเฝ้าระวัง ทางโภชนาการของเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี ให้ความรู้โภชนศึกษาแก่มารดา และประชาชน ตลอดจน ส่งเสริมการผลิตอาหารที่มีคุณค่าในหมู่บ้าน 

๓. การจัดหาน้ำสะอาดให้พอเพียง และการสุขาภิบาลขั้นพื้นฐาน

สนับสนุนให้ประชาชนมีบทบาทในการพัฒนาการสุขาภิบาลได้ด้วยตนเอง โดย ผสส. และ อสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบ ถึงความสำคัญ ของการจัดหาน้ำสะอาดไว้ดื่ม การสร้างส้วม การกำจัดขยะมูลฝอย การจัดบ้านเรือนให้สะอาด และรวบรวมข้อมูลในหมู่บ้าน พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายที่จะดำเนินการ เพื่อพัฒนาการสุขาภิบาลในหมู่บ้าน

    การจัดหาน้ำสะอาดไว้ใช้และดื่มในหมู่บ้าน เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม ในการพัฒนาการสุขาภิบาลด้วยตนเอง

๔. การดูแลอนามัยแม่และเด็ก และการวางแผนครอบครัว 

ผสส. และ อสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญ ความจำเป็นของการดูแลก่อนคลอด (การฝากครรภ์) การคลอด และการดูแลหลังคลอด พร้อมทั้งนัดหมายเจ้าหน้าที่ ในการออกไปตรวจครรภ์ก่อนคลอด นัดหมายมารดามารับบริการ และความรู้ในการปฏิบัติตัวที่ถูกสุขลักษณะ ตลอดจน เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงดูเด็ก

พยาบาลประจำสถานีอนามัยกำลังสั่งยาให้ผู้ป่วยภายหลังการตรวจอาการ


ผสส. และ อสม. ชี้แจงและจูงใจให้ประชาชนทราบถึงความสำคัญของการวางแผน ครอบครัว รวบรวมข้อมูลในหมู่บ้านว่าบ้านใด ได้ใช้บริการวางแผนครอบครัวบ้างและด้วยวิธีใด เพื่อ อสม.จะได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ ในการจัดเตรียมยาเม็ด อุปกรณ์ และจ่ายยาเม็ด ในรายเก่าที่เคยรับบริการยาเม็ดคุมกำเนิดจากสถานบริการของรัฐอยู่แล้ว

 

ผู้สื่อข่าวสารสาธารณสุข (ผสส.) กำลังรับการฝึกอบรม

 

๕. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค เพื่อต่อต้านโรคติดต่อที่สำคัญ 

เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อ ที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน แก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กอายุต่ำกว่า ๕ ปี อย่างทั่วถึงนั้น ผสส. และ อสม. ซึ่งเป็นแกนกลาง จะชี้แจงให้ประชาชน ทราบถึงความสำคัญของการได้รับวัคซีน และนัดหมายเจ้าหน้าที่ ออกไปให้บริการแก่ประชาชน ตามจุดนัดพบต่างๆ ซึ่งอาจจะเป็นที่บ้าน หรือที่ประชุมหมู่บ้านก็ได้
๖. การป้องกัน และควบคุมโรคระบาดในท้องถิ่น 

ผสส. และ อสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า ในหมู่บ้านมีโรคอะไรบ้างที่เป็นปัญหา เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคพยาธิ โรคไข้เลือดออก ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการป้องกัน และรักษา รวมทั้งการร่วมมือกันในการดำเนินการควบคุม และป้องกัน มิให้เกิดโรคระบาดขึ้นได้
 

เด็กควรได้รับการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค


๗. การรักษาพยาบาลที่เหมาะสมสำหรับโรค และการบาดเจ็บที่พบบ่อย

อสม.ให้การรักษาพยาบาลที่จำเป็นเบื้องต้นแก่ชาวบ้าน และชี้แจงให้ประชาชนทราบถึงความสามารถของ อสม. ในการรักษาพยาบาล ชี้แจงให้ทราบถึงสถานบริการของรัฐ ผสส.และ อสม. ร่วมกับประชาชนในหมู่บ้าน ช่วยกันจัดหาเวชภัณฑ์ สำหรับหมู่บ้าน และส่งต่อผู้ป่วย ถ้าเกินความสามารถของ อสม.

๘. การจัดหายาที่จำเป็นไว้ใช้ในหมู่บ้าน

โดยดำเนินการจัดตั้งกองทุนยาและเวชภัณฑ์ประจำหมู่บ้าน และดำเนินการให้ประชาชน สามารถซื้อยาได้จาก อสม. หรือจากกองทุนยาและเวชภัณฑ์ประจำหมู่บ้าน ได้สะดวกรวดเร็ว และในราคาถูก 

กองทุนยาและเวชภัณฑ์ประจำหมู่บ้าน


อนึ่ง ต่อมากระทรวงสาธารณสุขได้เล็งเห็น ความสำคัญของกิจกรรมอีก ๒ กิจกรรม ซึ่ง กิจกรรมหนึ่งเป็นส่วนของการส่งเสริมสุขภาพ คือ การทันตกรรมสาธารณสุข และอีกกิจกรรมหนึ่ง ที่จัดได้ว่าเป็นทั้งส่วนของการฟื้นฟูสภาพและเป็นส่วนสำคัญอีกด้านหนึ่ง นอกเหนือจากสุขภาพทาง กาย นั่นคือ การสุขภาพจิต ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขยายขอบเขตบริการให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้นอีก ๒ กิจกรรม คือ

ทันตแพทย์กำลังรักษาสุขภาพปากและฟันของชาวบ้าน

 ๙. การทันตกรรมสาธารณสุข 

ผสส. และ อสม. ชี้แจง และให้ความรู้แก่ประชาชน เรื่องการดูแลฟัน โดยเฉพาะในเด็กจะต้องมีการรักษาสุขภาพ ของช่องปากและฟัน ผสส. และ อสม. นัดหมายให้ประชาชนรับบริการ เมื่อมีหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่เข้ามาในชุมชน
๑๐. การสุขภาพจิต

ผสส.และอสม. ชี้แจงให้ประชาชนทราบ ถึงการส่งเสริมสุขภาพจิต การค้นหาผู้ป่วยในระดับชุมชน เพื่อจะได้รับการแนะนำที่ถูกต้อง งานนี้จะได้ผล ต่อเมื่อผสมผสานกับงานบริการอื่น รวมทั้งการร่วมมือของชุมชน

องค์ประกอบของงานสาธารณสุขมูลฐานทั้ง ๑๐ ประการข้างต้นนี้ ไม่จำเป็นต้องเริ่มทีเดียว พร้อมกันหมดทุกอย่าง อาจจะเริ่มในเรื่องที่ประชาชนคิดว่า เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นจริงๆ ของชุมชนของตนเองก่อน แล้วภายหลังจึงอาจขยายต่อไปอีกได้ หากชุมชนใดไม่มีปัญหาที่จำเป็นบางอย่าง องค์ประกอบนี้ก็อาจลดลงได้ตาม สภาพความเป็นจริงของชุมชนนั้นๆ 

แต่อย่างไรก็ดี องค์ประกอบต่างๆ ดังได้กล่าวมาแล้วนั้น ครอบคลุมปัญหาของชุมชนในชนบท ซึ่งปัญหาดังกล่าวคงจะมีอยู่อีกนาน จนกว่าประชาชนทั้งหมดจะรับรู้ เข้าใจ และให้ความร่วมมือ ปฏิบัติตามหลักการของบริการสาธารณสุขมูลฐานเท่านั้น 

หลักการทำงานสาธารณสุขมูลฐาน 

หลักสำคัญๆ ในการทำงานสาธารณสุข มูลฐานที่เจ้าหน้าที่ควรยึดถือปฏิบัติ คือ 
ไปหาชาวบ้าน
อยู่กับชาวบ้าน 
เรียนรู้จากชาวบ้าน 
ทำงานร่วมกับชาวบ้าน 
วางแผนร่วมกับชาวบ้าน 
เริ่มงานจากสิ่งที่ชาวบ้านรู้ 
สร้างสรรค์จากสิ่งที่ชาวบ้านรู้ 
สอนโดยแสดงให้เห็นจริง 
เรียนโดยการทำงาน 
ไม่ทำงานอย่างฉาบฉวยเอาหน้า 
ทำงานอย่างมีระบบ 
ไม่ทำงานอย่างกระจัดกระจายให้สูญเปล่าทรัพยากร

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow