คนไทยส่วนใหญ่ของประเทศ ประมาณร้อยละ ๘๐ หรือพูดอย่างง่ายๆ ว่า คนไทย ๘๐ คนใน ๑๐๐ คน มีอาชีพทางการเกษตร ทำนา ทำไร่ ทำสวนหรือเลี้ยงสัตว์ คนไทยส่วนใหญ่เหล่านี้ตั้งบ้านเรือนกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ บางแห่งอยู่ไกลจากตัวเมืองมาก บางแห่งอยู่บนภูเขา หรือในหุบเขา ซึ่งยากที่จะไปถึง
เมื่อผู้ที่อยู่ห่างไกลเช่นนี้เจ็บป่วย มีความจำเป็นต้องเดินทาง มารักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งตั้งอยู่ในอำเภอ หรือในจังหวัด ต้องเสียเวลาในการเดินทาง และเสียเงินเสียทองมาก บางคนเจ็บหนักไปไม่ถึงโรงพยาบาล ต้องเสียชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงห่วงใยประชาชนคนไทยในเรื่องนี้ จึงได้ทรงให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนยารักษาโรค เดินทางไปยังท้องถิ่นห่างไกลเหล่านั้น เพื่อตรวจและรักษาผู้เจ็บป่วย หน่วยแพทย์เคลื่อนที่เช่นนี้ มีชื่อเรียกว่า "หน่วยแพทย์พระราชทาน"
นอกจากหน่วยแพทย์พระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังได้ทรงช่วยเหลือทหาร ตำรวจ และผู้ทำหน้าที่ป้องกัน ประเทศ ซึ่งต้องบาดเจ็บและพิการเนื่องจากการสู้รบ โดยจัดหา แขนเทียม ขาเทียม ใส่ให้แทน กับทั้งยังฝึกอาชีพ ที่เหมาะสมให้อีกด้วย นับได้ว่าพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนคนไทย
คนในชนบทห่างไกล ยังมีสุขภาพอนามัยไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เจ็บป่วย และเกิดโรคระบาดขึ้นบ่อยครั้ง สาเหตุของเรื่องนี้ เนื่องมาจาก การขาดความรู้ ความยากจน กินอาหารไม่ถูกส่วน ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ขาดแคลนแพทย์และยารักษาโรค
การช่วยให้คนไทยในชนบทห่างไกลมีสุขภาพดีขึ้น ทำได้โดยหาวิธีให้เขาเหล่านั้น รู้จักปฏิบัติตนเอง ๑๐ ประการ ซึ่งได้แก่
๑. ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เกี่ยวกับการรักษาสุขภาพอนามัยที่ดี
๒. รู้จักกินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ อาหารที่ถูกสุขลักษณะ คือ อาหารครบทุกอย่างที่เป็นประโยชน์ มีปริมาณครบส่วนตามที่ร่างกายต้องการ เป็นอาหารที่สะอาด ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง เติบโต และไม่เป็นโรค
๓. ดื่มน้ำที่สะอาด ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคบิด อหิวาตกโรค ไข้รากสาด ฯลฯ
๔. รู้จักรักษาอนามัยแม่และเด็ก และรู้จักวางแผนครอบครัวอย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้เด็กเกิดใหม่สมบูรณ์ และแข็งแรง
๕. เข้าใจ และรู้ประโยชน์ของการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันโรคให้แก่ร่างกายได้
๖. รู้จักวิธีป้องกัน และควบคุมโรคระบาดในท้องถิ่น โดยการใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ ไม่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในแหล่งน้ำที่ใช้ร่วมกัน ฯลฯ
๗. รู้วิธีรักษาพยาบาลที่จำเป็นเบื้องต้น
๘. รู้จักใช้ยารักษาโรคที่จำเป็นอย่างถูกต้อง และมียาดังกล่าวอยู่ในทุกหมู่บ้าน
๙. ดูแลรักษาสุขภาพของช่องปากและฟันอย่างถูกวิธี
๑๐. รู้จักรักษาสุขภาพจิตของตนเอง และครอบครัว
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงใยสุขภาพของประชาชน จึงทรงสอดส่องดูแล ความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะในชนบทห่างไกล โดยจัดให้มีหน่วยแพทย์พระราชทาน ออกไปรักษาประชาชนห่างไกลที่เจ็บป่วย ฝึกอบรมประชาชน ให้มีความรู้ความสามารถ ในการช่วยเหลือตนเอง และครอบครัว ตลอดจนชุมชนในด้านสุขภาพ จัดหาแหล่งน้ำ เพื่อให้มีน้ำสะอาดไว้ดื่ม และใช้ในงานเกษตร ส่งเสริมสนับสนุนให้เพาะปลูกพืชทดแทน และเลี้ยงโคนม เพื่อให้ประชาชนได้มีอาหารที่ดี