เมื่อไรควรงดออกกำลัง
อาหารเป็นของดีมีประโยชน์ แต่ในบางเวลาเรา ก็จำต้องงดอาหารเช่น เมื่อท้องเสีย เป็นต้น การออกกำลังกายก็เช่นเดียวกัน บางเวลาก็กลายเป็น "ของแสลง" ซึ่งจำต้องงดเสพ เวลาที่ควรงดออกกำลังมี ดังต่อไปนี้
๑. เมื่อรู้สึกไม่สบาย
เวลาที่รู้สึกเพลีย ไม่แข็งแรงเหมือนปกติ อาจต้องงดออกกำลังชั่วคราว อาการดังกล่าวอาจเป็นการบอกล่วงหน้าของโรคที่รุนแรง หากเสียกำลังไปในการบริหารกาย อาจลดความต้านทานของร่างกาย และช่วยให้โรครุนแรงขึ้น แต่อาการที่ว่านี้ ไม่ใช่ข้อห้ามเด็ดขาดทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ และร่างกายแข็งแรง เวลารู้สึกไม่สบายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ทำท่าจะเป็นหวัด หากออกกำลัง ให้เหงื่อออกเล็กน้อย อาจจะกลับเป็นปกติก็ได้ ทั้งนี้ เป็นเรื่องของบุคคล ความแข็งแรง และความเคยชิน ทางที่ปลอดภัยคือ งดไว้ก่อน
๒. เมื่อเป็นไข้
เมื่อมีไข้ชัดเจนควรงดออกกำลังทุกอย่าง เพราะตอนนี้ร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อโรค จำต้องรวบรวมกำลังทุกๆ ทาง เพื่อเอาชนะให้ได้ การออกกำลังในเวลาเป็นไข้มีอันตรายเป็นพิเศษ สำหรับผู้สูงอายุ และผู้ที่หัวใจไม่ค่อยปกติ เนื่องด้วยไข้ ทำให้หัวใจมีงานมากกว่าธรรมดาอยู่แล้ว หากออกกำลังเพิ่มภาระให้อีก หัวใจอาจล้มได้
๓. เมื่อมีอาการอักเสบ
หากมีอาการเจ็บ ปวด ขัดยอก หรือบวมแดงที่ข้อกระดูก หรือกล้ามเนื้อ แสดงถึงการอักเสบภายใน ซึ่งอาจเกิดจากการใช้งานมากไป ควรงดออกกำลังด้วยส่วนนั้นชั่วคราว เพื่อป้องกันการกำเริบมากขึ้น และเปิดโอกาสให้ส่วนนั้นๆ ฟื้นตัว
๔. เมื่อกระเพาะเต็ม
หลังจากกินอาหารอิ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อกินอาหารหนักและมาก ร่างกายอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสำหรับออกกำลังกาย เนื่องจากกระเพาะอาหาร และลำไส้แบ่งเลือดไปใช้ ทำให้การหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อบกพร่องไป กระเพาะอาหารที่เต็ม ขัดขวางการทำงานของกะบังลม และอาจทำให้เกิดอาการจุกเสียดได้ เมื่อกระเทือนจากการวิ่งหรือเคลื่อนไหวอย่างอื่นที่รุนแรง
๕. เมื่ออากาศร้อนอบอ้าว
เมื่ออากาศ ร้อนจัดและชื้น ทำให้มีความรู้สึกอบอ้าวอึดอัด สมรรถภาพของร่างกายลดต่ำลง โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และผู้ที่หัวใจไม่ค่อยแข็งแรง ไม่ควรออกกำลังหนัก หากไม่อยากจะงดเสียเลย ก็ควรออกกำลังประเภทที่เบาๆ หรือหนักเพียงปานกลาง เพื่อป้องกันอันตรายต่อหัวใจ
ข้อที่พึงจำอย่างหนึ่งคือ ไม่ควรออกกำลังหนัก ภายหลังที่กระเพาะอาหารได้ว่างมาเป็นเวลานาน เช่น ในเวลาตื่นนอนเช้า หากต้องการจะออกกำลังมาก เช่น วิ่งเหยาะระยะทางค่อนข้างไกล ควรรับประทานเครื่องดื่มเบาๆ หรืออาหารที่ย่อยง่ายเล็กน้อย เช่น น้ำหวาน ครึ่งหรือค่อนแก้ว หรือขนมผิงสองสามชิ้นกับน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันอาการอ่อนเพลียและวิงเวียน ซึ่งอาจเกิดขึ้นในบางคน
มีโรคบางอย่างที่ทำให้ออกกำลังอย่างคนทั่วไปไม่ได้หรือต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคปอดที่เป็นมาก และโรคความดันเลือดสูง ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้ก่อนตัดสินใจออกกำลังควรปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะแพทย์กีฬา