การตรวจสภาพจิตใจ
การที่แพทย์จะวินิจฉัยโรค และให้การรักษาผู้ ป่วยทางกาย หรือทางจิตได้นั้น แพทย์จะต้องตรวจผู้ป่วยเสียก่อน วิธีการตรวจจะมีหลักเกณฑ์ส่วนใหญ่ที่คล้ายคลึงกัน แต่การตรวจทางจิตเวชอาจมีข้อแตกต่างไปบ้าง วิธีการตรวจที่จำเป็นได้แก่
๑. การสัมภาษณ์ผู้ป่วย และญาติของผู้ป่วย โดยแยกสัมภาษณ์คนละครั้ง ทั้งนี้ เพื่อแพทย์จะได้ทราบประวัติส่วนตัว ประวัติครอบครัว ประวัติ ความเจ็บป่วย การเจริญเติบโต ภาวะแวดล้อมของ ครอบครัว การเรียน การทำงานชีวิตสมรส และอื่นๆ การสัมภาษณ์ในเรื่องทั่วๆ ไปนี้ นักสังคมสงเคราะห์ช่วยทำหน้าที่แทนแพทย์ได้ สำหรับปัญหาส่วนตัวที่จำเป็นอย่างอื่น ที่จิตแพทย์ต้องการทราบ จะสัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยตนเองได้อีก เพื่อแพทย์จะได้วินิจฉัยปัญหา และช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถูกต้อง
๒. การตรวจสภาพจิต กระทำโดยวิธีสัมภาษณ์ สังเกต ผู้ป่วยจะตอบสนองผู้สัมภาษณ์ด้วยวาจา ความนึกคิด อารมณ์ พฤติกรรม ซึ่งผู้ตรวจจะนำมาวิเคราะห์ และตัดสินว่า การตอบสนองทั้งหมดนั้น แสดงว่า ผู้ป่วยปรับตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติของสังคม และวัฒนธรรมของเขาหรือไม่ การสัมภาษณ์มีหลักเกณฑ์ทางจิตเวช และจำเป็นต้องอาศัยศิลปะจากการฝึกฝนอบรม โดยได้รับการช่วยเหลือ แก้ไข แนะนำ จากผู้เชี่ยวชาญมาก่อน หัวข้อหลักในการตรวจสภาพจิตประกอบด้วย การสังเกตรูปร่างท่าทาง และพฤติกรรมทั่วไป เช่น กระแสคำพูด อารมณ์ ความนึกคิด ความจำในอดีตและปัจจุบัน ความสนใจและสมาธิ ระดับเชาวน์ปัญญาและความรู้ทั่วไป ความรู้จักตนหรือ รู้สภาวะตนเอง การตัดสินใจ และแรงจูงใจ
ผู้ป่วยหรือญาติมักเข้าใจผิดว่า จิตแพทย์ไม่ได้ตรวจอะไรเลย ดูเสมือนเพียงแต่ "คุย" แท้จริงร่างกายเป็นสิ่งที่จับต้อง มองเห็น หรือฉายแสงดูได้ แต่จิตใจนั้น เป็นสิ่งที่จับต้อง และมองเห็นไม่ได้ เราจะรู้สภาพจิตใจของใครได้ ก็โดยการสังเกตพฤติกรรม และสัมภาษณ์ ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ของเขาเท่านั้น
๓. การตรวจร่างกายทั่วไป ตามระบบต่างๆ
๔. การตรวจพิเศษ ได้แก่ การตรวจเลือด ปัสสาวะ คลื่นสมอง การฉายแสง การทดสอบ ทางจิตวิทยา ซึ่งจะตรวจเป็นกรณีๆ ไป