หน้าที่ของอวัยวะส่วนต่างๆ ของหู
๑. ป้องกันการอักเสบและช่วยซ่อมแซม
ช่องหูชั้นนอก และแก้วหูบุด้วยผิวหนัง ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับผิวหนังทั่วร่างกาย จึงมีความต้านทานการติดเชื้อได้มาก เช่น น้ำที่มีเชื้อโรคเข้าหูชั้นนอกก็เกิดการอักเสบได้ยาก ผิวหนังบุช่องหูชั้นนอก และแก้วหูงอกได้เร็ว ดังนั้น แก้วหูที่ฉีกขาดจาดอุบัติเหตุจึงหายได้เอง โดยการงอกของผิวหนัง แก้วหูเปรียบเหมือนประตูหน้าบ้านของหูชั้นกลาง คอยป้องกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอม หรือเชื้อโรคเข้าหูชั้นกลาง ซึ่งทำให้เกิดโรคหูน้ำหนวก ผู้ที่แก้วหูทะลุเป็นรู จึงเป็นทางให้เชื้อโรคเข้า และเกิดโรคหูน้ำหนวกตลอดเวลา ไม่มีทางหายขาดนอกจากผ่าตัดซ่อมแซมปะแก้วหู
๒. น้ำเสียง
เสียงเข้าหูชั้นใน โดยผ่านช่องหูชั้นนอก แก้วหู และกระดูกหู ๓ ชิ้น เข้าหูชั้นใน ทางช่องรูปรี ไปที่อวัยวะรูปหอยโข่ง จากนี้ เส้นประสาทสมองที่ ๘ นำเสียงไปสู่สมอง ถ้ามีสิ่งหนึ่งสิ่งใดขวางทางเดินของเสียง เช่น ช่องหูตัน แก้วหูทะลุ กระดูกหูถูกยึดแน่น หรือขาดหายไป เสียงเข้าไม่ได้เต็มที่ จะเกิดอาการหูตึงแบบการนำเสียงเสีย (conductive hearing loss) อย่างไรก็ตาม แก้วหูไม่ได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการนำเสียงทั้งหมด เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น การที่แก้วหูทะลุเป็นรูโต จะมีอาการหูตึงไปบ้างเท่านั้น ไม่ใช่หูหนวก ดังที่เข้าใจกัน ในบางคนที่แก้วหูทะลุเป็นรูเล็กๆ ไม่มีอาการหูตึง หรือมี แต่เป็นอาการหูตึงน้อย หูตึงมาก หรือหูหนวกนั้น ขึ้นอยู่กับกระดูหูทั้ง ๓ ชิ้น โดยเฉพาะกระดูกโกลน มีความสำคัญที่สุด รวมทั้งสภาพของหูชั้นในด้วย
๓. รับฟังเสียงและควบคุมการทรงตัว
ถ้าอวัยวะรูปหอยโข่งเสีย หรือประสาทหูพิการ (เส้นประสาทสมองที่ ๘) จะทำให้เกิดอาการหูตึงแบบหูชั้นใน หรือประสาทหูเสีย (sensori-neural hearing loss) อวัยวะหลอดกึ่งวงไม่ได้ทำหน้าที่ตามปกติ การควบคุมการทรงตัวเสียไป เกิดอาการเวียนศีรษะ น้ำหล่อเลี้ยงอวัยวะรับเสียง และการทรงตัวในหูชั้นในติดต่อถึงกัน การเสียหน้าที่ของหูชั้นในจึงมักจะมีอาการได้ทั้ง ๒ อย่าง คือ หูตึง และเวียนศีรษะ ความผิดปกติของเส้นประสาทหู และข่ายการติดต่อในสมอง ทำให้เกิดอาการหูตึง หรือหูหนวก และเวียนศีรษะได้เช่นกัน