มีหลักฐานจากงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า การรับประทานอาหารที่มีไขมันไม่ได้เป็นสาเหตุทำให้น้ำหนักขึ้น งานวิจัยหนึ่งเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่รับประทานอาหารไขมันต่ำ คาร์โบไฮเดรตสูง กับผู้ที่รับประทานอาหารไขมันสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ พบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารไขมันต่ำ ไม่ได้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตรงกันข้าม ผู้ที่รับประทานอาหารไขมันสูง แต่คาร์โบไฮเดรตต่ำ กลับมีแนวโน้มที่น้ำหนักจะลดลง และสุขภาพดีขึ้น นั่นหมายความว่าคาร์โบไฮเดรตน่าจะมีผลต่อน้ำหนัก
คาร์โบไฮเดรต เช่น ข้าว แป้ง ขนมปัง น้ำตาล ที่เข้าสู่ร่างกายของเราจะถูกย่อยโดยระบบย่อย ซึ่งส่วนหนึ่งจะได้น้ำตาลกลูโคสออกมา และกลูโคสนี้เองที่เป็นสาเหตุของความอ้วน เนื่องจากกลูโคสจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เล็กเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้ระดับของกลูโคสในเลือดสูง ตับอ่อนจึงหลั่งอินซูลิน (Insulin) ออกมาเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป โดยการนำน้ำตาลจากเลือดไปไว้ในเซลล์แทนเพื่อกักเก็บไว้เป็นแหล่งพลังงาน และเมื่ออินซูลินถูกหลั่งออกมามากเข้า น้ำตาลจะถูกเก็บไว้ในเซลล์มากขึ้น จากนั้นมันจะเริ่มถูกเปลี่ยนเป็นไขมันเพื่อเก็บไว้เป็นพลังงานสำรอง ในขณะที่ระดับอินซูลินสูง ร่างกายจะไม่ใช้ไขมันที่มาจากแหล่งพลังงานที่ร่างกายสะสมไว้ แต่จะใช้กลูโคสในกระแสเลือดแทน และนี่คือที่มาของไขมันรอบเอว รวมถึงน้ำหนักที่เพิ่มขึ้น
ส่วนไขมันนั้นมีทั้งไขมันดีและไขมันเลว แม้ว่าไขมันเลวจะเป็นสาเหตุของอาการป่วยหลาย ๆ โรค เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน แต่สำหรับไขมันดีจากถั่ว ปลา น้ำมันมะกอก ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานของกล้ามเนื้อ เป็นส่วนประกอบในการสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นส่วนประกอบของสมอง และยังเป็นเกราะที่ห่อหุ้มรอบเส้นประสาท นอกจากนี้มันยังช่วยในการดูดซึมวิตามินและเกลือแร่จากอาหารด้วย ไขมันประเภทไขมันดีจึงดูจะเป็นประโยชน์กว่าการกินขนมหวานหรือน้ำตาลเข้าไปมาก ๆ เสียอีก