Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สมเด็จพระวันรัต ให้พรปีใหม่ 2561

Posted By มหัทธโน | 18 ธ.ค. 60
8,050 Views

  Favorite


พรปีใหม่ ๒๕๖๑
เจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต 
เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

ที่มา : เพจเช่นนั้นเอง

 

❖ สมเด็จพระวันรัต ให้พรปีใหม่ 2561 ❖

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2560 สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต) เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ประทานพรปีใหม่ พ.ศ.2561 ให้กับคนไทยทุกคน ความว่า
 

พรปีใหม่ 2561

ความจริง "พร" ทุกคนที่มีอยู่ ไม่ต้องไปขอใคร หรือถึงไปขอก็ให้กันไม่ได้

คำว่า "พร" นั้น มีความหมายว่า "ความดี"

"ความดี" นั้น ใครอยากได้ก็ต้องทำให้เกิดขึ้นเอง ขอกันไม่ได้
 

ถ้าขอกันได้ ก็ไม่ต้องทำอะไร นอนอยู่เฉยๆ แล้วไปขอความดีมาให้ตัวเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้

เครื่องมือที่เราจะใช้ทำ “ความดี” นั้น ธรรมชาติให้เรามาทุกคน คือ ร่างกาย การกระทำ วาจา คำพูด
 

จิตใจ หมายถึงความคิด

ปัญญา หมายถึงความสำนึกรู้ผิดถูก

สติ หมายถึงความคิดรู้บังคับ เหมือนกับหางเสือซึ่งมีกันอยู่ทุกคน

เราจะดีหรือไม่ดี ก็เกิดจาก ๓ อย่างที่กล่าวมานี้ เกิดจากกาย วาจา ใจ ของเรานี้

 

เราอยากได้ดี ก็ต้องคิดให้ดี ทำให้ดี พูดให้ดี ก็ได้ดี

"ความดี" ที่ได้นั้นก็คือ "พร" คือสิ่งประเสริฐที่เราทุกคนอยากได้

 

เพราะฉะนั้น ก็ขอให้เอาปัญญาที่เรามีอยู่แล้วมาคิด ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี แล้วใช้สติบังคับจิตใจให้คิดแต่เรื่องดี และบังคับกายให้พูดดี ให้ทำดี และทุกคนจะได้มี "พร" คือมี "ความดี" เกิดขึ้นตามปรารถนา

 

ปีใหม่นี้ก็ขอให้ "สติ" เป็นเครื่องทำคนให้เจริญ มีความสุขในชีวิตตลอดไป

สมเด็จพระวันรัต 
เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

 

ประวัติโดยย่อ สมเด็จพระวันรัต
 

สมเด็จพระวันรัต พระเถระที่หาได้ยากในยุคนี้

ภาระหน้าที่พิเศษ ยากที่จะหาผู้ใดทำหน้าที่นี้ได้ในยุคปัจจุบัน

สมเด็จพระวันรัต เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ปฏิบัติหน้าที่เจ้าคณะใหญ่ธรรมยุต กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นพระเถระที่หาได้ยากในกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะได้รับนิมนต์ให้ปฏิบัติหน้าที่พระเถระชั้นผู้ใหญ่ นั่งเสลี่ยงกลีบบัว (พระยานมาศพระนำ) และราชรถน้อย (รถพระนำ) อ่านพระอภิธรรมนำขบวนพระอิสริยยศ ในการเคลื่อนพระศพ หลายครั้งด้วยกัน ทั้ง ๆ ที่หน้าที่นี้เป็นของสมเด็จพระสังฆราช
 

ภาพ : Posttoday.com สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/dhamma/522371 เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 60

 

ล่าสุด รับนิมนต์นั่งเสลี่ยงกลีบบัว อ่านพระอภิธรรมนำพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท สู่พระเมรุมาศ ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2560
 

การได้รับเกียรติที่หาได้ยาก มิใช่ครั้งแรก หากแต่ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่คล้ายคลึงกันนี้หลายครั้งในอดีต เช่น พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ วันที่ 15 พ.ย. 2551 ขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมมุนี
 

พระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี วันที่ 9 เม.ย. 2555 ซึ่งดำรงสมณศักดิ์ที่สมเด็จพระวันรัต
 

ถ้าย้อนไป เมื่อ พ.ศ. 2516 ขณะที่ยังเป็นพระมหาจุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.9 ได้นั่งเสลี่ยงอ่านพระอภิธรรมเวียนพระเมรุ 3 รอบ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเหมวดี (ประสูติวันที่ 12 ม.ค. 2435-สิ้นพระชนม์วันที่ 17 ต.ค. 2515) ซึ่งทรงเป็นผู้อุปัฏฐากในคราวอุปสมบทพระมหาจุนท์ วันที่ 8 ก.ค. 2499
 

หากดู พ.ศ.ที่อุปสมบท คือ 2499 ท่านจัดว่าเป็นพระนวกะร่วมสมัยกับพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงผนวชวันที่ 22 ต.ค. 2499 และประทับที่วัดบวรนิเวศวิหาร จนกระทั่งทรงลาผนวชวันที่ 5 พ.ย. 2499

 

ภาพ : เว็บไซต์ tsood.com

 

ยิ่งกว่านั้น เมื่อดำรงสมณศักดิ์ที่พระอมรโมลี ยังได้เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรเรื่องพระธรรมวินัย แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหา วชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร ที่ทรงผนวชเมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2521 ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาผวชในวันที่ 20 พ.ย. 2521
 

สมเด็จพระวันรัต เป็นพระเถระที่มีจริยาวัตรงดงาม สังวรในพระวินัย เป็นสังฆโสภณ เป็นที่ภาคภูมิใจของผู้ที่สอบประโยค ป.ธ.9 ได้ในรุ่นเดียวกัน ใน พ.ศ. 2515 ซึ่งมีทั้งหมด 16 รูป เป็นรุ่นที่อัศจรรย์ เพราะถึงวันนี้เป็นสมเด็จพระราชคณะ 2 รูป นอกจากสมเด็จพระวันรัต ก็ได้แก่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ส่วนที่เป็นเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ได้แก้ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี) ราชบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม หรือท่านที่ผู้ยังไม่ได้เป็นเจ้าคุณ ก็เป็นเจ้าคุณได้ด้วยบารมีของท่าน เช่น พระมหาจำนงค์ วรวฑฺฒโน ป.ธ.9 เจ้าอาวาสวัดพังม่วง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นเจ้าคุณล่าสุดในรุ่นนี้ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2557

จึงสรุปได้ว่า ประโยค 9 รุ่น พ.ศ. 2515 หากไม่ลาสิกขา ก็รุ่งเรืองในสมณเพศจนได้เป็นเจ้าคุณทุกรูป
 

ด้านจริยาวัตร

หนังสือรวมประวัติสมเด็จพระวันรัตแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เขียนถึงจริยาวัตรว่า เจ้าประคุณสมเด็จฯ มีอัธยาศัยเงียบขรึม พูดน้อยแต่เสียงดัง ตรงไปตรงมา

ฉะนั้นผู้ที่ไม่เคยรู้จักคุ้นเคยอาจรู้สึกว่าเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นคนดุ ด้วยอัธยาศัยดังกล่าว เมื่อทำสิ่งใดจึงเอาจริงเอาจังและละเอียดถี่ถ้วนเพื่อความเรียบร้อยของงานนั้น เพราะได้รับการอบรมจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ นับแต่เป็นสามเณร จนกระทั่งอุปสมบทได้รับการศึกษาอบรมอยู่ในสำนักของพระอุปัชฌาย์อาจารย์ ผู้ทรงธรรมทรงวินัยมาโดยตลอด นับว่าเป็นผู้โชคดีและเจริญดีดุจมีพรหมรักษา สมดังสมณฉายาว่า "พฺรหฺมคุตฺโต" และผู้เป็นเช่นนี้ในทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า "ผู้เจริญในสำนักอาจารย์" อันมีความหมายว่า เป็นผู้ได้รับการศึกษาอบรมมาอย่างดีจากครูบาอาจารย์ที่ดี หรือที่สำนวนไทยเรียกว่า "ศิษย์มีครู"
 

ประวัติเดิม

สมเด็จพระวันรัต มีนามเดิมว่า จุนท์ พราหมณ์พิทักษ์ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 ก.ย. 2479 ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 ปีชวด ณ บ้านเกาะเกตุ ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด โยมบิดา-มารดา ชื่อ จันทร์และเหล็ย พราหมณ์พิทักษ์ ท่านสำเร็จการศึกษา ชั้นประถมปีที่ 4 จากโรงเรียนวัดคิรีวิหาร ต.ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด จากนั้นได้เข้าพิธีบรรพชาเมื่อ วันพุธที่ 12 พ.ค. 2491ณ วัดคิรีวิหาร ต. ชำราก อ.เมืองตราด จ.ตราด โดยมีพระวินัยบัณฑิตเป็นพระอุปัชฌาย์

กระทั่งอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันอาทิตย์ที่ 8 ก.ค. 2499 ณ พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระวินัยบัณฑิต (ถาวร ฐานุตฺตโร) วัดคิรีวิหาร จ.ตราด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิสุทธิธรรมภาณ (แจ่ม ธมฺมสาโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้ เปรียญธรรม 9 ประโยค จากสำนักเรียนวัดบวรนิเวศวิหาร
 

ส่วนภาระหน้าที่พิเศษ ยากที่จะหาผู้ใดทำหน้าที่นี้ได้ในยุคปัจจุบัน คือ การที่ได้รับมอบหมายจากมหาเถรสมาคมเป็นผู้ตรวจสอบการคำนวณปฏิทินหลวง (ปฏิทินจันทรคติไทย)และให้ความเห็นก่อนที่จะประกาศใช้ในแต่ละปี นอกจากนี้ยังเดินหมุดและคำนวณปฏิทินปักขคณนาสำหรับวันลงอุโบสถให้กับคณะสงฆ์ธรรมยุตด้วย
 

ท่านดำรงตำแหน่งสำคัญด้านการศึกษา เช่น เคยดำรงตำแหน่งเป็นแม่กองธรรมสนามหลวง มาเป็นเวลายาวนาน ด้านการปกครอง เช่น เป็นพระอุปัชฌาย์ กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร และวัดตรีทศเทพวรวิหาร

 

ท่านนับว่าเป็นพระมหาเถระที่หาได้ยากในยุคนี้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow