Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

Posted By Plookpedia | 18 ธ.ค. 59
13,965 Views

  Favorite

เมื่อเด็กๆ ออกมายืนอยู่นอกบ้านในยามเช้าตรู่ และมองไปรอบๆ ตัว เราได้เห็นต้นไม้สีเขียว และดอกไม้บางสะพรั่งสีสดสวย และกลิ่นหอมชวนชื่นใจ

 

สายลมพัดเย็นสบาย อากาศบริสุทธิ์ ได้ยินเสียงนกเล็กๆ ร้องจิ๊บๆ น่าฟัง ถัดจากตัวบ้านมีลำธารไม่ใหญ่นัก น้ำใสสะอาดไหลรินๆ ผ่านกรวดหิน รูปร่างน่าดู ตรงแอ่งน้ำมีปลา หลายชนิด แหวกว่ายลัดเลาะไปตามกอหญ้า ลูกชมพู่สีแดงแปร๊ดหล่นจากต้น ลอยมาตามสายน้ำ น่าเก็บมาเล่นขายของ คงจะสนุกไม่น้อย


    ต้นไม้ ดอกไม้ สายลม อากาศ ก้อนหิน ลำธาร สัตว์ ผลไม้ และพื้นดิน ล้วนเป็นธรรมชาติที่อยู่แวดล้อมตัวเราซึ่งเราเรียกว่า "สิ่งแวดล้อม"
ธรรมชาติที่แวดล้อมตัวเราล้วนมีความงาม และมีความสำคัญต่อชีวิตของเรา ช่วยให้เราเติบโต แข็งแรง และมีความสุข เราจึงรักธรรมชาติ เราไม่ทำลายธรรมชาติที่แวดล้อมตัวเรา

ถ้าเด็กๆ เดินออกไปนอกบ้านในเช้าวันหนึ่ง และมองไปรอบๆ ตัว

เราได้เห็นตึกแถวสูงเด่น มีลูกกรงเหล็กกั้นหน้าต่างทุกบาน เพราะกลัวโจรปล้น ปล่องไฟจากโรงงานทำเส้นก๋วยเตี๋ยวพ่นควันโขมง จนแลเห็นหลังคาตึกรางๆ ข้างตึกแถวมีคูน้ำสีดำสกปรก และริมคูมีกองขยะส่งกลิ่นเน่า เหม็นตลบอบอวล แมลงวันบินว่อน ตอมซากหนูตายที่ชาวบ้านเอามาทิ้งไว้ และบินเลยเข้ามาตอมอาหารในห้องครัวชั้นล่าง

หน้าตึกแถวเป็นซอยแยกจากถนนใหญ่ มีรถสามล้อเครื่องจอดคอยรับคนโดยสารอยู่หลายคัน ทุกครั้งที่คนขับติดเครื่องยนต์ จะมีเสียงดังกึกก้อง เหมือนเสียงปืนหลายนัด และมีควันปล่อยออกมาจากท่อไอเสีย เหม็นคลุ้งจนหายใจไม่ออก


ร้านขนมร้านหนึ่งขายขนมประเภทลูกกวาด ลูกอมสีแดงสด และขนมปังเก่าๆ ขึ้นรา เด็กๆ ซื้อไปกินเล่น แล้วทิ้งถุงพลาสติกไว้เกลื่อนทางเท้า    
เมื่อลมพัดก็ปลิวว่อนไปพร้อมกับฝุ่นละอองจากกองทราย

สภาพเหล่านี้ก็เป็นสิ่งแวดล้อมของเราเช่นกัน แต่เป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษภัย และเป็นธรรมชาติแวดล้อมที่ถูกทำลาย โดยมือมนุษย์
  

 เมื่อมนุษย์ทำลายสิ่งแวดล้อมที่ดี และสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นภัย
สิ่งแวดล้อมที่เป็นภัยก็ทำลายมนุษย์ด้วย

เราจึงควรบำรุงรักษาสภาพแวดล้อมให้มีความงาม และความบริสุทธิ์สะอาดตามธรรมชาติ หลีกเลี่ยงสิ่งที่มีพิษมีภัย เพื่อว่า เราจะได้มีความสุข และมีสุขภาพดี

 

 

เราอาจจำแนกสิ่งแวดล้อมออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้นมา

สิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ ได้แก่ สภาวะตามธรรมชาติต่างๆ ที่มนุษย์เราต้องเกี่ยวข้อง หรือสัมผัสด้วยทั้งทางตรง และทางอ้อม ซึ่งมนุษย์เราก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ
สภาวะของธรรมชาตินั้น เป็นสภาวะ ที่มีความเกี่ยวพันกันอย่างซับซ้อน มีความสัมพันธ์กันอยู่ตลอดเวลา หากส่วนหนึ่งส่วนใดของความเกี่ยวพัน ได้รับการกระทบกระเทือน สภาพตามธรรมชาติเดิม ก็จะได้รับการกระทบกระเทือนตามไปด้วย ไม่ว่าการกระทบกระเทือนนั้น จะเนื่องจากการเปลี่ยนแปลง ที่เป็นไปตามธรรมชาติ หรือที่เกิดขึ้น เพราะมนุษย์    

สวนสาธารณะ


การเปลี่ยนแปลงนี้ บางครั้งมีผลกระทบกระเทือนต่อสภาวะความเป็นอยู่ของมนุษย์ โดยทางตรง หรือทางอ้อม หรืออาจไม่มีผลกระทบเลยก็ได้ สิ่งที่เราจะต้องสนใจคือ การเปลี่ยนแปลง ที่มีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์

ตัวอย่างเช่น วัฎจักรของน้ำ จะเห็นได้ว่า มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างมากมาย หลักการง่ายๆ คือ น้ำระเหยเป็นไอ กลายเป็นเมฆ ตกลงมาเป็นฝน ขังอยู่ตามแอ่งน้ำ การที่จะเกิดวัฎจักรเช่นนี้ได้อย่างสมบูรณ์ จะต้องมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่างๆ อีกหลายประการ เป็นต้นว่า ป่าไม้ นอกเหนือจากการเป็นตัวการดูดซับน้ำไว้ และค่อยๆ ปล่อยออกมาตามลำธารสู่ห้วย หนอง คลอง บึง และไหลมาตามแม่น้ำให้ได้ใช้ประโยชน์กันแล้ว ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดฝนได้ พืชในป่าจะคายน้ำสู่บรรยากาศทางใบ ทำให้บริเวณนั้นมีปริมาณไอน้ำในอากาศสูง สามารถจะเป็นตัวการทำให้เกิดการชักนำให้ เกิดเมฆฝนขึ้นได้ หากปราศจากปริมาณไอน้ำในอากาศที่พอเพียง เพราะป่าไม้ถูกทำลายไป หรือเปลี่ยนไปเป็นท้องที่เพื่อกิจกรรมอื่นๆ เมฆฝนจะเกิดได้ยาก ดังนั้น จึงจำเป็นมากที่จะต้องรักษาป่าที่เป็นต้นน้ำลำธารเอาไว้ มิฉะนั้นแล้ว บริเวณดังกล่าวจะมีฝนน้อยกว่าปกติ ผลของความแห้งแล้งนี้ จะไม่ได้อยู่เฉพาะในบริเวณนี้เท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบไปถึงผู้ที่เคยใช้น้ำที่มีกำเนิดมาจากบริเวณต้นน้ำนี้ด้วย เช่น การที่ป่าไม้ทางภาคเหนือถูกทำลายไปมาก มีผลกระทบต่อชาวนาในที่ราบภาคกลาง เป็นต้น

แผนภาพแสดงวัฎจักรของน้ำ


บางครั้งสภาวะตามธรรมชาติที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของเราโดยตรง ก็ถูกเปลี่ยนแปลงไป เช่น อากาศที่เราหายใจได้เสื่อมเสียไป เพราะมีสารมลพิษต่างๆ มาเจือปน ทำให้มีสภาพเป็นพิษขึ้น

โรงงานปล่อยควันเป็นพิษในอากาศ

   สารมลพิษที่มาเจือปนในอากาศแต่ละแห่ง จะแตกต่างกันออกไป หากเป็นกรณีอากาศเสีย เนื่องมาจากการเผาหญ้า สิ่งที่มาเจือปนได้แก่ ควันและเถ้าถ่านต่างๆ หากเผาเล็กน้อย ก็ไม่ทำให้เกิดปัญหาอะไรนัก แต่ถ้าเผามากๆ และลมพัดไปในทิศทาง ที่มีคนอาศัยอยู่ ก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ เช่น การสำลักควัน เป็นต้น ถ้ามีมากๆ เข้า ก็ทำให้ถึงกับทนอยู่ในบริเวณนั้นไม่ได้ เพราะนอกจากอากาศไม่ดี ทำให้หายใจไม่ออกแล้ว ยังทำให้เกิดการแสบระคายเคืองตาได้ กรณีที่ร้ายแรงตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ การเผาซังข้าวริมถนน ควันจะปกคลุมถนนเต็มไปหมด ผู้ขับยานพาหนะผ่านไปมา ไม่สามารถมองเห็นถนน และรถที่แล่นสวนมากได้ จึงเกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอๆ
หากเป็นกรณีของสภาวะอากาศในย่านชุมชน ปัญหามลพิษของอากาศจะเกิดจากยานพาหนะเป็นส่วนใหญ่ สารมลพิษที่ปะปนในอากาศ จะเนื่องมาจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ใช้ในยานพาหนะนั้นๆ ซึ่งจะมีก๊าซต่างๆ หลายชนิด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตลอดไปจนถึงพวกคาร์บอน และยางเหนียวที่ออกมาหลังการเผาไหม้ด้วย บรรดาก๊าซเหล่านี้มีพิษมีภัยต่อสุขภาพของคนเราแตกต่างกันไป เช่น คาร์บอนมอนอกไซด์ เมื่อเราหายใจเข้าไปจับกับเม็ดเลือดแดงได้มากกว่าออกซิเจน ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยกว่าปกติ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมื่อถูกกับน้ำจะกลายสภาพเป็นกรด สามารถกัดเยื่อบุทางเดินของลมหายใจตลอดจนผนังปอดได้ เมื่อสูดดมบ่อยๆ ทำให้เกิดเจ็บป่วยได้ ยางเหนียวประกอบด้วยสารเคมีบางตัว ที่อาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้เช่นเดียวกัน

ในบางกรณี ภาวะมลพิษของอากาศจะมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปล่อยสารมลพิษต่างๆ ออกมาจากปล่องของโรงงาน ที่เห็นได้ชัดเจนคือ เขม่าควันที่ออกเป็นควันดำ ทำให้เกิดความสกปรก และเป็นปัญหาต่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีควันที่ปล่อยจากปล่องโรงงานที่อาจจะดูเหมือนไม่มีพิษมีภัยเท่าไร เช่น ควันขาวๆ เหลืองๆ หรือมองไม่เห็น แต่ควันดังกล่าวนี้ อาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายปะปนออกมาได้ อาทิ ควันจากการใช้น้ำประสานทอง ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนมาก บางครั้งสารมลพิษในอากาศเหล่านี้ อาจมีพวกโลหะหนัก ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมากปะปนอยู่ เช่น ไอของปรอท ตะกั่ว แคดเมียม แมงกานีส เป็นต้น ผู้ที่อยู่ในทิศทางใต้ลมจะได้รับไอของสารมลพิษเหล่านี้ สะสมในร่างกายบ่อยๆ เข้า จนในที่สุดจะเกิดเป็นอันตรายต่อสุขภาพขึ้นมาได้ เช่น เกิดเป็นโรคมินามาตะ ซึ่งเป็นโรคจากการได้รับปรอท เข้าไปในร่างกายมากเกินไป ทำให้เกิดปัญหาในการควบคุมระบบประสาทต่างๆ ผู้ป่วยจะมองเห็นได้เฉพาะสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ตามปกติ ในที่สุดก็ไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ และอาจเป็นอันตรายถึงตายได้ ในเมืองไทยยังไม่ปรากฎว่า ผู้ป่วยด้วยโรคพิษจากปรอทอย่างรุนแรง แต่มีตัวอย่างที่เกิดในหลายๆ ประเทศแล้ว เช่น ในประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
สารมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเหล่านี้ มิใช่มีแต่เฉพาะในอากาศ ในน้ำทิ้ง จากโรงงานอุตสาหกรรมบางแห่ง แม้ดูว่า ใสๆ ดี แต่อาจจะมีสารมลพิษที่เป็นอันตรายมาก ปะปนอยู่ก็ได้ อาจมีตะกั่ว ปรอท แคดเมียม พีซีบี เป็นต้น ออกมากับน้ำเสีย แล้วลงสะสมในแหล่งน้ำ ต่อไปก็จะเข้าไปสะสมในสาหร่าย ในพืชผัก แล้วไปสู่ปลาได้ หากสะสมมากๆ เข้า ผู้คนที่บริโภคผักหรือปลา จากแหล่งน้ำนั้น ก็จะได้รับอันตราย ซึ่งอาจเป็นอันตราย ที่ร้ายแรง    

ขยะมูลฝอยที่ทิ้งลงในแหล่งน้ำ ทำให้เกิดภาวะมลพิษในแหล่งน้ำ


ภาวะมลพิษทางน้ำอาจเกิดจากการทิ้งขยะมูลผอย หรือน้ำทิ้งจากบ้านเรือนก็ได้ ทำให้เกิดการหมักหมม เน่าเสีย เป็นทางแพร่เชื้อโรค ตลอดจนเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายแหล่งน้ำ อันอาจจะใช้ประโยชน์ เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ หรือมิฉะนั้นกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการเน่าเสียนั้น หากต้องสูดดมเป็นประจำก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นเดียวกัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow